สภาสถาปนิกเปิดประชุมแถลงวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าเป็นผู้นำสถาปนิกในอาเซียน เผยผลสำเร็จการบริหารงานของสภาฯ พร้อมเปิดตัวนายกสภาฯคนใหม่

ข่าวอสังหา Wednesday September 1, 2010 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สภาสถาปนิก สภาสถาปนิก จัดประชุมแถลงวิสัยทัศน์ เผยผลสำเร็จการดำเนินงานของสภาฯ ระหว่างปี 2550-2553 มุ่งวางรากฐานอย่างครบวงจรตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาในมหาวิทยาลัยและกระตุ้นผลักดันให้สถาปนิกไทยตื่นตัวเตรียมความพร้อมให้ก้าวไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดเสรีการค้าอาเซียน พร้อมเปิดตัวนายกสภาสถาปนิกคนใหม่ เพื่อสานต่อการดำเนินงานและกำหนดกลยุทธ์ ตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำสถาปนิกในอาซียนต่อไป พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก เปิดเผยถึงการเปิดสภาสถาปนิก โดยมี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษสถาปนิก ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดสภาพร้อมให้วิสัยทัศน์การบริหารงานสภาสถาปนิกของไทย พลเรือเอกฐนิธ กล่าวว่า จากการที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งนายกสภาสถาปนิก ระหว่างปี 2550 — 2553 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสถาปนิกของประเทศไทย ให้มีความคล่องตัว ความเข้มแข็ง และทัดเทียมต่างชาติมากขึ้น และก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางและเป็นผู้นำของอาเซียนให้ได้ ตลอดจนมีความพร้อมในการรับมือกับการเปิดเขตเสรีการค้าอาเซียนบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิกในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโอกาสในการที่สถาปนิกไทยจะสามารถรับงานต่างประเทศได้มากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีสถาปนิกที่มีความสามารถสูงมาก คุณภาพงานไม่ด้อยกว่าประเทศใดๆ แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ เช่น ไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมในการประกอบอาชีพสถาปนิกในต่างประเทศ และมีจุดอ่อนในด้านความไม่คุ้นเคยกับตลาดต่างประเทศ รวมทั้งด้านการตลาด การหาลูกค้า ที่ไม่สามารถแข่งขันกับสถาปนิกต่างชาติได้ ดังนั้น ทางคณะกรรมการสภาฯ จึงมีภารกิจหลัก ในการเร่งพิจารณาผลักดันปรับปรุงแก้ไขกฏระเบียบและอุปสรรคต่างๆ ในวิชาชีพอย่างครบวงจร ตลอดจนวางรากฐานที่สำคัญหลายประการซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ 1. การยกระดับและขยายโอกาสในการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยสามารถสอบได้หลายครั้ง / ปี และขยายโอกาสเปิดให้สถาปัตยกรรมสาขาวิชาอื่นได้สอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพได้ ครบทั้ง 4 สาขาวิชา ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำคลังข้อสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการออกข้อสอบ และเผยแพร่ให้สมาชิกศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และนำไปสู่การจัดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ปีละหลายๆ ครั้ง คาดว่าภายใน 1 ปี จะสามารถสอบได้ 5 ครั้ง จากเดิมสอบได้ 1 ครั้ง /ปี เท่านั้น เปิดโอกาสให้ผู้ที่พลาดหวังในการสอบ สามารถสอบได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอนานเกินไป รวมทั้งเปิดโอกาสให้สาขาวิชาอื่นๆ เช่น สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ สามารถมาสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ด้วย หลังจากที่กลุ่มสาขาเหล่านี้ ยังไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้มาเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เป็นการเปิดกว้างมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น คือสาขาสถาปัตยกรรมหลัก ที่สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ 2. จัดการเปลี่ยนแปลงให้มีการรับรองหลักสูตรด้านสถาปัตยกรรมของทุกสถาบัน ทุกๆ 5 ปี ของทุกสถาบัน จากที่เดิมสถาบันการศึกษาทุกแห่งได้รับรองหลักสูตรเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้หลักสูตรไม่ทันสมัย และไม่มีการตรวจสอบ โดยทางสภาฯ ได้มีการออกระเบียบฯ ให้มีการประเมินผลการตรวจสอบและรับรองหลักสูตรของทุกสถาบันฯ ทุกๆ 5 ปี เรียบร้อยแล้ว 3. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาวิชาชีพ เพื่อดำเนินการจัดทำข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดา พ.