กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตสะท้อนการมีแหล่งกระแสเงินสดที่กระจายตัวทั้งจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วน รวมทั้งสถานะผู้นำในธุรกิจอาหารบริการด่วน และการมีโรงแรมที่มีความหลากหลายด้วยสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัลด้วย อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจได้ง่าย รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีอัตรากำไรต่ำ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทจัดว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงเมื่อพิจารณาจากอุปสงค์ของจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการทำการตลาดอย่างรุนแรงเพื่อเพิ่มอุปทานของธุรกิจอาหารบริการด่วน สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงเนื่องจากการขยายโรงแรมอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ และคาดว่าปี 2553 นี้จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับบริษัทอีกปีหนึ่ง ในขณะที่การเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงในขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบรรลุเป้าหมายด้านผลการดำเนินงานและค่อย ๆ ลดภาระหนี้ลง โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถคงสัดส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ในระดับที่ไม่มากเกินกว่า 3.5 เท่าได้ ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเปลี่ยนเป็น “Stable” หรือ “คงที่”
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศ ปัจจุบันบริษัทบริหารโรงแรมจำนวน 29 แห่งในประเทศไทย และ 3 แห่งในต่างประเทศ ด้วยจำนวนห้องพักกว่า 5,300 ห้อง บริษัทเป็นเจ้าของโรงแรม 14 แห่ง โดย 4 แห่งเป็นลักษณะของการร่วมทุน และโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของคิดเป็นสัดส่วน 69% ของจำนวนห้องทั้งหมด บริษัทบริหารงานโรงแรมของตนเองภายใต้ชื่อ “เซ็นทารา” ยกเว้นโรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหินเท่านั้นที่บริหารโดย Accor International นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารงานโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ และโรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่ภายใต้แฟรนไชส์ของกลุ่ม Accor ด้วย บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งเปิดบริการขายอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศหลากหลายแบรนด์ เช่น “เคเอฟซี” “มิสเตอร์โดนัท” “อานตี้ แอนส์” “เป็ปเปอร์ลันช์” “เบรดปาปา” “ชาบูตง” และ “โคลด์ สโตน ครีเมอรี” รวมทั้ง แบรนด์ของบริษัทเองคือ “ริว ชาบู ชาบู” ด้วยจำนวนสาขารวมทั้งหมดมากกว่า 480 แห่งทั่วประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2553 โดยในปีที่ผ่านมารายได้รวมของบริษัทมาจากธุรกิจโรงแรมและอาหารอย่างละครึ่ง
ในปี 2552 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ การเมืองภายในประเทศที่มีความขัดแย้ง และการแพร่ระบาดของไข้หวัด A/H1N1 อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์เต็มปีส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 3% ที่ระดับ 8,277 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากรายได้จากธุรกิจโรงแรมที่เพิ่มขึ้น 11% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนลดลง 3% เนื่องจากบริษัทได้หยุดให้บริการ “ร้านพิซซ่า ฮัท” จำนวน 25 แห่งในเดือนพฤษภาคม 2552 และ “ร้านบาสกินส์ รอบบินส์” 37 แห่งในเดือนธันวาคม 2552 อุปสงค์ของธุรกิจโรงแรมอ่อนตัวลงในปี 2552 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทลดลงจาก 64.2% ในปี 2551 เป็น 60.7% ในปี 2552ในขณะที่อัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room -- RevPAR) โดยเฉลี่ยลดลงถึง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาเฟื่องฟูในฤดูกาลท่องเที่ยวไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ถึงไตรมาสแรกของปี 2553 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 26.5% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 และ 27.7% ไตรมาสแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักใน
ไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 71% จาก 65% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 รายได้รวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ระดับ 4,445 ล้านบาทจากการมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมที่เพิ่มขึ้น 10% และจากธุรกิจอาหารบริการด่วนที่เพิ่มขึ้น 8% รายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทเพิ่มขึ้น 26% ในไตรมาสแรกของปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีชรีสอร์ท พัทยา อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทลดลง 11% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลลบต่อผลประกอบการของโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ โดยอัตราการเข้าพักในโรงแรมของบริษัทโดยรวมลดลงเหลือที่ระดับ 48% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงสู่ระดับ 15.0% ในปี 2552 จาก 18.3% ในปี 2551 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 17.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจโรงแรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 และการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรจากธุรกิจอาหารบริการด่วนจากผลของการหยุดให้บริการธุรกิจ 2 แบรนด์ที่มีกำไรต่ำ คือ เดอะพิซซ่า ฮัท และบาสกินส์ รอบบินส์ สภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในระดับที่รับได้แม้ว่ากระแสเงินสดจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ลดลงจาก 17.6% ในปี 2551 เป็น 10.0% ในปี 2551 และอยู่ที่ระดับ 6.2% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงสู่ระดับ 4.9 เท่าในปี 2552 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.1 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ทั้งนี้ คาดว่าความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 จะส่งผลเสียต่อแนวโน้มการท่องเที่ยวเพียงในระยะสั้น โดยบริษัทคาดว่าผลประกอบการในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 52.3% ในปี 2549 เป็น 60.3% ในปี 2552 และ 61.3% ในเดือนมิถุนายน 2553 เนื่องจากบริษัทมีแผนการขยายงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทใช้เงินทุนมากกว่า 6,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนขยายโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ กระบี่ พัทยา และเกาะมัลดีฟ โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2553 เนื่องจากการลงทุนในโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ภูเก็ตซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2553 บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งโดยปกติบริษัทจะได้รับวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้าง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ประมาณ 3,300 ล้านบาท ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CENTEL117A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ A-
CENTEL127A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative (ลบ)