iTAP หนุน บ.เชาวน์ดี สตาร์ช(2004) รุกวิจัย ‘สารให้ความหวาน’ จากแป้งมันฯ หวังต่อยอดครบวงจร

ข่าวทั่วไป Thursday August 26, 2010 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สวทช. iTAP หนุนเอกชน บริษัทเชาวน์ดี สตาร์ช(2004) จำกัด เจ้าของโรงงานมันสำปะหลังที่มีกำลังการผลิต 500 ตันต่อวันในโคราช รุกวิจัยและพัฒนาโดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ iTAP เครือข่าย มทส. ผ่าน 3 โปรเจค คือ ศึกษาการผลิตมอลโตเดกซ์ทรินจากแป้งมันฯในแล็บ, ต่อยอดสู่การพัฒนากระบวนการผลิตมอลโตเดกซ์ ทรินจากแป้งมันฯในระดับ 50 ลิตร, ชี้ “มอลโตเดกซ์ทริน” หรือ สารให้ความหวานเป็นส่วนผสมสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถต่อยอดสู่การผลิตกลูโคส เพื่อใช้ทางการแพทย์ ฯลฯ นอกจากนี้ บ.เชาวน์ดี ยังสานต่อการทำงานร่วมกับ iTAP ผ่านโครงการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ฯจากกากและเปลือกมัน พลิกของเหลือทิ้งให้เพิ่มค่าเป็นปุ๋ยใช้ประโยชน์ พร้อมชูแนวคิดเอกชนต้องคิด “ครบวงจร” สร้างงานในอุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบอยู่แล้วให้เกิดต่อเนื่อง บริษัทเชาวน์ดี สตาร์ช(2004)จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2547 ปัจจุบันสืบทอดกิจการโดยผู้บริหารรุ่นใหม่เป็นรุ่นที่ 3 คือ นาย ชาญชัย เชาวน์ดี ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ โดยมีกลุ่มลูกค้าสำคัญได้แก่ เครือ SCG ในอุตสาหกรรมกระดาษ และลูกค้าต่างประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ซึ่งใช้แป้งมันฯเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สารปรุงแต่ง ฯลฯ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชาวน์ดีฯ เปิดเผยความเป็นมาของกิจการว่า “บริษัทฯเริ่มต้นผลิตอาหารสัตว์ จนขยายกิจการของครอบครัวเป็น 7- 8 โรงงานครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ราบสูง มีฝนน้อย ทำให้มีภูมิประเทศเหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลังและเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เฉพาะบริษัทฯมีกำลังการผลิต 500-600 ตัน/วัน โดยใช้วัตถุดิบหัวมันสดประมาณ 2,000 ตัน/วัน และถือเป็นโรงงานขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ” นาย ชาญชัย กล่าวอีกว่า มันสำปะหลังเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถนำผลผลิตอย่างแป้งมาใช้ในแทบทุกอุตสาหกรรม อาทิ กระดาษ ไม้อัด ฝายิปซั่ม ยาสีฟัน ผงซักฟอก เครื่องสำอางแม้กระทั่งผ้าอ้อมเด็กหรือผ้าอนามัย ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลากหลายประเภท สำหรับประเทศไทยแม้จะมีการส่งออกแป้งมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่อาจไม่ใช่ความภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นการส่งออกวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวไม่ได้มีการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ บริษัทฯจึงเกิดความสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำงานที่นอกเหนือจากการขายวัตถุดิบมันสำปะหลังส่งออกเพียงอย่างเดียว บริษัทฯจึงเข้าร่วมกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ทำงานวิจัยและพัฒนาในโครงการ การศึกษากระบวนการผลิตมอลโตเดกซ์ทรินจากแป้งมันสำปะหลังในระดับห้องปฎิบัติการ และโครงการอื่นๆอีกต่อเนื่อง มอลโตเดกซ์ทริน คือ สารพอลิเมอร์ของน้ำตาลกลูโคสซึ่งได้จากการย่อยแป้งมันสำปะหลังด้วยเอนไซม์เพื่อทำให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลง มอลโตเดกซ์ทรินจัดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมกลูโคสชนิดหนึ่ง มอลโตเดกซ์ทรินมีลักษณะเป็นผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสหวาน จึงสามารถนำไปใช้เป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด เช่น การผลิตผงปรุงรส สารช่วยเพิ่มกลิ่นรส หรือแม้กระทั่งใช้ในวงการแพทย์ เช่น เป็นส่วนประกอบของการผลิตยา หรือเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ ฯลฯ “วิธีการผลิตมอลโตเดกซ์ทรินนั้น ต้องใช้ใช้เอนไซม์มาย่อยแป้งมันฯเพื่อให้ได้มอลโตเดกซ์ทริน แต่เนื่องจากเอนไซม์มีหลายชนิด ดังนั้นจึงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา หากระบวนการที่คุ้มทุนที่สุด งานวิจัยนี้จึงพยายามหาวิธีการลดต้นทุน กระบวนการผลิต และรายละเอียด ซึ่งวิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นความลับ แม้ประเทศไทยมีการผลิตแต่ยังเป็นวิธีการเฉพาะของแต่ละบริษัท และส่วนหนึ่งเป็นของต่างชาติ บริษัทฯได้ ผู้เชี่ยวชาญ iTAP ผศ.ดร.