กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--PRpedia
กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ มอบรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น (Prime Minister’s Export Award หรือ PM Export Award) รางวัลอันทรงเกียรติปีที่ 19 แก่ผู้ส่งออกสินค้าและธุรกิจบริการที่มีมาตรฐานเหนือระดับได้รับการยอมรับระดับโลก จำนวน 35 รางวัล 29 บริษัท หวังนำร่องปักหมุดสินค้าไทยในตลาดโลก รักษาระดับส่งออกพุ่งต่อเนื่อง พยุงเศรษฐกิจรวมในประเทศ คาดส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศปีนี้ตามคาดการณ์ 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีมอบรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นประจำปี 2553 เพราะรางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ชื่นชมผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องหมายที่แสดงความยกย่องและขอบคุณองค์กรผู้ได้รับรางวัล ในฐานะที่เป็นแรงกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืนต่อไป และยังสร้างแรงบันดาลใจอันดียิ่งให้แก่ผู้ประกอบการนับแสนรายของไทย ให้มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจของตนเองอย่างจริงจัง พัฒนาฝีมือ และเพิ่มพูนขีดความสามารถตนเอง เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จที่ได้มาตรฐานในเวทีระดับโลก
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคการส่งออกและมุ่งมั่นหาทางช่วยผู้ส่งออก พร้อมทั้งมองหาโอกาสใหม่ๆ ขยายตลาดสินค้าและบริการส่งออกของไทย โดยการกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดไปสู่ประเทศใหม่ๆ เช่น ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเซียใต้ เป็นต้น ส่งเสริมผู้ประกอบการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ สนับสนุนการพัฒนาระบบการกระจายสินค้าให้รวดเร็ว โดยใช้ความได้เปรียบในเชิงแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และศักยภาพการขนส่งของไทย หรือสนับสนุนการพัฒนาสินค้าธุรกิจบริการเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงหาแนวทางเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องมุ่งเน้นในขณะนี้ คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทยภายใต้ภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ด้วยทุนทางความคิดที่มีอยู่มากมาย ในภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม สังคม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เพราะหากเราสามารถเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในสินค้าและบริการ ก็จะเป็นการสร้างความแตกต่างให้เป็นที่ประทับใจต่อผู้บริโภค อันจะนำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ และการส่งออกเชิงสร้างสรรค์ที่มีความมั่นคง และยั่งยืนต่อไป
แม้ว่าที่ผ่านมาการส่งออกจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และสภาพความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ก็สามารถรักษาระดับอัตราการส่งออกได้อย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมแก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ อันเป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกเป็นไปในทิศทางที่ดีเสมอมา ผมเชื่อมั่นว่าหากภาคเอกชนสามารถสร้างมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการได้อย่างสม่ำเสมอ เฉกเช่นผู้ได้รับรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น ผสานกับการส่งเสริมจากกระทรวงพาณิชย์ และความร่วมมือจากรัฐบาล สินค้าไทยของเราจะสามารถติดตลาดโลก เพิ่มมูลค่าการส่งออก และผลักดันให้อัตราขยายตัวของการส่งออกปีนี้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมาย รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน”
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พิธีประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น จัดติดต่อกันมาปีนี้เป็นปีที่ 19 รางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลสูงสุดของรัฐบาลที่ได้มีการประกาศเกียรติคุณ และมอบให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าและบริการที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ การสร้างตราสินค้าของตนเองและการให้บริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับสากล รวมถึงมีการบุกเบิกตลาดต่างประเทศจนสามารถสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือแก่ภาคธุรกิจส่งออกและบริการไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
สำหรับรางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นประจำปี 2553 นี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 35 รางวัล 29 บริษัท ใน 4 ประเภทรางวัล ได้แก่ ผู้ส่งออกไทยดีเด่น (Best Exporter) 5 รางวัล จาก 5 บริษัท ประเภทที่ใช้ตราสินค้าของตนเอง (Thai-Owned Brand) 6 รางวัล จาก 6 บริษัท ประเภทสินค้าที่มีการออกแบบดี (Design Excellence Award หรือ DEmark) 19 รางวัล จาก 14 บริษัท และประเภทธุรกิจบริการส่งออกดีเด่น (Best Service Provider) 5 รางวัล จาก 5 บริษัท ซึ่งไม่มีบริษัทใดได้รับรางวัลจากประเภทสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีการออกแบบและคุณภาพดี (OTOP Export Recognition) ในปีนี้
“ภารกิจหลักที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจการค้าของไทย ได้ให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการ ณ ขณะนี้ คือ การเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการก้าวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก โดยกำหนดนโยบายต่างๆ รองรับ เช่น การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการศึกษา เรียนรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และของภูมิภาค การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ หรือ ระหว่างประเทศ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ คิดให้แตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยหาความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการเพื่อเป็นจุดขาย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการส่งออก ภายใต้การสนับสนุนตามนโยบายของรัฐในโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคธุรกิจส่งออกและบริการโดยการใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ บริหารกระบวนการ โลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลตอบรับจากการดำเนินการต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากยอดการส่งออกรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 93,066 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 36.6 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มเป้าหมายการส่งออกในปี 2553 จากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 20
ในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัล Prime Minister’s Export Award ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องในแต่ละประเภทรางวัลมากยิ่งขึ้น โดยการพิจารณาจะครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาตัวสินค้าและบริการ การสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าไทย การดำเนินธุรกิจด้วยหลักบรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการคืนกำไรสู่สังคม ทั้งนี้เพื่อให้มาตรฐานของการพิจารณารางวัลนั้นเป็นเสมือนเกณฑ์ต้นแบบ และมาตรฐานที่ผู้ประกอบการทุกท่านจะใช้ก้าวผ่านสู่ความสำเร็จในระดับสากลอย่างแท้จริง
กระทรวงฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัล PM Export Award จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ผู้ประกอบการทุกรายที่ได้รับการคัดเลือก เพราะนั่นหมายถึง การเดินทางบนเส้นทางธุรกิจที่ยาวไกลของท่านได้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางสำคัญแล้ว นั่นคือ การที่บริษัทได้รับการยอมรับในระดับประเทศทั้งในคุณภาพ และมาตรฐานของสินค้า และการให้บริการ ซึ่งจะสร้างความมั่นคง และความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัท รวมถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น” นางพรทิวา กล่าว
สำหรับรายชื่อผู้เข้ารับรางวัล “ผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น” ประจำปี 2553 จำนวน 29 บริษัท รวม 35 รางวัล ได้แก่
รางวัลประเภทผู้ส่งออกไทยดีเด่น (Best Exporter) มี 5 รางวัล 5 บริษัท แบ่งตามมูลค่าการส่งออก ดังนี้
กลุ่มมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงแต่งอาหาร)
กลุ่มมูลค่าการส่งออกมากกว่า 100 - 500 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผลิตภัณฑ์สีน้ำและสีน้ำมัน)
กลุ่มมูลค่าการส่งออกมากกว่า 500 - 1,000 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) (ผลิตภัณฑ์เมลามีน)
กลุ่มมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,000 - 5,000 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง)
กลุ่มมูลค่าการส่งออกมากกว่า 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและ ปิโตรเคมี)
