กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. จับมือยูนิลีเวอร์ ยกระดับมาตรฐานอาหารกลางวันที่ดีมีคุณภาพ นำร่องใช้แผนแม่แบบโภชนาการกับโรงเรียนในสังกัด 6 แห่ง เป็นต้นแบบส่งเสริมทัศนคติและสุขภาวะการกินอย่างมีประโยชน์ พร้อมขยายครอบคลุมโรงเรียนในสังกัดทั้ง 436 แห่ง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวและลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ภายใต้ “โครงการโภชนาการเต็มร้อย” ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด โดยมี นายประสิทธิ์ ปรีชาเฉลียว กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจยูนิลีเวอร์ ฟู้ดโซลูชั่น บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ร่วมลงนาม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ยกระดับมาตรฐานโภชนาการและระบบบริหารจัดการอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนในสังกัดกทม. โดยนำร่องใช้แผนแม่แบบโภชนาการกับโรงเรียนต้นแบบในสังกัด 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนวัดลาดพร้าว เขตลาดพร้าว โรงเรียนมีนบุรี เขตมีนบุรี โรงเรียนวัดม่วงแค เขตบางรัก โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต โรงเรียนวัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน และโรงเรียนวัดดิสหงสาราม เขตราชเทวี พร้อมทั้งจัดแคมป์ให้ครูที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแข่งขันประกวดเมนูอาหารกลางวันตามหลักโภชนาการระดับประถมศึกษา มอบหนังสือ “การเดินทางของโภชนาการ คู่ความอร่อย” จัดบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทางด้านโภชนาการอาหารของเด็กนักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ เหมาะสมกับวัย พร้อมทั้งกระตุ้นเตือนให้นักเรียน ผู้ปกครอง เกิดจิตสำนึก และทัศนคติที่ดีในการเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีคุณภาพกับร่างกายนำไปสู่การเจริญเติบโตที่มีประสิทธิภาพ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประชาชนให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตั้งแต่วัยเยาว์ สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนมีศักยภาพในการจัดอาหารที่มีคุณภาพทั้งทางกายและใจแก่เด็กนักเรียนในสังกัด กทม. รวมถึงเกิดการมีสุขภาวะที่ถูกต้อง สมบูรณ์ อีกทั้งเป็นการปรับทัศนคติและพฤติกรรมการกินของเด็กให้ถูกต้อง เหมาะสมกับวัย ส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน โดยสุขภาพที่ดีจะช่วยเสริมสร้างความคิด สติปัญญาที่ดี ส่งผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจในบทเรียนได้ง่าย ซึ่งจะปรับใช้ในโรงเรียนให้ครบ 100 แห่งในปีหน้า และขยายครอบคลุมทั้ง 436 แห่งต่อไป