ศ. 2552 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง หรือ พวต. (Continuing Professional Development : CPD) คือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกระดับ โดยการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์หรือมีเนื้อหาสาระในอันที่จะยกระดับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม สภาสถาปนิกในฐานะที่เป็นหน่วยงานส่งเสริม และกำกับมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงได้ดำเนินการโครงการการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Professional Development : CPD) โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งทางวิชาชีพ และพัฒนาศักยภาพความสามารถและประสบการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการประกันมาตรฐาน และคุณภาพการให้บริการทางวิชาชีพ 4. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและจัดทำข้อกำหนด ข้อบังคับว่าด้วยการพัฒนาการประกอบวิชาชีพ CPD (หรือ Continuing Program Development หรือ พวต. หรือ การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การพัฒนาผู้ประกอบอาชีพนี้มีการตื่นตัวมุ่งพัฒนาปรับปรุงตนเองตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความทันสมัย จากการที่เป็นวิชาชีพที่เรียนจบแล้วจำเป็นต้องมีการเก็บคะแนนจากการอบรม สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา โดยทุก 5 ปี ต้องมายื่นต่อใบอนุญาตพร้อมรายงานกิจกรรมที่เข้าไปดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่สภาฯกำหนด 5. การจัดสร้างอาคารสภาสถาปนิกเป็นของตนเอง เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ในรอบ 10 ปี ของคณะกรรมการสภาฯ เป็นต้นแบบของอาคารประหยัดพลังงานที่ได้มาตรฐาน บนเนื้อที่ประมาณ 500 ตารางวา มีที่จอดรถ 80 คันและมีห้องประชุมที่หลากหลาย 6. ด้านการต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรต่างๆ การดำเนินการโครงการASEAN ARCHITECT และ APEC ARCHITECT โดยในเบื้องต้นสภาสถาปนิกได้จัดเตรียมการจดทะเบียน ASEAN ARCHITECT สำหรับสถาปนิกไทย ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการต่างประเทศได้พิจารณาจัดทำร่างกรอบการทำงานระหว่างสถาปนิกไทยและสถาปนิกต่างชาติ (Local Collaboration Framework) เพื่อเตรียมการเข้ามาทำงานของสถาปนิกต่างชาติ รวมทั้งการดำเนินการจัดทำแผนจัดตั้งสำนักงาน สภาสถาปนิกแห่งอาเซียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรและสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมของไทยให้เป็นที่ยอมรับต่อไป ทั้งนี้สภาสถาปนิกยังได้จัดการประกวดตราสัญลักษณ์สถาปนิกอาเซียนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้สถาปนิกไทยมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการของกลุ่มประเทศ ซึ่งผลงานการออกแบบจากประเทศไทยได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยจะนำไปใช้เป็นตราสัญลักษณ์สถาปนิกอาเซียนเพื่อใช้ในกลุ่มประเทศต่อไป 7. การบริหารจัดการสภาสถาปนิก มีการวางระบบการบริหารจัดการภายในสำนักงาน โดยแบ่งเป็น 7 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายเลขานุการและประสานงานการประชุม ฝ่ายทะเบียนและใบอนุญาตฯ ฝ่ายกฎหมายและจรรยาบรรณ ฝ่ายรับรองคุณวุฒิ ปริญญาและจัดสอบ ฝ่ายต่างประเทศ และฝ่ายพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องและการจัดอบรม (CPD) ซึ่งทั้งหมดได้กำหนด job description ไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การตั้งฝ่ายพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องเพิ่มขึ้น โดยเล็งเห็นว่า การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Profession Development : CPD) เป็นโครงการเพื่อพัฒนาเพิ่มเติมความรู้ให้กับสถาปนิกไทย ให้รับการฝึกอบรมทางวิชาชีพ และจัดทำเป็นหน่วยกิตคะแนนความรู้ในการขอรับใบอนุญาตฯ ซึ่งปัจจุบันองค์กรต่างประเทศได้จัดทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน และกำหนดเป็นเกณฑ์การเข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ จึงถือเป็นข้อตกลงที่นานาประเทศยอมรับ ดังนั้น สภาสถาปนิกจึงจำเป็นต้องมีการวางรากฐานการดำเนินการให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมการสำหรับสถาปนิกไทยในการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ทัดเทียมกับนานาประเทศให้ชัดเจนต่อไป พลเรือเอกฐนิธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการมอบหน้าที่ให้นายกสภาฯ ท่านใหม่ดำเนินการนั้น ขอฝาก 2 ด้านที่สำคัญ จากพื้นฐานที่วางไว้แล้ว คือ การศึกษาและการต่างประเทศ จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การสอบ การรับรองสถาบันการศึกษา ส่วนเรื่องการต่างประเทศต้องก้าวเข้าสู่เวทีโลก “เราต้องเป็นศูนย์กลางของสถาปนิกอาเซียนและเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ เราเป็นประเทศที่เปิดการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมมานานถึง 75 ปี แล้วเรามีสถาปนิกจำนวนมาก เรายอมไม่ได้ที่จะให้ประเทศอื่นมาเป็นผู้นำด้านนี้ “ พลเรือเอกฐนิธกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ สภาสถาปนิก คุณอมรรัตน์ และคุณจุติบดี โทร. 0-2318-2112 ต่อ 173,175

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