กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
“ดูดแก๊สมาทำไฟฟ้าเราเห็นด้วย แต่ว่าขออีกขั้นหนึ่ง มีเวลาอีกประมาณสัก 5 ปี ที่จะมาทำไฟฟ้าด้วยขยะที่สลายไบโอแก๊สออกไปแล้ว เอาออกไปและก็มาเผาด้วยเครื่องสำหรับกรองมลพิษที่ออกมาจากการเผาตั้งแต่ต้นก็มาฝัง แล้วเราก็ดูดแก๊สออกมาใช้ แล้วขุดหลังจากนั้นนำมาเผา ได้ขี้เถ้าแล้วนำไปอัด หมดจากหลุมนี้ก็เอาขยะมากลบ ก็ผลิต 10 ปี ครบวงจรแล้ว” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานนิทรรศการอุทยานวิจัยและงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2538
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการกำจัดขยะแบบครบวงจร จึงก่อให้เกิดแรงผลักดันเพื่อการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลก ดังที่รู้กันดีว่า “ขยะไม่มีวันหมด ที่ดินไม่มีวันเพิ่ม” การจัดการขยะอย่างครบวงจรตามแนวพระราชดำริจึงเริ่มต้นขึ้น...ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการกำจัดขยะแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลเป็นรายแรกและรายเดียวของประเทศไทย ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001 : 2004 จากสถาบันมู้ดดี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Moody International) ในฐานะบริษัทที่มีระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่การกำจัดขยะแบบฝังกลบในระดับสากล
หลังจากศึกษาและทดลองมานานกว่า 15 ปี ทำให้วันนี้การกำจัดขยะวิธีฝังกลบอย่างยั่งยืนผ่านการหมุนเวียนการใช้ที่ดินต่อเนื่องถาวร ประเทศไทยยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากขยะได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2552 โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 480,080 ยูนิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด จึงพร้อมประกาศความสำเร็จและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจนี้ ในงานสัมมนา “การจัดการขยะแบบครบวงจรตามแนวพระราชดำริ” ที่ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ ห้องแซฟไฟร์ 1 อาคารอิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี
ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวในงานว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ด้วยแนวพระราชดำริที่ทรงแนะเรื่องการหมุนเวียนที่ดินในการทำเป็นบ่อฝังกลบขยะ และมีการนำกลับมาฝังอีก พร้อมได้พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 1 ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นในการสนับสนุนจัดตั้ง “กองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ” ในมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2538 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการวางรากฐานการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง จนในวันนี้เรียกได้ว่าประสพความสำเร็จไปอีกขั้น โดยตลอดเวลาคณะทำงานได้ทูลเกล้าถวายรายงานเป็นระยะ”
รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ตลอดเวลาคณะทำงานได้ไปหาความรู้และดูงานที่ต่างประเทศ และได้ดำเนินการต่อมาเป็นเวลาเกือบ 15 ปี มีหน่วยงานและบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือทางงบประมาณ 5 หน่วย เป็นยอดเงินประมาณ 46,903,093.29 บาท มีอาจารย์ที่เข้าร่วมทำงานหลายท่าน แต่โครงการประสบปัญหาและอุปสรรคนานาประการ ทั้งในด้านวิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และบริหารจัดการ อาทิ แก๊สเป็นพิษ น้ำปนเปื้อน เป็นต้น จนกระทั่ง พ.ศ.2552 จึงประสพความสำเร็จ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 480,080 ยูนิต โดยมีรองศาสตราจารย์เกียรติไกร อายุวัฒน์ ผู้ร่วมวิจัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญมา ป้านประดิษฐ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกศักดิ์ เอี่ยมโอภาส ผู้ทรงคุณวุฒิประจำศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบ”
