กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สมาคมสายใยครอบครัว
จากการสัมภาษณ์ทีมวิทยากรและผู้เข้าบรมรวมจำนวน 6 ท่าน ในประเด็นของแรงจูงใจการจัดทำหลักสูตร กิจกรรมการอบรม ผลที่เกิดขึ้นและแนวทางการดำเนินงานต่อไป สรุปได้ดังนี้
จุดเริ่มต้น
เจ้าสัวน้อยเป็นหลักสูตรการอบรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เกิดจากความริเริ่มของกลุ่มญาติผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมสายใยครอบครัว ได้คิดถึงอนาคตของผู้ป่วยว่าจะพัฒนาผู้ป่วยอย่างไรให้ถึงจุดที่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ มีความสามารถในการดำรงชีวิต มีทักษะต่างๆ และมีความมั่นใจในตัวเอง เพื่อที่ว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้าผู้ป่วยไม่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องคอยดูแลผู้ป่วยจะได้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวเอง
ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง โดยมีประสบการณ์และความรู้เรื่องธรรมชาติของผู้ป่วยเป็นพื้นฐานผนวกกับความพยายามที่จะเสาะแสวงหาหนทางในการพัฒนาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น กลุ่มญาติผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงได้จัดทำหลักสูตรเจ้าสัวน้อยขึ้น
ปรัชญาของการพัฒนาเจ้าสัวน้อยคือพุทธวิธี
กลุ่มญาติผู้ป่วยเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ ถึงแม้บุคคลนั้นจะไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเหมือนคนอื่นๆ แต่ธรรมชาติก็จะมีวิธีการที่จะให้บุคคลนั้นสามารถพัฒนาสิ่งอื่นขึ้นมานทดแทนได้
เพราะมนุษย์ทุกคนมีกิเลส มีความรู้สึก ความคิด ความต้องการ ซึ่งกิเลสหลายๆ อย่างทำให้เราแย่ลง แต่หากรู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น เราก็สามารถที่จะควบคุมและจัดการได้ ด้วยแนวทางเดียวกันนี้เอง คนที่ไม่ครบถ้วนไม่สมบูรณ์ หากรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเอง ก็ย่อมที่จะสามารถดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้
ทำไมต้องมีหลักสูตรเจ้าสัวน้อย
สภาพปัญหาที่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำหลักสูตรหลักสูตรเจ้าสัวนน้อยคือ
ภายหลังที่ผู้ป่วยผ่านกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพครบถ้วนแล้ว ก็ยังพบว่ามีจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ผู้ป่วยขาดทักษะการดำเนินชีวิตประจำวัน ขาดความมีวินัยในตัวเอง ไม่ค่อยรับผิดชอบงานที่ทำ ขี้เกียจ นึกถึงตัวเองเป็นหลักไม่ค่อยได้คำนึงถึงความต้องการความรู้สึกของคนอื่น ไม่ค่อยอดทนทำงานได้ไม่ค่อยนานก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น และมีความคิดเชิงลบ เกิดจากบางอย่างเป็นผลข้างเคียงของยา บางอย่างเป็นเพราะป่วยมานานทำให้ไม่ลุกขึ้นมาสู้
สิ่งเหล่านี้จึงทำให้กลุ่มญาติผู้ป่วยซึ่งได้กลายมาเป็นทีมวิทยากรจำเป็น เนื่องจากขาดผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ลงมือทำ ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายโครงร่างหลักสูตรเจ้าสัวน้อย
เป้าหมายการอบรม
เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง พึ่งตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ที่ผ่านการประเมินจากนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลศรีญญา เรื่องการดูแลตัวเองได้ในระดับ 4
