สยามกัมมาจลจับมือกระทรวงศึกษาธิการ สร้างเด็กไทย “ยุคใหม่” คิดเป็น วิเคราะห์ได้ มีสมดุล

ข่าวทั่วไป Monday August 30, 2010 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ หนุนผู้บริหารและครู น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา หวังสร้างเด็กไทย “ยุคใหม่” คิดเป็น วิเคราะห์ได้ มีสมดุล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ระบุการศึกษาไทยในปัจจุบันออกแบบการประเมินไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะของผู้เรียนที่สังคมต้องการ เน้นเก่ง เกรดดี มากกว่าการประเมินผลด้านพฤติกรรม คุณธรรม และการทำความดี ส่งผลให้ได้ผู้เรียนที่ไม่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของสังคม ดร.ปรียานุช จริยวิทยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาเรื่อง “ภาพรวมทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา” เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ในงาน ตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ ๒” ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง : จากปรัชญาสู่หลักคิดและวิถีปฏิบัติ” ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการทำงานหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้จัดทำแผนการพัฒนาให้นักเรียนที่จบการศึกษาเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีความสุข และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูให้มีความรู้ ความเข้าใจ และซาบซึ้งในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับสามารถนำหลักคิดดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินชีวิต และการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างผู้เรียนที่มีอุปนิสัยอยู่อย่างพอเพียง นอกจากนี้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังได้ทำการค้นหาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้บริหารสถานศึกษา ออกแบบการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบนี้จะช่วยสร้างความกระจ่างเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาการทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นผลให้ทุกโรงเรียนสามารถสร้างผู้เรียนที่มีอุปนิสัยอยู่อย่างพอเพียง สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ ขยายความรู้ในชุมชนเพื่อสร้างสร้างชุมชนพอเพียงต่อไป นอกจากนี้ยังงานที่สำคัญอีกด้านคือ การสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำงานประสานสอดคล้องกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสู่สถานศึกษามีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้าน ดร. สมเกียรติ ชอบผล เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นทางรอดของสังคม เพราะเป็น “หลักคิด” ที่สามารถสร้างคนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นทั้งคนที่มีความคิด ทำงานเก่ง และมีคุณธรรม สามารถนำพาสังคมไทยให้ก้าวหน้าได้ แต่การศึกษาไทยในปัจจุบันนั้นยังออกแบบการประเมินไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะของผู้เรียนที่สังคมต้องการ กล่าวคือ สังคมต้องการทั้งคนดี และคนเก่ง แต่การศึกษากลับประเมินเฉพาะด้านความเก่ง คือ ประเมินแค่เกรดเฉลี่ย คะแนน ไม่มีแบบประเมินพฤติกรรม การทำความดี หรือคุณธรรม แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประเมินผู้เรียนหลายด้านๆ เพื่อให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของสังคม โดยวัดจากผลการเรียน การพัฒนาบุคลิกภาพ การเป็นพลเมืองที่ดี และการมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะออกแบบการประเมินผลให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของผู้เรียนที่ต้องการ เมื่อผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้ว การขับเคลื่อนหลักคิดจึงเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะทำงานกับคนที่มีคุณภาพ คิดวิเคราะห์เป็น รู้เท่าทันโลกภายนอก และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้าน นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่มูลนิธิสยามกัมมาจลได้ทำงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถือเป็นโอกาสในการทำความดี เป็นการวางรากฐานที่สำคัญของการศึกษา โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสมองและจิตใจ ทำให้เด็กมีสติ คิดเป็น วิเคราะห์ได้ และพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยเหตุนี้มูลนิธิฯ จึงได้จัดทำ “โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา” ขึ้น เพื่อค้นหาและสนับสนุนให้ผู้บริหารและครู ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง สามารถขยายผลการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายในโรงเรียน และขยายผลไปสู่โรงเรียนเครือข่าย มูลนิธิฯ จึงได้สนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เป็นกลไกหลักในการจัดกระบวนการเสริมศักยภาพให้กับโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นโรงเรียนเป้าหมาย พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็งขึ้นในแต่ละภูมิภาค เพื่อพัฒนาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการความรู้ของโรงเรียนทั้งระดับภาค และระดับประเทศ อีกทั้งสนับสนุนให้มีการสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สถานศึกษาพอเพียงที่มีความพร้อมในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ ๑๗ โรงเรียน สร้างองค์ความรู้ด้วยการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม โดยมี รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย และอาจารย์จากภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จัดกระบวนการ เพื่อให้โรงเรียนสามารถแสวงหาความรู้ และสร้างความรู้ และสามารถใช้งานวิจัยตรวจสอบแนวคิดเพื่อพัฒนาการทำงาน ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนเครือข่ายได้ทบทวน สำรวจตัวเอง เพื่อนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้อื่น เติมเต็มซึ่งกันและกัน นำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เกิดเครือข่ายโรงเรียนเครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียงจำนวน ๖๘ โรงเรียน และมีเครือข่ายโรงเรียนที่พร้อมเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ขยายผลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” แล้ว จำนวน ๑๔ แห่ง ซึ่งมีคุณลักษณะตามนิยามของความเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คือ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน เข้าถึงแก่นสาระของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิต เกิดจิตอาสา และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้มแข็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