นายไชยยศ สะสมทรัพย์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประชากรในกรุงเทพมหานครผลิตขยะเฉลี่ย 1 คนต่อ 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 8,000 ตันต่อวัน และเราก็ทิ้งขยะกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ น้ำเสีย กระดาษฯลฯ ทำให้ปัจจุบันขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ต้องมีกระบวนการกำจัดอย่างถูกต้องและเท่าทัน โดยวิธีที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและขยะประเทศไทยคือการฝังกลบซึ่งกว่า 95% ในบ้านเราใช้วิธีนี้ สำหรับการจัดการขยะแบบครบวงจรได้แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 นำขยะมาฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ โดยมีระบบป้องกันเรื่องกลิ่น การปนเปื้อนของน้ำขยะและแก๊สจากขยะในบ่อฝังกลบที่ถูกต้องตามมาตรฐาน US-EPA ระยะที่ 2 จุลินทรีย์ย่อยสลายขยะได้แก๊สมีเทน ซึ่งแก๊สมีเทนที่ผ่านกระบวนการทำความสะอาด และการดักความชื้น สามารถนำไปใช้ปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าได้ โดยปริมาณแก๊สที่ผลิตได้จะมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งขนาดหลุมฝัง ประเภทขยะ และความชื้นสัมพัทธ์ เป็นต้น ระยะสุดท้ายซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง คือ การขุดขยะที่ให้แก๊สหมดแล้ว นำมาคัดร่อน เพื่อแยกส่วนประกอบผ่านกำลังคนและเครื่องร่อน จากนั้นนำขยะที่เหลือไปแปรสภาพเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ แก้ว พลาสติก ยางรถยนต์ เหล็ก นำไปรีไซเคิล ส่วนขยะที่ผ่านการย่อยสลายสามารถแยกเป็นสารปรับปรุงดินได้ เป็นต้น หลังจากนั้นเมื่อบ่อฝังกลับว่างจึงนำมาหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่ได้อย่างต่อเนื่องถาวร ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นเสมือนไม้ขีดไฟก้านแรกที่จุดประกายให้เราคิดได้ ให้มีการนำที่ดินมาหมุนเวียนเพื่อใช้ในการฝังกลบขยะ ทำให้ต่อไปนี้เราจะมีพื้นที่กำจัดขยะต่อเนื่องถาวร ซึ่งอาจกล่าวว่าไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลก นี่จึงเป็นครั้งแรกในโลก แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ”
ประธานที่ปรึกษา บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ยังกล่าวถึงประโยชน์ของการกำจัดขยะวิธีนี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเชิงธุรกิจว่า “ที่สำคัญคือการประหยัดพื้นที่ เพราะที่ดินในการใช้กำจัดขยะกินพื้นที่มาก เมื่อเราสามารถหมุนเวียนการใช้ที่ดินได้ จะทำให้เราไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ดิน และยังประหยัดน้ำมันในการขนถ่ายขยะ เพราะไม่ต้องเปลี่ยนสถานที่กำจัดบ่อยๆ เหมือนต่างประเทศ ข้อดีของการกำจัดขยะแบบฝังกลบอีกอย่างคือ ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการฝังกลบขยะเป็นวิธีการที่ประหยัดและใช้ต้นทุนต่ำกว่าการใช้เตาเผาหรือวิธีอื่นๆ จึงช่วยประหยัดเงินตราให้กับประเทศ อีกทั้งแก๊สมีเทนที่ได้จากการดูดจากหลุมฝังขยะยังสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการสำรองแหล่งพลังงานทดแทนในอนาคต และท้ายสุดเราทุกคนก็จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน”
นอกจากนี้ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ยังมีการประสานงานกับท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับกระแสพระราชดำรัส “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ไม่เพียงเป็นสถานที่สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวกำแพงแสนอันเป็นพื้นที่ก่อตั้งบ่อฝังกลบขยะ ซึ่งกว่า 90% เป็นคนพื้นที่ หากยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกตำบลพร้อมผู้นำท้องถิ่นหมุนเวียนมาเดินออกกำลังกายในช่วงเช้าตรู่รอบบ่อฝังกลบ ผ่านกิจกรรม “เสาร์สุขภาพ” ที่กำหนดจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนอีกทั้งยังประกาศให้เป็นวันหยุดประจำบริษัท เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด ตลอดจนทัศนคติต่างๆ ร่วมกันกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน และเข้าถึงด้วยการได้มาเห็นและสัมผัส ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และได้ประโยชน์ร่วมกัน
นี่เป็นตัวอย่างของการตามรอยพ่อ...ที่ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อชุมชน ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลก
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา