กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--มายด์ พีอาร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำคณะเข้าตรวจเยี่ยมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ติดตามความก้าวหน้าการให้บริการแสงซินโครตรอน พร้อมส่งเสริมผลงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอนเพื่อพัฒนาด้านเกษตร และอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีซินโครตรอนสู่ภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553
ฯพณฯ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้การสนับสนุนสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) : สซ. ในการพัฒนา “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาดพลังงาน 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ ซึ่งถือเป็นเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านแสงซินโครตรอนของประเทศไทยและภูมิภาคนี้ ในการสนับสนุนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น งานวิจัยด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วัสดุศาสตร์ เภสัชศาสตร์ อุตสาหกรรม และงานวิจัยด้านการแพทย์ เป็นต้น ปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการแสงสยามสามารถให้บริการและผลิตแสงซินโครตรอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยของประเทศ มีกลุ่มภาคเอกชนเข้ามาขอคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องบางส่วน ซึ่งตนได้มอบนโยบายเพื่อให้เน้นหนักงานวิจัยที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทางการเกษตร และอุตสาหกรรมของประเทศ โดยจะขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งจากการได้เข้าเยี่ยมชมศักภาพของห้องปฏิบัติการแสงสยาม และทีมนักวิจัย พบว่า มีงานวิจัยเด่นๆ หลายด้านที่สามารถใช้ในด้านเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ต้นแบบตัวอักษรเบรลล์ โดยใช้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ มาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการสร้างตัวอักษรแบรลล์ที่เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อส่งผ่านข้อมูลมายังตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ ช่วยผู้พิการทางสายตาทราบข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ผ่านตัวสัมผัสทั้ง 6 จุด ทางด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม เช่น การวิจัยเพื่อใช้จุลินทรีย์ลดการสะสมแคดเมียมในนาข้าว การศึกษาคุณสมบัติและรูปแบบทางเคมีของโลหะหนักที่สามารถนำไปสู่ความรู้เกี่ยวกับการนำพืชในกลุ่มว่านหรือพืชหัวเช่นว่านมหากาฬ ไปใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพดินที่ปนเปื้อนโลหะหนักได้ การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูกที่สกัดจากเห็ดฟาง แม้กระทั้งการนำแสงซินโครตรอนในการวิจัยลูกปัดแก้วโบราณที่ค้นพบทางตอนใต้ของประเทศไทยที่ทำให้ได้ข้อมูลในหลายมิติ เช่น พบโครงสร้างส่วนผสมหลักในระดับอะตอมธาตุทองแดงทำให้เกิดสีแดง ที่มีอายุมากว่า 700 ปี และยังคล้ายคลึงกันมากกับลูกปัดแก้วโบราณจากอิตาลีอีกด้วย
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังพร้อมให้คำปรึกษาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีการควบคุม เทคโนโลยีการวัดที่มีความแม่นยำสูง การออกแบบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีแม่เหล็ก และการผลิตชิ้นงานต่างๆ โดยได้พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตชิ้นงานที่เกี่ยวกับระบบสุญญากาศระดับสูงถึงระดับ UHV (Ultra High Vacuum) ที่ระดับความดัน 10-10 ทอร์ (torr) ถือว่ามีค่าระดับความดันที่ต่ำที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ และยังสามารถผลิตชิ้นส่วนเชิงกลแม่นยำสูงในระดับไมโครเมตร ช่วยประหยัดงบประมาณลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างมาก