ภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วงครึ่งปีแรก แนวโน้มครึ่งปีหลัง และภาพรวมปี 2553

ข่าวทั่วไป Thursday August 26, 2010 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ส.อ.ท. 1. ภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยในไตรมาส 2/2553 ไตรมาส 2/2553 อุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาส 2/2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวมีแนวโน้มลดต่ำลง โดยภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรก ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในอัตราร้อยละ 6.5 และ 8.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งสินค้าวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี มอลต์ กากถั่วเหลือง อาหารสัตว์ และอาหารที่นำเข้ามาบริโภค เช่น ผลไม้สด อาหารกระป๋อง และเครื่องปรุงรส แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในช่วงที่เติบโต ในขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 206,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 24.2 ในไตรมาสแรก สินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวสูงในไตรมาสนี้ เช่น - อาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและสัตว์บกในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศเองรวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุน ทำให้มีความต้องการอาหารสัตว์ทั้งในรูปวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น - เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่มีตลาดในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องดื่มนมถัวเหลือง น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขยายตัวได้ดีตามสภาพเศรษฐกิจรวมทั้งศักยภาพในการผลิตของไทยเหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาคมาก - น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการนำเข้าในตลาดภูมิภาคขยายตัว เพราะผู้นำเข้าเกรงปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงก่อนหน้า - น้ำมันปาล์ม การส่งออกขยายตัวสูงเนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ จีน และอาเซียนมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก - ทูน่ากระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก - กุ้ง เพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตคู่แข่งยังไม่คลายตัวจากปัญหาโรคระบาด - ไก่ ขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่นเนื่องจากเงินเยนแข็งค่าส่งผลทำให้กำลังซื้อคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตไทยมีการปรับราคาสินค้าลงมาจึงสามารถแข่งขันได้ดี ส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหารในไตรมาส 2 ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เช่น ปลาป่น กากถั่วเหลือง และสารเติมแต่งอาหารสัตว์ มีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์โดยมีตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารแม้จะมีหลายกลุ่มที่มีปริมาณลดลง แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกชดเชยจากการสะสมสต็อกไว้ล่วงหน้าแล้วในไตรมาสแรก ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งปีแรกการนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ 2. ภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยในครึ่งแรกของปี 2553 ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2553 อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวทั้งภาคการผลิตและส่งออก โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 56.1 เมื่อเทียบกับร้อยละ 51.4 ในครึ่งแรกของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 122,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 411,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีก่อน สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ น้ำมันปาล์ม และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรส กุ้ง และน้ำผักผลไม้ มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 10-20 ส่วนการส่งออกข้าว ปลาแช่แข็ง และผลไม้สด ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า 3. แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง และภาพรวมปี 2553 แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 3 การส่งออกจะมีมูลค่าส่งออก 212,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 และไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าส่งออก 206,337 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกชะลอลงในครึ่งปีหลัง เช่น แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และผักผลไม้สด เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ประมงอื่นๆ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากไม่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ขณะที่การส่งออกทูน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราขยายตัวจะต่ำกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้จับปลาได้น้อยส่งผลให้ราคาวัตถุดิบทูน่าปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกไก่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาดโลก ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวดี เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์และวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส เป็นต้น ภาพรวมตลอดปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาคการผลิตจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4-5 ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 830,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นแทบทุกกลุ่มสินค้า อาทิเช่น น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ เครื่องปรุงรส กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ไก่และสัตว์ปีก ทูน่ากระป๋อง ขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ผลไม้สดที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และข้าวที่ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับข้าวต่างประเทศได้ 4. ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยสนับสนุน 1) อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สินค้าอาหารจึงมีคุณภาพ ความปลอดภัย และได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า 2) เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศจะขยายตัวร้อยละ 10.5, 9.4 และ 6.4 ตามลำดับ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มชะลอตัว 3) การเปิดเสรีการค้า เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 มูลค่าการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบ D (From D) มีอัตราขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 62 โดยการขอหนังสือรับรองฯ จะแปรผันไปตามมูลค่าส่งออกไปในแต่ละตลาด ซึ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็น 5 ตลาดส่งออกหลักและมีมูลค่าการหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้ามากที่สุด 5 อันดับแรกด้วย ปัจจัยเสี่ยง 1) เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักยังไม่ฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงในการฟื้นตัวเพราะอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 9.7 การนำเข้าเริ่มชะลอตัว รวมทั้งดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง ยุโรปมีปัญหาการบริโภคลดลงจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ ส่วนการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้นในมุมมองของประเทศคู่ค้า 2) ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิต เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและในตลาดโลกมีปริมาณลดลง และปัจจัยดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น 3) ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าระวางเรือในระยะทางไกล เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งค่าระวางเรือสำหรับตู้ขนาด 20 ฟุต เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4) อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/USD) แข็งค่า ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าต่ำกว่าระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ที่แข็งค่าอยู่ที่ 31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะมีการใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงประมาณร้อยละ 80 ของต้นทุนการผลิตรวม ขณะที่อุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบนำเข้าที่มีราคาถูกลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