รางวัลประเภทที่ใช้ตราสินค้าของตนเอง (Thai-Owned Brand) มีทั้งสิ้น 6 รางวัล 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ แลบบอราทอรี่ แอนด์ เฮลล์แคร์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง) บริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด (ผลิตภัณฑ์พลาสติก) บริษัท สันต์ไทย จำกัด (ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์) บริษัท มอนตี้ แอนด์ ท็อทโก้ จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารสำเร็จรูป) บริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงแต่งอาหาร) และ บริษัท เค.เอ็ม.อุตสาหกรรมเครื่องเขียน จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน)
รางวัลประเภทสินค้าที่มีการออกแบบดี (DEmark) 19 รางวัล จาก 14 บริษัท แบ่งตามกลุ่มสินค้า ดังนี้
กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Decorative Items) ได้แก่ บริษัท นิวอารี่ว่า จำกัด (จากผลิตภัณฑ์ Block 20/30 Bin และ Log & Squirrel) บริษัท เอสเธธิค สตูดิโอ จำกัด. (จากผลิตภัณฑ์ “Leer” Multi-angle LED Lamp) บริษัท อินเนอร์รูม จำกัด (จากผลิตภัณฑ์ Flower Diffuser)
กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Furniture) ได้แก่ เย็นน ดีไซน์ (จากผลิตภัณฑ์ CHANG) บริษัท ดีสวัสดิ์ อุตสาหกรรม จำกัด (จากผลิตภัณฑ์ UP Lamp) บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลอรี่ จำกัด (จากผลิตภัณฑ์ผ้าม่านสะท้อนความร้อน ประหยัดพลังงาน Pasaya)
กลุ่มสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ ได้แก่ บริษัท มูฟ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ The Secret Eye-NP003 และ The Secret Eye-NP002) บริษัท โอซิซู จำกัด (ผลิตภัณฑ์ Bax Cargo, Toiletry) บริษัท ปริญ คอลเลคชั่นส์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ JOIN to JOY)
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจจับนิรภัยอัจฉริยะ I-Zecure, ชุดก็อกน้ำอัจฉริยะ I-TUBE และอ่างอาบน้ำรุ่น PEACE) บริษัท เซเรบรั่ม ดีไซน์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ I-MOBILE PANO DC 5210) และ บริษัท เซเรบรั่ม ดีไซน์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ Pimai)
กลุ่มบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและบรรจุภัณฑ์สินค้าสุขภาพและความงาม ได้แก่ บริษัท หาญโปรดักส์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ Interic Fragrance Spray, Aromatic Candles และ Ingets) บริษัท ปราณลี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ผลิตภัณฑ์ Longan Seed Set และ Citrus lemongrass)
รางวัลประเภทธุรกิจบริการส่งออกดีเด่น (Best Service Provider) 5 รางวัล 5 บริษัท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจบริการ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจบริการการศึกษานานาชาติ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต
กลุ่มธุรกิจบริการรักษาพยาบาล (โรงพยาบาล) ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มธุรกิจบริการรักษาพยาบาล (คลีนิก) ได้แก่ บริษัท บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล เดลทัล เซ็นเตอร์ จำกัด
กลุ่มธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพและความงาม (สปา) ได้แก่ Dr. Orawan Holistic Institute
กลุ่มธุรกิจบริการโลจีสติกส์ ได้แก่ บริษัท วี-เซิร์ฟ โลจิสติกส์ จำกัด
ทั้งนี้ ตั้งแต่ดำเนินโครงการมาตลอดระยะเวลา 19 ปี มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลมาแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 333 บริษัท รวม 407 รางวัล และผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจะได้สิทธิประโยชน์มากมายจากทางกรมฯ อาทิ ได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับกรมส่งเสริมการส่งออก การประชาสัมพันธ์ธุรกิจในหนังสือ PM Export Award Directory และวารสารผู้ส่งออกรวมทั้งสื่อต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ การได้รับสิทธิให้ใช้ตราสัญลักษณ์ตราสินค้าไทย (Thailand’s Brand) นอกจากนั้นยังได้รับการส่งเสริมการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ (Internationalization) รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาตราสินค้า (Brand) สู่ตลาดโลกโดยกรมส่งเสริมการส่งออกอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนกรุณาติดต่อ
โสภี ฉวีวรรณ / พชรวดี จุโลทัย
อีเมล์: prjune@gmail.com