กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ส.อ.ท.
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ Union of Myanmar Federation of Chamber of Commerce and Industry (UMFCCI) และสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยประจำประเทศพม่า จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ นำคณะผู้ประกอบการไทยกว่า 80 คน เดินทางเยือนย่างกุ้ง สหภาพพม่า ระหว่างวันพุธที่ 1 - วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2553 เพื่อเปิดตลาดสินค้าไทย และผลักดันความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับพม่าให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นำโดยนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย — พม่า
เมื่อวานนี้ (25 สิงหาคม 2553) ณ ห้อง ประชุม ส.อ.ท. 1 ชั้น 4 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า แถลงข่าว “ส.อ.ท. นำคณะผู้ประกอบการไทยกว่า 80 คน บุกตลาดพม่า...ใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558”
นายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า กล่าวว่า จากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่เริ่มลดภาษีเหลือ 0% ในกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา โดยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2558 ซึ่งจะเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ 12 สาขานำร่อง ได้แก่ 1.สินค้าเกษตร 2.ประมง 3.ผลิตภัณฑ์ไม้ 4.ผลิตภัณฑ์ยาง 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 6.ยานยนต์ 7.อิเล็กทรอนิกส์ 8.สุขภาพ 9.เทคโนโลยีสารสนเทศ 10. การท่องเที่ยว 11. การบิน 12. โลจิสติกส์ นั้น จะส่งผลให้ประเทศในอาเซียนเป็นตลาดเดียวและเขตการผลิตเดียว หรือ Single Market and Production Base ที่สามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ โดยสามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศ ทั้งวัตถุดิบและแรงงานมาร่วมในการผลิต มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์กฎระเบียบเดียวกัน
“การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2558 ซึ่งเหลือเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น เมื่อถึงเวลานั้น การค้าขายในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศจะไม่มีพรมแดนอีกต่อไป คู่แข่งของภาคธุรกิจไทยจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในประเทศ แต่จะครอบคลุมไปทั้งกลุ่มอาเซียน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคเอกชนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจเชิงรุกกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างจริงจัง โดยสหภาพพม่า ก็เป็นตลาดเป้าหมายหนึ่งที่สภาอุตสาหกรรมฯไม่มองข้าม ที่จะนำคณะผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 80 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เดินทางไปยังสหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 1-4 กันยายน 2553 ที่จะถึงนี้ เพื่อสำรวจตลาดและเจรจาธุรกิจกับซุปเปอร์มาเก็ต ห้างสรรพสินค้า และผู้นำเข้าของพม่า (Importers) กว่า 120 ราย ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วงชิงโอกาสก่อนที่ประเทศอื่นๆจะเข้าไปยังตลาดพม่ามากขึ้น เพราะหากเข้าไปช้า ความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยก็จะน้อยลง หรือต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้น” นายสันติ กล่าว
นายสันติ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เหตุผลที่ผู้ประกอบการไทยต้องไปเปิดตลาดที่พม่า เพราะในปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกไปพม่ามีมูลค่าสูงถึง 1,545 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวถึง 16% และเศรษฐกิจของพม่ายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการขยายตัวเฉลี่ย 5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และ ADB (Asian Development Bank) ยังคาดว่าเศรษฐกิจของพม่าจะขยายตัว 5.2% ในปี 2553 และ 5.5% ในปี 2554 จากการที่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปทำการค้าและลงทุนในประเทศพม่ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรของพม่ามีกำลังซื้อเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องการขนส่งสินค้าไปยังพม่ามากกว่าประเทศอื่น เพราะพม่ามีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยกว่า 1,800 กิโลเมตร ประกอบกับที่คนพม่าก็นิยม และยอมรับในสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานอยู่แล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้ามตลาดพม่า
และจากการที่รัฐบาลไทยนำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยและพม่าให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ด้วยการเข้าเจรจาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการค้ากับคณะผู้แทนของประเทศพม่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อผลักดันให้เกิดการค้าระหว่างประเทศให้มีเพิ่มขึ้นนั้น ก็บ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการไม่ได้เข้าไปบุกตลาดพม่าเพียงลำพัง แต่มีภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนร่วมด้วย ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถมั่นใจได้มากยิ่งขึ้นในการเข้าไปเปิดตลาดในพม่า
อย่างไรก็ตาม การเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ ทางด้านผู้นำเข้าของพม่า (Importers) ได้แสดงความต้องการสินค้าไทยมาแล้ว โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งตรงกับสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะนำไปเปิดตลาดในครั้งนี้ ที่มีทั้งกลุ่ม Food และ Non-Food อาทิ สินค้าจาก บจก.ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด, บจก. ทิปโก้ เอฟ แอนด์ บี (ผู้ผลิตน้ำผลไม้), บจก.หยั่น หว่อ หยุ่น (ผู้ผลิตซอสปรุงรส), บมจ.ไทยฮา (ผู้ผลิตข้าวตราเกษตร น้ำมันพืชองุ่น), บจก.อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์ (ผู้ผลิตน้ำจิ้มและซอสปรุงรส) และบจก.โซน่าร์ อินดัสเตรียล (ผู้ผลิตโทรทัศน์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับ Modern Trade ขนาดใหญ่ของพม่าทั้ง 4 แห่ง ที่สภาอุตสาหกรรมฯจะนำผู้ประกอบการไทยไปเจรจาธุรกิจด้วย คือ 1) City Mart Supermarket เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในพม่า 2) Ga Mone Pwint Department Store เป็นห้างสรรพสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของตลาดพม่า 3) Sein Gay Har Mart เป็นห้างสรรพสินค้าที่มียอดจำหน่ายอยู่ในระดับ 3 ของตลาดพม่า และ 4) MK Groups เป็นธุรกิจตัวแทนขายสินค้า สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นของเครือสหพัฒน์ และเฟอร์นิเจอร์ของอินเดกส์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร 0-2345-1013 , 1017 โทรสาร 0-2345-1296-8