กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--คต.
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า FTA ได้ช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกของ ปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการขอใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าของไทยมูลค่าทั้งสิ้น 15,988.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.33 จากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 9,554.64 ล้านเหรียญสหรัฐ และคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 54.92 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการสินค้าที่ได้สิทธิฯ
ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน (AFTA) มูลค่า 6,533.96 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 50.20 รองลงมาได้แก่ อาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 3,633.09 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 72.08 ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)มูลค่า 2,781.90 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯร้อยละ74.48 ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 2,116.97 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 64.64 อาเซียน-เกาหลี (AKFTA)มูลค่า 373.93 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯร้อยละ 25.83 อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 320.96 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯร้อยละ 18.89 ไทย-อินเดีย (TIFTA) มูลค่า 211.92 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 66.92 อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) มูลค่า 11.03 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 2.09 อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) มูลค่า 4.35 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นการขอใช้สิทธิฯ ไปยัง ออสเตรเลีย มูลค่า 3.91 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 7.99 และนิวซีแลนด์ มูลค่า 0.44 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 6.65 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การใช้สิทธิภายใต้ AJCEP และ AANZFTA ยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงใช้สิทธิภายใต้ JTEPA และFTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ส่วนสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกสูง ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์สำหรับขนส่ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มันสำปะหลัง ไก่ปรุงแต่ง และกุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น
สำหรับอุปสรรคที่ผู้ประกอบการไทยบางส่วน ไม่สามารถใช้สิทธิ FTA ได้อย่างเต็มที่ เนื่องมาจากไม่สามารถผลิตสินค้าให้เป็นไปตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย เพราะต้องนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวและใช้วัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าที่ทำความตกลง FTA กับไทย เพื่อให้สามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงได้วางแนวทางที่จะทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ตลอดจนจัดฝึกอบรมสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ/ บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ไทยได้รับจากประเทศคู่ภาคีที่ไทยได้ทำความตกลง โดยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้งนี้ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 0 2547 4872 โทรสาร 0 2547 4816 DFT Center โทร. 1385 หรือที่ www.dft.go.th