ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 7/2553

ข่าวทั่วไป Tuesday August 24, 2010 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 7/2553 ประจำเดือนสิงหาคม 2553 มีมติเห็นชอบการแก้ไขและกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ 1. แก้ไขหลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน โดยแก้ไขในส่วนของลักษณะต้องห้ามให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ลักษณะต้องห้ามที่ใช้กับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน และในบางจุดได้กำหนดให้เข้มงวดกว่าเนื่องจากบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร ผู้จัดการกองทุน ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน ทั้งในธุรกิจหลักทรัพย์และในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนโดยตรงและอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้ลงทุนด้วย หลักเกณฑ์ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ 3 กลุ่มตามระดับความชัดเจนและการใช้ดุลยพินิจ กล่าวคือ (1) กลุ่มที่มีลักษณะต้องห้ามที่ชัดเจนแล้ว และ ก.ล.ต. ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจหรือพิจารณาเพิ่มเติม เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ (2) กลุ่มที่มีประวัติการถูกดำเนินการหรือถูกลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น กรณีถูกหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นลงโทษ ซึ่ง ก.ล.ต. จะไม่พิจารณาข้อเท็จจริงซ้ำ แต่จะพิจารณาเฉพาะว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะตามที่กำหนดหรือไม่ และ (3) กลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง ซึ่ง ก.ล.ต. จะพิจารณาเป็นรายกรณี และเปิดโอกาสให้บุคคลดังกล่าวชี้แจง รวมทั้งให้มีคณะกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นต่อ ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจ สำหรับลักษณะต้องห้ามที่กำหนดเข้มงวดกว่ากรณีของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เช่น กรณีถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ กรณีหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายอื่นพิจารณาว่ามีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงิน หรือผู้จัดการเงินทุนของลูกค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะปฏิเสธบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการขอรับความเห็นชอบ หรือกรณีที่ปรากฏลักษณะต้องห้ามภายหลังจากบุคคลได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งไปแล้ว ก.ล.ต. จะตำหนิโดยเปิดเผย สั่งพัก หรือเพิกถอน หรือห้ามปฏิบัติหน้าที่ แล้วแต่กรณี 2. กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของผู้รับประกันรายได้ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจลงทุน และเพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ศึกษาข้อมูลของผู้รับประกันรายได้ของกองทุนมาอย่างรอบคอบแล้ว ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ บลจ. เปิดเผยข้อมูลสรุปฐานะทางการเงินของผู้รับประกันรายได้ 3 ปีย้อนหลัง แสดงความเห็นจากการประเมินความสามารถของผู้รับประกันรายได้ในการปฏิบัติตามสัญญารับประกัน (due diligence) และความสัมพันธ์ของผู้รับประกันรายได้กับ บลจ. ผู้บริหารทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินเดิม (ถ้ามี) ไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน สำหรับภายหลังจัดตั้งกองทุนแล้ว ให้ บลจ. สรุปข้อมูลฐานะการเงินของผู้รับประกันรายได้เปรียบเทียบ 3 ปีย้อนหลัง และแสดงความเห็นจากการประเมินความสามารถของผู้รับประกันรายได้ในการปฏิบัติตามสัญญาในปีต่อไป ทั้งนี้ งบการเงินของผู้รับประกันรายได้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม จะต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยให้เริ่มตั้งแต่งบการเงินประจำปี 2554 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ให้ บลจ. จัดให้มีงบการเงินของผู้รับประกันรายได้ฉบับเต็มไว้ ณ ที่ทำการและเว็บไซต์ของ บลจ. ด้วย 3. แก้ไขหลักเกณฑ์ให้ บล. และตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านำเงินของลูกค้าที่ฝากไว้ไปลงทุนได้เพิ่มเติม ก.ล.ต. อนุญาตให้ บล. และตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถนำเงินของลูกค้าที่ฝากไว้ไปลงทุน ในตราสารทางการเงินเพิ่มเติม ได้แก่ ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวน พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ (ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุน ให้เข้มงวดขึ้น และจะออกประกาศต่อไป) รวมทั้งให้ทำธุรกรรมการซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายคืนได้ ทั้งนี้ เนื่องจากตราสารทางการเงินและธุรกรรมดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง ทำให้ความเสี่ยงในเงินของผู้ลงทุนไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งในปัจจุบัน ก.ล.ต. อนุญาตให้นำไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ วางไว้ที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือนำไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงิน ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูงบางประเภทเท่านั้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. และประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน กล่าวว่า “ก.ล.ต. ต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบงานทุกอย่างในตลาดทุนจึงต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจของภาคเอกชนและเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยความคุ้มครองผู้ลงทุนจะต้องยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นมาตรฐานสากล” หมายเหตุ: คณะกรรมการกำกับตลาดทุน คือ The Capital Market Supervisory Board (CMSB)
แท็ก ตลาดทุน   ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