สุนันทา ทองทา เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทำให้สามารถศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตมอลโตเดกซ์ทริน ทราบว่าควรใช้เอนไซม์ชนิดไหน และคำนวนต้นทุนสำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้” โครงการการพัฒนากระบวนการผลิตมอลโตเดกซ์ทรินจากแป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นโครงการที่สองต่อเนื่อง “เมื่อสำเร็จในระดับแล็บสเกล จึงทำงานต่อในระดับใหญ่ขึ้น เพื่อศึกษาถึงปัญหาต่างๆหากจะผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยโปรเจคนี้ได้ทดลองผลิตระดับ 50 ลิตร ซึ่งจริงๆแล้วอยากให้ทำในสเกลที่ใหญ่กว่านี้ แต่ถ้าทำสเกลใหญ่เงินลงทุนค่อนข้างสูง เพราะเครื่องจักรบางชิ้นต้องสั่งจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงทดลองในระดับนี้ก่อน เพื่อให้ทราบถึงปัญหาทุกด้านอย่างรอบคอบ ก่อนผลิตในระดับอุตสาหกรรมจริง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างรอผลทดสอบ” เนื่องจากขณะนี้อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง กำลังประสบปัญหาศัตรูพืชอย่าง “เพลี้ยแป้ง”อาจทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังขาดแคลนวัตถุดิบ ผู้บริหาร บริษัทเชาวน์ดีฯกล่าวว่า “โครงการวิจัยอยู่ระหว่างการทดลอง ไม่คิดว่าจะเจอเหตุการณ์เพลี้ยแป้งลงไร่มันฯ แม้คิดวางแผนเตรียมหาคน เครื่องมือ และวางระบบผลิตไว้ แต่เมื่อเจอเหตุการณ์ดังกล่าวจึงต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากโปรเจคนี้คาดว่าจะลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท” นอกจากนี้ยังมองการทำงานวิจัยและพัฒนาว่า “การวางแผนวิจัยและพัฒนามอนโตเดกซ์ทรินเป็นการทำธุรกิจต่อเนื่องเพื่อให้ครบวงจร ซึ่งสามารถลดขั้นตอนต่างๆ เช่น ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ค่าการตลาดต่างๆ อีกทั้งหากผลิตมอนโตเดกซ์ทรินได้ในประเทศจะสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารได้หลากหลายชนิดอย่าง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มชนิดต่างๆ หรือนำไปสู่การผลิตกลูโคส เพื่อใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมองว่าการมีวัตถุดิบอยู่แล้วและการคิดอย่างรอบด้านจะสามารถต่อยอดได้” กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชาวน์ดีฯ กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมกับ iTAP ยังมี โครงการ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีโดยใช้กากและเปลือกมันสำปะหลัง โดย ผศ.ดร.โชคชัย วนภู สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยมีที่มาจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยทั่วไปกำลังประสบปัญหาเรื่องเปลือก ราก และกากมันสำปะหลังที่ตกค้างอยู่ในโรงงาน สร้างปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นโดยเฉพาะในฤดูฝน จึงต้องมีการนำของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตไปประยุกต์ใช้หลายๆด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด “คิดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมต้องกระทบกระเทือนสิ่งแวดล้อมและบริษัทฯพยายามบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวให้มากที่สุด แต่การจัดการของเหลือทิ้งต้องมีคอร์สเกิดขึ้นหรือเสียค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นแนวคิดของเราคือ การนำของเหลือทิ้งเปลี่ยนเป็นของดี สร้างให้เกิดมูลค่า อย่างของเหลือทิ้งภายในโรงงานมีกากและเปลือกมันฯประมาณ 10 ตันซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย การทำงานโครงการนี้จึงพยายามลดกระบวนการส่วนนี้ลงด้วยการหมักและนำไปใช้ได้เลย โดยเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นปุ๋ย” ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม และคาดว่าจะนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาจำหน่ายในราคาประหยัดให้แก่เกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไป นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชาวน์ดีฯ ยังให้ความเห็นที่เข้าร่วมกับโครงการต่างๆของ iTAP ว่า “ iTAP เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย เป็นตัวแทนภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือเอกชนครึ่งหนึ่ง ซึ่งสร้างความมั่นใจในการลงทุนสำหรับเอกชนว่าลงทุนไปแล้วจะได้ผลหรือไม่ เนื่องจากเครื่องมือทำงานแต่ละอย่างราคาค่อนข้างสูง อีกทั้ง หากเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยและพัฒนา จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว สามารถเรียนรู้ตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดองค์ความรู้ในองค์กรขยายไปสู่การสร้างงานอย่างครบวงจร และช่วยให้มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นในที่สุด” สำหรับผู้สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่(ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือที่ iTAP เครือข่าย มทส.โทร.0-4422-4947 ,0-4422-4921 โทรสาร 0-4422-4814 บริษัท เชาวน์ดี สตาร์ช (2004) จำกัดเลขที่ 98 หมู่ 14 ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 30210โทร.0-4433-1231-3 ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ iTAP โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 114-115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