กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--สวทช.
เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่ให้แสงสว่างได้ เช่น หิ่งห้อย แมงกะพรุน หมึก หรือปลาทะเลน้ำลึกบางชนิด มิใช่เพียงปริศนาความงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นเท่านั้น หากแต่ว่ากลไกการเปล่งแสงของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ยังเป็นกุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่การคิดค้นวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม หรือแม้แต่การติดตามเบาะแสของคนร้ายในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) นำทัพครูและเยาวชนคนเก่งกว่า 90 ชีวิต มาร่วมกันสวมบทนักสืบ เพื่อแกะรอย เจาะลึกถึงความอัจฉริยะของธรรมชาติ ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า “ค่ายนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง” ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ภายในกิจกรรมเด็กๆ ได้เรียนรู้รูปแบบการเปล่งแสงของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง รวมถึงค้นหาความหมายในการเปล่งแสงของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดผ่านการบรรยายพิเศษ “ตามล่าสุดขอบฟ้า...สิ่งมีชีวิตเปล่งแสงได้” สนุกกับกิจกรรม “นักสืบ Emission of Light” ที่ให้เด็กๆ ช่วยกันลงมือทดลองค้นหาความลับการเปล่งแสงผ่านภารกิจต่างๆ อาทิ สร้างเครื่องมือวัดสารเปล่งแสง พืชเปล่งแสงได้หรือไม่ การผสมสารเปล่งแสงด้วยตนเอง เป็นต้น จากนั้นมาเรียนรู้ว่าการเปล่งแสงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร ในกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับสารเปล่งแสง ซึ่งเด็กๆ จะได้ทดลองทำยางพาราเรืองแสง และมาพิสูจน์กันว่ากลไกการเปล่งแสงถูกนำมาใช้ติดตามคราบเลือดของคนร้ายได้อย่างไร
นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้เพลิดเพลินกับเรื่องเล่าริมน้ำ “หิ่งห้อย...กะพริบแสงแห่งรัก สู่การวิจัยระดับสากล” สนุกกับเรื่องราวแสนน่ารักและร่วมกันถอดรหัสภาษารักของหิ่งห้อย ก่อนจะออกเดินทางตามรอยโนเบลในงานวิจัยอันน่าทึ่ง “การใช้โปรตีนเรืองแสงพัฒนายาต้านโรค” รวมทั้งยังมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการงานวิจัยเชื้อมาลาเรียเรืองแสงของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติด้วย โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้มุ่งหวังจุดประกายให้เด็กๆ เห็นว่า ความน่ามหัศจรรย์กลไกการเปล่งแสง ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินำมาสู่การคิดค้นผลงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างรางวัลโนเบลได้อย่างไร
“น้องแตงโม” หรือ นางสาวโชติกา เทพาอภิรักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีนนทบุรี จังหวดนนทบุรี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้นอกจากช่วยทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้แล้ว ยังสนุกกับกิจกรรมการทดลองใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วย
“เมื่อก่อนรู้จักแค่ หิ่งห้อย แมลงตัวเล็กๆ ที่กะพริบแสงเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ แต่จากการฟังบรรยายทำให้รู้ว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่ให้แสงสว่างแสงได้ อีกทั้งกลไกการให้แสงยังมีความจำเพาะต่อหน้าที่แตกต่างกันไปด้วยเช่น ปลาแองเกลอร์ ปลาทะเลน้ำลึกที่มีดัดแปลงครีบหลังเป็นกระเปาะเพื่อเก็บแบคทีเรียที่เปล่งแสงได้สำหรับการล่อเหยื่อให้มาติดกับดัก เห็ดบางชนิดเรืองแสงได้เพื่อป้องกันการถูกกินจากสิ่งมีชีวิตอื่น เป็นต้น สำหรับกิจกรรมที่ชอบมาก คือ ยางพาราเรืองแสง เพราะได้ทำตุ๊กตายางพาราที่เรืองแสงด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังได้ทดลองนำหลักการเปล่งแสงไปตรวจหาร่องรอยคราบเลือด โดยเมื่อเราพ่นสารลูมินอลบนเลือดหมูที่แม้จะถูกฉีดทับด้วยแอลกอฮอล์ แต่ฮีโมโกลบินของเลือดหมูก็ยังสามารถทำปฏิกิริยากับลูมินอลได้ ซึ่งธาตุเหล็กในเลือดจะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว และปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงเป็นการพิสูจน์ว่ามีคราบเลือดอยู่ น่าทึ่งมากๆ ค่ะ”
ด้าน “น้องสตังค์” หรือ นายพลเดช อนันชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้รับสิ่งที่เหนือความคาดหมายอย่างมาก ได้ทำการทดลองที่ทั้งสนุกและน่าสนใจ กิจกรรมที่ประทับใจคือ “นักสืบ Emission of Light” เพราะทุกคนในกลุ่มจะต้องร่วมแรงร่วมใจ นำทักษะที่มีอยู่มาช่วยกันสืบค้นความรู้แต่ละภารกิจด้วยตนเอง เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจวัดสารเปล่งแสงจากหลอด LED การทดสอบการเปล่งแสงของคลอโรฟิลล์จากใบไม้ นอกจากนี้ วิทยาการที่มาบรรยายยังช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมเกี่ยวกับการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตให้กว้างมากยิ่งขึ้น เพราะผมไม่คิดเลยว่าจากแมงกะพรุนที่สามารถเปล่งแสงได้ จะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การค้นพบโปรตีนเรืองแสง หรือจีเอฟพี (Green Fluorescent Protein, GFP) ที่สามารถนำมาประยุกต์ในการงานวิจัยที่หลากหลาย ทั้งการพัฒนายา การตรวจหาเชื้อโรค จนได้รับรางวัลโนเบลในที่สุด เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ผมมีความคิดจะกลับไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การตัดต่อยีนต้นยางพาราให้สามารถผลิตน้ำยางพาราที่เรืองแสงได้ครับ
ขณะที่ “น้องกุ้ง” หรือ นางสาวกรฉัตร วังคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนครพนมวิทยาคม อ.เมือง จังหวัดนครพนม กล่าวว่า ความรู้และประสบการณ์จากค่ายนี้ ทำให้ได้พัฒนาทักษะการเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีมากกว่าในห้องเรียน เป็นการเรียนลัดที่ได้กำไรทั้งเนื้อหาและกิจกรรม อีกทั้งยังรู้สึกสนุกและไม่เครียดด้วย
“ค่ายนี้ทำให้ได้เรียนแบบเจาะลึกในสิ่งที่เราอยากรู้จริงๆ ได้ฟังเรื่องเล่าชีวิตของหิ่งห้อย ได้ลงมือทดลองผสมสารเรืองแสงด้วยตนเอง ทำให้เข้าใจเลยว่ากลไกการเรืองแสงมีกระบวนการอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการงานวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคโดยใช้โปรตีนเรืองแสงของไบโอเทค ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศการทำงานของนักวิจัย และได้เห็นการนำโปรตีนเรืองแสงมาใช้พัฒนาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คือข้อคิดเตือนใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ว่า “เราไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็กๆ เพราะมันอาจมีค่ามหาศาลได้”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-5647000 ต่อ 1489,1463