กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สช.
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช). เห็นชอบทบทวนและปรับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๗ เสนอให้ผู้ประกอบการทำประกันภัยจากอุบัติภัยสารเคมี โดยครอบคลุมผลกระทบและความเสียหายทุกด้าน พร้อมเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ระยะยาว เพื่อพัฒนาระบบความรับผิดชอบต่อผลกระทบในระยะยาวและผลกระทบแบบสะสมเรื้อรัง ย้ำแต่ละจังหวัดต้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน
ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาวาระสำคัญ โดย นพ.วิพุธ พูลเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง กล่าวว่า จากการวิเคราะห์กรณีการแตกของถังกักเก็บสารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ของบริษัทอดิตยา เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าระบบและกลไกที่มีอยู่ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาและรองรับอุบัติภัยสารเคมีที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคณะกรรมการศึกษาฯ จึงได้เสนอให้มีการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง ๔ ยุทธศาสตร์ คือ การป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการหลังเกิดภัย ซึ่ง คสช.เห็นชอบในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบประกันภัยจากอุบัติภัยสารเคมี ที่ครอบคลุมผลกระทบและความเสียหายในทุกด้านที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติภัยต่อประชาชนและชุมชน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ในระยะยาว โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการให้ผู้ประกอบการแต่ละโรงงานต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามอัตราที่กำหนดทุกครั้งที่เป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติภัย เพื่อพัฒนาระบบความรับผิดชอบทั้งในระยะยาวและแบบสะสมเรื้อรัง
“นอกจากนี้ คสช.เห็นชอบที่จะให้มีการตั้งศูนย์บัญชาการ และให้ประกาศเป็นพื้นที่สาธารณภัยจากสารเคมีทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุ นอกจากนี้ให้มีทีมงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์บัญชาการในการประเมินระดับความรุนแรง เนื่องจากบทเรียนที่ผ่านมาผู้ประกอบการและการนิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้ประเมินสถานการณ์เอง เมื่อเกินขีดความสามารถในการรับมือจึงจะแจ้งให้ทางจังหวัดได้รับทราบ ทำให้การควบคุมสถานการณ์ไม่ทันกับปัญหาที่อาจจะยกระดับความรุนแรงได้เพียงเสี้ยววินาที” นพ.วิพุธกล่าว
ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ คสช. เห็นชอบให้มีการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๗ ทั้ง ๔ ยุทธศาสตร์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ให้พิจารณาวางกรอบการจัดทำแผนปฎิบัติการเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยใช้กระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ของพื้นที่มาบตาพุด เป็นต้นแบบให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๓ เดือน รวมทั้งกำหนดแนวทางและสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยแต่ละจังหวัดด้วย
ประสานงาน : งานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307