Creative SMEs จุดเริ่มต้นของการสร้าง Creative City

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2010 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--PR Network เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้แทบทุกแห่งในโลกสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ทัดเทียมกัน ความแตกต่างของสินค้าและบริการจึงต้องมาจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกระบวนการผลิต ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะและหลากหลาย เพื่อตอบสนองผู้บริโภคทุกระดับ ผู้ประกอบการที่จะยืนหยัดได้นั้นจึงต้องเป็นเจ้าของ ความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถเปลี่ยนปัจจัยการผลิตไปสู่สินค้าและบริการที่เอาชนะคู่แข่งได้ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) ไม่ได้หมายถึงผู้ประกอบการด้านงานศิลปะหรืองานออกแบบเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ประกอบการที่สามารถรวบรวมองค์ความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและสุนทรียภาพจากวัฒนธรรมและงานศิลปะ แล้วนำมาแปรเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณค่าและมีความแตกต่าง ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มได้ การสร้างผู้ประกอบที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้น สภาพแวดล้อมและการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในระบบการศึกษาปกติ ตลอดจนการดำเนินนโยบายสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อกระบวนการสร้างนักคิด และบ่มเพาะให้กลายเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่หลายประเทศกำลังดำเนินการภายใต้นโยบายที่เรียกว่า “Creative City” ภายใต้นโยบาย Creative City นั้น สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการพัฒนา ก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและคมนาคม การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นระบบและครบวงจรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการพัฒนาการตลาดให้ทันคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงทุนผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้สมัยใหม่ มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล สื่อสาร และการคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับภาคการผลิต ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ สร้างเวทีนักคิด ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น มีกฎหมาย และกฎระเบียบที่ช่วยในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและกระบวนการที่มีอยู่ ตลอดจนส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านการเงิน นอกจากนี้จะต้องมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเชิงลึกในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และทุนวัฒนธรรม โดยทำการศึกษาใน 5 ประเภท คือ มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และความหลากหลายทางชีวภาพ, เอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรม, งานช่างฝีมือและหัตถกรรม, อุตสาหกรรมสื่อ บันเทิง และซอฟต์แวร์, การออกแบบและพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำผลิตภัณฑ์และบริการสู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลและมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดมาตรฐานขอบเขตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ชัดเจน และมีวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประเมิน ติดตามผล และกำหนดนโยบายการพัฒนาต่อไป และอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญ ก็คือ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจและบุคลากรด้านสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการรูปแบบใหม่ให้มีจุดเด่น และสามารถต่อยอดด้วยความคิดและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และก้าวทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกนั่นเอง ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์ โดยได้ดำเนินกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs เพื่อเป็นการสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าในสาขาธุรกิจการผลิตและการบริการ ตลอดจนสร้างปัจจัยเอื้อต่อการเติบโต ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเสริมสร้างโอกาสทางการตลาด ของธุรกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และตลาดส่งออกทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ กลุ่มวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ กลุ่มศิลปะ กลุ่มสื่อ และกลุ่มงานสร้างสรรค์ตามหน้าที่ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs อย่างครบวงจร คือ Creative Mind ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีหัวใจของการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูสู่ความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ และสามารถประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้ในทุกโอกาสและสถานการณ์ Creative Design and Innovation ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการออกแบบสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างสร้างสรรค์ Creative Product and Service ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สร้างผลิตภัณฑ์และบริการอย่างสร้างสรรค์ โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และสินค้าที่สามารถดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าเก่าและกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วยการขยายส่วนแบ่งตลาด (Segmentation) Creative Marketing ทำการตลาดอย่างสร้างสรรค์ ในการเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม Creative Communication ใช้เครื่องมือการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และใช้เครือข่ายการสื่อสารอย่างครบวงจร ในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า และสร้างความเข้าใจในสินค้าและบริการแก่ลูกค้า และ Creative Management บริหารจัดการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการบริหาร ของส่วนหลัง (Back Office) ให้สามารถสนับสนุนการทำงานของส่วนหน้า หรือการขายและการบริการได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการบริหารระบบการผลิต การกระจายสินค้า ฯลฯ ด้วย เมื่อผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถคิด พัฒนา และต่อยอดสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างมีศักยภาพแล้วนั้น โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของประเทศ และการก้าวทันหรือเป็นผู้นำทางด้านสินค้าและบริการที่ทันสมัยคงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป
แท็ก SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