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม กิจกรรมการสอน
1. ด้านควบคุมความคิด อารมณ์ให้สงบนิ่งได้ - การฝึกสติ โดยใช้ดนตรี การทำโยคะ
2. ด้านการดูแลร่างกายให้แข็งแรง - ออกกำลังกาย เล่นกีฬากลางแจ้ง
3. ด้านความมั่นใจในตัวเอง มีบุคลิกภาพที่ดี - ฝึกการอ่านหน้าชั้น สรุปความ เล่าเรื่อง สรุปบทเรียนจากสื่อภาพยนต์
4.ด้านทักษะชีวิต แก้ปัญหาได้ คิดทางบวกได้ - กิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุป
- รักษาสัมพันธภาพกับเพื่อน
- การปฏิบัติจริงด้านการอาชีพและการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง (เข้าค่าย)
โครงสร้างและหลักสูตร
การอบรมแต่ละสัปดาห์วิทยากรจะจัดกิจกรรมให้ครบ 4 ด้านคือ
โดยวิทยากรหรือกลุ่มญาติผู้ป่วย ( คุณเอื้อง คุณดำ คุณลาภ คุณสกล คุณอภิชาติ ...) ต่างแบ่งหน้าที่รับผิดชอบคนละด้าน คิดกิจกรรมมาทำในชั่วโมงเพื่อให้ผู้ป่วยได้พัฒนาตนเอง
ระยะเวลา
เพื่อให้มีการฝึกปฏิบัติและเกิดทักษะจึงใช้เวลา 6 เดือน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 ชม 30 นาที — 3 ชม. รวม 144 ชั่วโมง ทั้งนี้ระยะแรกใช้เวลาการอบรมสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง แต่ไม่เพียงพอจึงเพิ่มเวลาเป็นสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง
กิจกรรม
ตัวอย่างกิจกรรม
1. การฝึกสติ เพื่อควบคุมอารมณ์ ความคิดให้สงบนิ่ง ควบคุมร่างกายได้ ใช้เวลา 30 นาที วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้จักรวบรวมสมาธิ ฝึกการมีสติรู้ตัวว่าตัวเองทำอะไร คิดอะไร โดยใช้เพลง ขลุ่ยธิเบต (ติดต่อเพื่อนให้ทำเพลงให้เป็นการเป่าขลุ่ยทำนองธิเบต โดยขลุ่ยทำจากท่อประปา) เพลงมีความสงบนิ่ง ช่วยดึงอารมณ์ของผู้เรียนให้จดจ่ออยู่กับเสียงเพลงได้ นอกจากนี้ยังใช้การฝึกทำเสียงด้วยนิ้วจากแก้วไวน์ที่ใส่น้ำ โยคะ และสมาธิเคลื่อนไหวมาช่วยฝึกสติและการควบคุมตนเองของผู้เรียนด้วย
2. การออกกำลังกาย ได้แก่การเล่นกีฬาต่างๆ เช่น แชร์บอล บาสเก็ตบอล เป็นกีฬากลางแจ้ง
3. การสร้างความมั่นใจในตัวเอง การมีบุคลิกภาพที่ดี
- ฝึกการอ่านหนังสือหน้าชั้น โดยยืนอ่านหน้าชั้น อ่านออกเสียงให้ถูกต้อง มีจังหวะเว้นวรรค เพื่อฝึกความกล้าแสดงออก และสร้างความมั่นใจ
- เล่าประวัติของตัวเอง การสื่อสารให้เข้าใจกัน สรุปความ/ข้อคิดจากหนังสือ หรือภาพยนต์ว่าให้แง่คิดอะไรบ้าง
- ฝึกเขียน จากการอ่านจับใจความ และเขียนเป็นข้อเขียน เรียงความ
4. ทักษะชีวิต
- จัดกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การฝึกการแก้ไขปัญหา รู้จักอดทนเมื่อถูกดุถูกต่อว่า รู้จักแก้ไขปัญหาตามความสามารถของแต่ละคน
- การคิดเชิงบวก เช่น Juggling (ของเล่นวัยรุ่นที่ต้องอาศัยสมาธิและการแก้ปัญหา)กิจกรรมการตั้งไข่ ให้อุปกรณ์คือ ไข่ไก่สด 1 ฟอง ไม้จิ้มฟัน 2 อัน เส้นด้าย และเกลือ ให้ผู้เรียนตั้งไข่ให้ได้ ผู้เรียนต้องหาทางแก้ไขปัญหาจากอุปกรณ์ที่มีโดยไม่ให้ไข่แตก หรือให้พับเสื้อไม่ไห้ซ้ำแบบกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกคิดนอกกรอบเมื่อพบปัญหา แทนที่จะคิดอย่างเดิม ก็ให้มองมุมที่แตกต่างจากเดิม ๆ และยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย
- ทัศนศึกษา เช่น ย่ำดิน เก็บขยะ(ทำความดี) ได้พูดคุยกับผู้พิการที่วัดพระมหาไถ่พัทยา ทำให้มีกำลังใจว่าคนอื่นอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ ดำน้ำที่แสมสารสัตหีบ เป็นต้น
- พูดคุยกับคนที่สร้างพลังใจ เช่น คุณโสภณ (รายการคุณไปไหน ผมไปด้วย) คุณศิริวัฒน์ แซนด์วิช เป็นต้น
- ฝึกปฏิบัติขายของ เป็นการทำงานเป็นทีม เพื่อให้รู้จักวางแผน แบ่งหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า บริหารธุรกิจ โดยมีการซักซ้อมกันก่อนและมีวิทยากรเป็นพี่เลี้ยง
- การตั้งแคมป์ เป็นการทำงานเป็นทีม แก้ไขปัญหาเพื่อดำเนินชีวิตได้ในสถานการณ์ที่มีปัญหาข้อขัดข้อง ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่ได้รับการดูแลอย่างดีจากครอบครัว ทำให้ไม่มีความรู้เรื่องการพึ่งตัวเองเพื่อการดำเนินชีวิต วิทยากรจึงร่วมกันคิดหาทางให้ผู้เรียนได้เผชิยกับสถานการณ์ที่ไม่เคยทำมาก่อน ผู้เรียนจะต้องเตรียมตัวเพื่อไปตั้งแคมป์ในป่า 2 วัน 1 คืน มีเงิน 500 บาท เพื่อซื้อของสดมาทำอาหารเองและให้ทีมวิทยากรรับประทานด้วย
ทั้งนี้การอบรมกำหนดให้รุ่นพี่มาดูแลรุ่นน้องในการอบรมรุ่นต่อไปด้วย
การสนับสนุนด้านงบประมาณ
ส่วนหนึ่งได้จากการออกหุ้นหรือการทำบุญเพื่อการอบรมเจ้าสัวน้อย ส่วนหนึ่งจากวิทยากร และได้รับการสนับสนุนจากสมาคม ฯ ด้วย
การประเมินผล
- ประเมินผลกิจกรรม เป็นการพูดคุยทบทวนสอบถามข้อมูลจากผู้เข้าอบรม และการให้ข้อเสนอแนะของทีมวิทยากรระหว่างการอบรม
- ประเมินผลเมื่อสิ้นสุดหลักสูตรอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้มีการปรับเวลาการอบรมจากสัปดาห์ละ 3 ชม. เป็นสัปดาห์ละ 6 ชม.
ผลที่ได้รับจากการอบรม
- ผลการอบรมเชิงปริมาณมีผู้ผ่านการอบรม 2 รุ่น และกำลังรับสมัครรุ่นที่ 3
- รูปธรรมความสำเร็จ มีผู้ผ่านการอบรม 1 คน ซึ่งมีงานทำแล้ว
ข้อค้นพบจากการอบรมหลักสูตรเจ้าสัวของวิทยากร
ด้านหลักสูตรและการอบรม
- พบว่าความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และการเสียสละของทีมงานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้หลักสูตรการอบรมนี้ผ่านมาได้ถึง 2 รุ่นและกำลังจะจัดการอบรมรุ่นที่ 3 นอกจากนั้นต้องมีการหาเงินทุนเพื่อมาใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม เช่น การออกหุ้น เพราะการอบรมและกิจกรรมบางอย่างต้องอาศัยเงินทุนมาใช้จ่าย
- การตั้งเป้าหมายการอบรม ในช่วงแรกตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ผู้เรียนมีอาชีพ มีงานทำ พึ่งตัวเองได้ แต่พบว่าเป็นเรื่องที่ยาก ต้องปรับเป้าหมายเพียงว่าให้ผู้เข้าอบรมร่วมกิจกรรม มีโอกาสได้ทำ ทำได้ ยิ้มได้ก็พอใจแล้ว จากกิจกรรมการฝึกปฏิบัติจัดทีมให้ผู้เข้าอบรมขายลูกชิ้นปิ้ง โดยลงทุนให้ 1,500 บาท วิทยากรให้คำปรึกษาเรื่องการตลาด วางแผนการขาย และให้ทีมผู้เข้าอบรมได้แบ่งหน้าที่กันปฏิบัติ พบว่าต้องมีญาติผู้เข้าอบรมมาเป็นผู้ดูแลจึงจะทำได้ดี การจะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ อาจต้องอาศัยนักวิชาชีพช่วยให้ข้อเสนอเรื่องหลักสูตรการอบรม และการฝึกทักษะต่างๆ แก่ผู้เรียน
- โครงสร้างหลักสูตรที่กำหนดไว้ 4 เรื่อง เป็นเรื่องที่ดีต่อผู้เข้าอบรม เหมาะกับผู้เข้ารับการอบรมแต่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้คุณลักษณะที่คาดหวังไม่เกิดกับผู้เข้าอบรมมากเท่าที่ควร เช่น การออกกำลังกายผู้เข้าอบรมสามารถทำได้แต่ต้องมีคนนำให้ทำ ทำแล้วสังเกตว่าผู้เข้าอบรมแจ่มใสทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้เข้าอบรมทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอได้ เพราะมีเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- พบว่าการให้ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง เป็นกิจกรรมที่ทำให้เห็นศักยภาพของผู้เข้าอบรมได้ดีและวิทยากรเข้าใจถึงอาการข้างเคียงต่างๆ ที่อาจทำให้กิจกรรมนั้นไม่สำเร็จตามเป้าหมายเท่าที่มุ่งหวัง พบว่ากิจกรรมการขายลูกชิ้นเป็นกิจกรรมแบบฝึกหัดที่ดี
