กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--คต.
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์ เปิดเผยว่าช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ทุกระบบมีมูลค่า 6,094.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 25.40 ซึ่งมีมูลค่า 4,860.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิไปยังประเทศผู้ให้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.18
ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP จากประเทศต่าง ๆ รวม 44 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ตุรกี กลุ่ม CIS (รัสเซียและรัฐอิสระ รวม 11 ประเทศ) และ นอร์เวย์ โดยประเทศที่ใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ สหภาพยุโรป (3,706.45 ล้านเหรียญสหรัฐ) สหรัฐฯ (1,743.88 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตุรกี (287.60 ล้านเหรียญสหรัฐ) สวิตเซอร์แลนด์ (116.94 ล้านเหรียญสหรัฐ) กลุ่ม CIS (87.95 ล้านเหรียญสหรัฐ) แคนาดา (67.54 ล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (57.33 ล้านเหรียญสหรัฐ) นอร์เวย์ (27.21 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ
สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP สูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่ง เครื่องประดับทำจากเงิน ยางเรเดียลรถยนต์นั่ง ยางเรเดียลรถบรรทุก อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ เลนส์แว่นตา เป็นต้น
หากพิจารณาการใช้สิทธิ GSP ใน 2 ตลาดหลักของไทย เป็นดังนี้ ตลาดสหภาพยุโรป ใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.83 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 650.61 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 21.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ใช้สิทธิสูง ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่ง เลนส์แล่นตา เครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง กุ้งแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง และยางเรเดียลรถยนต์ เป็นต้น ตลาดสหรัฐอเมริกา ใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าลดลง 452.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ใช้สิทธิสูง ได้แก่ เครื่องประดับทำจากเงิน ยางเรเดียลรถยนต์ ยางเรเดียลรถบรรทุก อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ และเลนส์แว่นตา เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าล่าสุดเกี่ยวกับโครงการ GSP สหรัฐฯ ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปฏิรูปโครงการใหม่ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการจัดประชุมหารือกับภาคเอกชนในประเด็นรายการสินค้าที่จะขอรับสิทธิเพิ่มเติม ซึ่งปรากฎว่าสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไหมไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย สมาคมเครื่องหนังไทย สมาคมเครื่องกีฬาไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและ เครื่องประดับ ได้ยื่นขอเพิ่มรายการสินค้าหลายรายการ ซึ่งกรมฯ จะได้ทำท่าทีของไทยแจ้งสำนักงานฯ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อเสนอต่อ USTR ต่อไป ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0 2547 4872 โทรสาร 0 2547 4816 สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือที่ www.dft.go.th