กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สวทช.
ครั้งแรก! นักกีฎศึกษาพบ “แสง” ที่ความเข้มแสงเพียง 0.3 ลักซ์ มีผลให้หิ่งห้อยใช้เวลาเกี้ยวพาราสีและจับคู่เพื่อผสมพันธุ์นานขึ้น จาก 30 นาที เป็น 5-7 ชั่วโมง
ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า หิ่งห้อยเป็นแมลงที่มีแสงในตัวเอง และกะพริบแสงเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์หลายท่านสันนิษฐานว่าแสงไฟในเวลากลางคืน เช่น แสงไฟจากอาคารบ้านเรือน เสาไฟฟ้า น่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการหายไปของหิ่งห้อยในหลายพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีการทดลองหรือการพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าแสงไฟมีผลกระทบต่อหิ่งห้อยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการผสมพันธุ์ จึงเป็นที่มาในการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของแสงต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยชนิด Luciola aquatilis” สนับสนุนทุนวิจัยโดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.)
“การศึกษาพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยทำได้ยาก เนื่องจากต้องสังเกตในเวลากลางคืน และยากที่จะพบเห็นหิ่งห้อยแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีหรือกำลังผสมพันธุ์กันในสภาพธรรมชาติ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพิสูจน์ผลกระทบของแสงไฟต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้ศึกษาผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากเราสามารถเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยได้เอง จึงสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการทดลองได้ เช่น อายุ หิ่งห้อยที่อายุต่างกันจะมีพฤติกรรมที่ต่างกัน หรือประสบการณ์ในการผสมพันธุ์ หากเป็นในธรรมชาติ หิ่งห้อยที่เคยผสมพันธุ์แล้วอาจจะไม่ยอมผสมพันธุ์อีกในช่วงเวลาทดลอง จึงอาจทำให้ผลวิจัยคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นหากควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้อธิบายได้ชัดเจนว่า พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยเป็นอย่างไรในสภาพที่มีแสง”
ดร.อัญชนา กล่าวต่อว่า งานวิจัยจะแบ่งออกเป็นหลายชุดการทดลอง โดยชุดการทดลองแรก จะนำหิ่งห้อยตัวผู้และตัวเมียที่ยังไม่ผ่านการผสมพันธุ์มาจับคู่เพื่อผสมพันธุ์ในห้องที่มืดสนิท (ความเข้มแสง 0 ลักซ์) และในชุดการทดลองต่อๆ ไป จะค่อยๆ เพิ่มความเข้มแสง เป็น 0.05, 0.1, 0.2 และ 0.3 ลักซ์ ตามลำดับ ซึ่งผลการทดลองพบว่า หิ่งห้อยที่จับคู่ผสมพันธุ์ในห้องมืดสนิท สามารถจับคู่ผสมพันธุ์ได้สำเร็จภายในเวลา 30 นาที แต่ถ้าในสภาพที่มีแสงสว่างมากขึ้นเรื่อย กลับพบว่าพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของหิ่งห้อยก่อนผสมพันธุ์จะนานขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งที่ความเข้มแสง 0.3 ลักซ์ นั้น พบว่าหิ่งห้อยต้องใช้เวลาถึง 5-7 ชั่วโมงกว่าจะผสมพันธุ์ได้สำเร็จ เมื่อสังเกตพฤติกรรมการผสมพันธุ์อย่างใกล้ชิด พบว่า ในห้องที่มืดสนิท เมื่อหิ่งห้อยตัวผู้บินมา เจอตัวเมีย หิ่งห้อยตัวผู้จะทำการขี่หลังตัวเมียและผสมพันธุ์กันทันที่ เราจะเห็นหิ่งห้อยมีก้นชนกัน แต่ในสภาวะที่มีแสง หิ่งห้อยตัวเมียจะไม่ยอมผสมพันธุ์ ทำให้หิ่งห้อยตัวผู้ขี่หลังตัวเมียนานมาก หรือบางครั้งหิ่งห้อยตัวผู้จะต้องเกี้ยวพาราสีโดยกะพริบแสงเป็นเวลานาน ”
ดร.อัญชนา กล่าวว่า จากการทดลองดังกล่าวสรุปได้ชัดเจนว่า แสงไฟมีผลต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยอย่างแน่นอน โดยความเข้มแสงเพียง 0.3 ลักซ์ นั้น ถือเป็นแสงที่มีความสว่างน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลอดไฟที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีความเข้มแสงถึง 320-500 ลักซ์ ดังนั้นแสงไฟจากท้องถนน บ้านเรือน หรือแม้กระทั่งจากการนั่งเรือชมหิ่งห้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อหิ่งห้อยอย่างแน่นอน โดยนอกจากจะทำให้หิ่งห้อยหาคู่เจอได้ยากแล้ว เมื่อมาเจอกันกลับยังต้องใช้เวลาในการผสมพันธุ์ที่ยาวนานขึ้น หรืออาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในการผสมพันธุ์เลยก็เป็นได้
ทั้งนี้จึงอยากฝากไปถึงประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวด้วยว่า หากเป็นไปได้อยากให้เลี่ยงการส่องแสงไฟไปที่ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยอาศัยอยู่ รวมทั้งการใช้ไฟฉายสื่อสารระหว่างเรือโดยสารในบริเวณที่ให้บริการการท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฟสีขาว โดยการครอบไฟฉายด้วยกระดาษแก้วสีแดง จะช่วยให้ผลกระทบน้อยลงได้ นอกจากนั้นบ้านเรือนที่อยู่ใกล้แหล่งที่มีหิ่งห้อย ควรลดหรือเลิกเปิดไฟในบริเวณดังกล่าว พลางแสงไฟจากบ้านเรือนโดยการใช้ม่าน หรือปรับเปลี่ยนหลอดไฟให้มีมลพิษทางแสงน้อยลง เช่น เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟที่มีที่ครอบ หรือหาวัสดุมาครอบหลอดไฟเพื่อให้แสงไฟตกลงเฉพาะบริเวณที่ต้องการเท่านั้น โดยหากวันนี้เราไม่ช่วยกันดูแลหิ่งห้อยแล้ว วันข้างหน้าก็อาจไม่เหลือหิ่งห้อยอยู่ในระบบนิเวศเลยก็เป็นได้ ดร.อัญชนา กล่าวทิ้งท้าย