-วิทยากรตั้งใจว่าจะเน้นหลักสูตรนี้ไปที่กลุ่มวัยรุ่น วันทำงาน เพราะพวกเขายังเหลือเวลาที่ต้องพึ่งตัวเองอีกมาก แต่กลับพบว่าผู้เข้าอบรมที่อายุมากก็ต้องการกิจกรรมนี้เช่นกัน เพราะไม่มีคนดูแล และหากปล่อยไว้ก็อาจเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจเพิ่มขึ้นได้ และพบว่ากลุ่มสูงอายุมีความมุ่งมั่นตั้งใจสูง
ด้านผู้เข้ารับการอบรม
-พบความตั้งใจจริงของผู้เข้ารับการอบรม/พี่เลี้ยง มีผู้เข้ารับการอบรมที่เข้าอบรมสม่ำเสมอจนจบหลักสูตร เมื่อวิทยากรให้ทำกิจกรรมใด เช่น การออกกำลังกาย ก็ร่วมมือตั้งใจทำจริง ในกิจกรรมออกค่ายสอนการดูแลเพื่อนเมื่อบาดเจ็บขาหักก็ทำได้ เมื่อบอกว่าจะมีกิจกรรมไปทัศนศึกษาหรือออกค่ายก็ตื่นเต้นเตรียมตัวกันล่วงหน้านานๆ และทำสุดความสามารถของผู้เข้าอบรมที่จะมีได้
-พบว่าทักษะต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น การอ่าน การยืนหน้าชั้นเรียน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การแบ่งหน้าที่ การทำงานเป็นทีม การจัดการกับความขัดแย้ง ผู้เข้ารับการอบรมมีความมั่นใจขึ้น มีเป้าหมายชีวิต ตระหนักว่าต้องพยายามพึ่งตัวเองอีกหน่อยไม่มีใครมาดูแลจะทำอย่างไร -การฝึกปฏิบัติจริงทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แสดงความสามารถที่มี และคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือกัน การวางแผน การทำบัญชี การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การฝึกดำรงชีวิตและช่วยตัวเองให้อยู่รอด
-พบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีความคิดสร้างสรรค์คิดนอกกรอบได้ดี เกินความคาดหมายของวิทยากร จากกิจกรรมการพับเสื้อ ผู้เข้าอบรมสามารถพับได้โดยไม่ซ้ำแบบกันเลย จากกิจกรรมตั้งไข่โดยอาศัยอุปกรณ์ เส้นด้าย เกลือ ไม้จิ้มฟัน พบว่าทุกคนสามารถใช้ทุกอุปกรณ์ช่วยให้ตั้งไข่ได้ ทั้งๆที่ วิทยากรตั้งใจจะให้ใช้เกลือเพียงอย่างเดียว
-พบว่าความตรงไปตรงมาของผู้เข้ารับการอบรมอาจทำให้งานไม่เป็นไปตามความคาดหมาย เช่น การตัดส่วนที่ไหม้ของลูกชิ้นออกจนลูกชิ้นเล็กมากทำให้ขายไม่ได้ เป็นต้น
ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการต่อไป
คุณค่าที่เกิดขึ้นและความต้องการของผู้ป่วยทำให้ต้องจัดหลักสูตรนี้ต่อไป ทีมวิทยากรให้ข้อเสนอแนะว่า
- หากมีนักวิชาชีพที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำให้แนวทางก็จะทำให้หลักสูตรนี้พัฒนาไปสู่เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
- ต้องการอาสามัครวิทยากร/นักกิจกรรม ที่จะมาทำงานในส่วนนี้ทุกวันก็จะทำให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกทักษะต่างๆ อย่างเต็มที่
- กิจกรรมหลายๆ อย่างต้องอาศัยสถานที่ หากสถานที่กว้างขวางมากขึ้นก็จะทำให้จัดกิจกรรมได้สะดวกขึ้น
- การอบรมจำเป็นต้องรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น ทัศนศึกษา อาหารว่าง ของผู้เข้ารับการอบรม
*หมายเหตุ ท่านอาจจะยังไม่รู้จักสมาคมสายใยครอบครัวขอแนะนำเบื้องต้นด้านล่างค่ะ
แนะนำสมาคม
สมาคมสายใยครอบครัว
THAI FAMILYLINK ASSOCIATION
สำนักงาน : โรงพยาบาลศรีธัญญา ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 0-2525-2333-5 ต่อ 2146 , 0-2968-9659 , 08-9117-5283
ศูนย์สายใยครอบครัว(ประเทศไทย)
ศูนย์สายใยครอบครัว กำเนิดขึ้นจากแนวความคิดของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งผูกพันกับชีวิตทุกข์ยากของผู้ป่วยโรคจิต และครอบครัว ในฐานะแพทย์ แพทย์หญิงสมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีธัญญา ได้ทำหน้าที่รักษาคนไข้มานานกว่า 20 ปี คุณหมอได้พบกับผู้ป่วยจิตเวชที่เรื้อรัง ป่วยซ้ำ ถูกกีดกันทางสังคม ถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมาย สวัสดิการ ถูกรังเกียจ จนถึงถูกทำร้ายจนเสียชีวิต
แพทย์หญิงสมรักได้เห็นช่องว่างระหว่างความทุกข์ยากของผู้ป่วย และญาติ ความทุกข์ของแพทย์และพยาบาล เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกำลังจำกัด มีภาระหนักและเครียด
คุณหมอจึงเริ่มบุกเบิกงานให้การอบรมญาติผู้ป่วย และจัดตั้งสมาคมผู้บกพร่องทางจิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของงานสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลศรีธัญญา
นับรวม 7 ปี ที่ได้ทุ่มเทให้กับงานนั้น จนถึงปี 2545 คุณหมอได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ แฟมิลี่ลิงค์ ฮ่องกง ตามคำเชิญของบริษัทยา แจนเซ่น ซีแลก ผู้สนับสนุน ในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะรับงานท้าทายนี้ ร่วมกับอาสาสมัครอีก 2 คน คือ คุณ สดใส คุ้มทรัพย์อนันต์ และคุณ ทัศนีย์ ตันทวีวงศ์
จากจุดเริ่มต้นที่มืดมน คุณหมอสมรัก ได้รับการช่วยเหลือจาก ดร มาคัส ชิว ผู้ก่อตั้งแฟมิลี่ลิงค์ฮ่องกง และทั่วโลก เดินทางมาอบรมวิทยากร และถ่ายทอดวิธีการแนวใหม่ของการจัดฝึกอบรม
วิธีการทำงานของแฟมิลี่ลิงค์คือการดึงศักยภาพของผู้ป่วยและครอบครัวใให้เป็นผู้นำกลุ่ม และเป็นวิทยากร เพื่อให้พวกเขาเห็นคุณค่าของตนเอง เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้และช่วยเหลือกัน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินโครงการต่างๆ ปัจจุบันมีโครงการหลักๆ 2 โครงการ
1. โครงการอบรมหลักสูตรสายใยครอบครัว
2. ศูนย์กิจกรรมสายใยครอบครัว
จากรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 แฟมิลี่ลิงค์ได้ผู้นำเพิ่มขึ้นมีแพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ คุณนงนุช แทนบุญรัช คุณสุดคนึง ปลั่งพงศ์พันธ์ คุณเครือวัลย์ เที่ยงธรรม จาก 3 คนเพิ่มเป็น 30 กว่าคนภายใน 3 ปี ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ 3-4 คน นอกนั้นเป็นอาสาสมัคร
แฟมิลี่ลิงค์ได้ชื่อไทยว่า สายใยครอบครัวและเป็นศูลย์รวมของการเชื่อมโยงแต่ละครอบครังที่มีประสบการณ์โรคจิตเวช ได้ร่วมเรียนรู้ ดูแลซึ่งกันและกัน รวมพลังสามัคคีเรียกร้องสิทธิ โดยชอบให้กับผู้ป่วย เพื่อคนที่รักได้หายป่วย และให้สังคมได้เข้าใจ ยอมรับ ดูแลเอาใจใส่ และสุดท้ายคือ คืนผู้ป่วยกลับสู่สังคมอีกครั้ง
การเชื่อมโยง ศักย์ภาพ เงินทุน ประสบการณ์ มิตรภาพ การดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยพลังความรัก ความเข้าใจ การประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ศูนย์สายใยครอบครัวคือพลังสร้างสรรค์ที่ยืนหยัดเพื่อผู้ป่วยจิตเวช และครอบครัว รวมถึงการขยายผลสู่ชุมชนต่อไป