กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ชี้ประเทศไทยจะพัฒนาได้สำเร็จ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนค่านิยม ความคิดของคนในประเทศ โดยนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทาง เพื่อเสริมสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง ระบุ สถานศึกษาเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในการปลูกฝังค่านิยม หรืออุปนิสัยอยู่อย่างพอเพียงให้กับนักเรียน ด้วยการออกแบบการเรียนรู้ที่ประณีต เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เด็กได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติ และฝึกทักษะอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและคนในชุมชนต้องร่วมมือกัน
เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดงาน ตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ ๒” ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง : จากปรัชญาสู่หลักคิดและวิถีปฏิบัติ” ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา เพื่อให้คณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนของเครือข่ายสถานศึกษาพอเพียงจาก ๖๘ โรงเรียนทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านประสบการณ์ของโรงเรียนแกนนำที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้สถานศึกษาพอเพียงนอกเครือข่ายที่มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน โดยมี ผู้บริหาร ครู และนักเรียน รวมทั้งผู้แทนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานกว่า ๑,๐๐๐ คน
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษา” ว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้กับประชาชนชาวไทยนั้น “ความพอ” โดยนัยแล้วไม่ใช่เรื่องของวัตถุ แต่เป็นความลึกซึ้งที่หยั่งลึกลงในจิตคน เป็นเรื่องของใจ เมื่อใจอิ่ม จะเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นกรอบการพัฒนาที่เน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงทำให้ผู้น้อมนำมาใช้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมีความสุขที่แท้จริง สังคมแห่งความพอเพียงจะเป็นสังคมที่มีความสมดุลในด้านต่างๆ
“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต้องมองโลกเป็นองค์รวมเป็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ไม่แยกส่วน คนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น “ศรีสุดา” นักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพของแพลงตอนพืชที่เป็นอาหารของลูกปลาทู ณ แหลมแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ที่นำมาซึ่งการอนุรักษ์ป่าพลุที่แหลมแม่รำพึง เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมสำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้นักเรียนนำทฤษฎีที่เรียนในห้องมาเชื่อมโยงกับชีวิตจริง และสร้างประโยชน์ให้ชุมชนที่ตนอยู่ และนำหลักการทรงงาน รู้-รัก-สามัคคีมาใช้พัฒนาโรงเรียน”
ดร.จิรายุ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในระยะยาว จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยม และความคิดของคนในประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจเข้มแข็งนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง ซึ่งสถานศึกษาเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในการปลูกฝังค่านิยม หรืออุปนิสัย (Character Building) อยู่อย่างพอเพียงให้กับนักเรียน การปลูกฝังค่านิยมนี้ต้องอาศัยการออกแบบการเรียนรู้ที่ประณีต เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เด็กได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติ ได้ฝึกทักษะอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ดีในสถานศึกษาที่ ผู้บริหารให้ความสำคัญ ดำรงตนเป็นแบบอย่างใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารโรงเรียน ครูให้ความร่วมมือใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเรียนการสอน ออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงควบคู่ไปกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการเรียนรู้ทั้งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ฯลฯ ผู้ปกครอง เข้าใจรับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต กรรมการสถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานต้นสังกัด เป็นพลังในการสนับสนุน สร้างความต่อเนื่อง และความยั่งยืนให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ลงสู่ตัวนักเรียน
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตระหนักว่าภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน สังคมที่ดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้คนในประเทศมีสติ หยุดคิด และรู้เท่าทันต่อสิ่งต่างๆ สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ทำให้ประเทศพัฒนาไปอย่างมั่นคง จึงจัดตั้ง “โครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้สถานศึกษาพอเพียงพัฒนาตนให้มีความเข้มแข็ง สามารถสื่อความได้ชัดเจน และเป็นแกนนำสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” จำนวน ๘๔ แห่งทั่วประเทศเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๘๔ พรรษา และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เยาวชนทั่วประเทศ ในการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ การปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงลงในใจเยาวชน เพื่อให้มีหลักคิด รู้เท่าทัน สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงทั้งด้านกายภาพ และจิตใจ ในขณะเดียวกันยังเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคมก่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคง สมดุล และยั่งยืน
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เป็นเรื่องการปลูกฝังค่านิยมในสังคมไทย จึงเป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องในระยะยาว มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงจะยังคงดำเนินการการสนับสนุนให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเพื่อเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” ที่เข้มแข็ง ยิ่งขึ้น สร้างองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น และเป็นแกนนำในการขยายเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ทีมงานสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล
นันทพร คำยอด (นุ้ย) โทร.๐๒-๒๗๐๑๓๕๐-๔