โพลล์ชี้ คุณธรรมคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล น่าห่วง มีสติ มีวินัย น้อยกว่าคุณธรรมด้านอื่น และยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น

ข่าวทั่วไป Monday June 11, 2007 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--เอแบคโพลล์
“โพลล์ชี้ คุณธรรมคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล น่าห่วง มีสติ มีวินัย น้อยกว่าคุณธรรมด้านอื่น และยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น” ครม.เตรียมออกระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม ส่งผลทุกหน่วยราชการตื่นตัวขับเคลื่อนงานคุณธรรมเร่งด่วน
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบคโพลล์ ร่วมแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อสถานภาพคุณธรรมในสังคมไทย จำนวน 2,506 ตัวอย่าง พบ ความมีสติ มีวินัย และมีความซื่อสัตย์น้อยกว่าคุณธรรมด้านอื่น
ฯพณฯ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในภาวะที่สังคมไทยต้องการความสมานฉันท์ คุณธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศฝ่าอุปสรรคไปได้ ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องมีในทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหาร คุณธรรมของคณะรัฐมนตรีคือ ต้องเข้าใจ ฟังเสียงประชาชน ไม่ยึดติดอำนาจ ต้องสร้างมาตรฐานใหม่ในเรื่องความรับผิดชอบ ในประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม เคยมีรัฐมนตรีประกาศลาออก พร้อมขอโทษประชาชน ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า กลไกสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการสร้างเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ครม.จึงได้อนุมัติ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติที่จะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในสังคมเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่เพื่อให้การส่งเสริมคุณธรรมเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอขั้นตอนของการผ่านกฎหมาย จึงเตรียมออก ‘ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ’ ซึ่งจะออกได้รวดเร็วกว่า คาดว่าสามารถเข้า ครม.ได้ภายใน 1 เดือนและประกาศใช้ได้เลย โดยระเบียบนี้จะช่วยส่งเสริมคุณธรรมในภาพรวม คือจะเกิดคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เสนอแนะกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ แผนแม่บทเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม ซึ่งจะมีผลผูกพันต่อหน่วยงานภาครัฐจะต้องตื่นตัวในการคิดแผน นโยบายหน่วยงาน พร้อมทั้งประสานความร่วมมือ และดำเนินการรณรงค์สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมอย่างกว้างขวาง
นางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากศูนย์คุณธรรมได้ร่วมกับคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร. นงลักษณ์ วิรัชชัย ทำวิจัยเรื่องตัวบ่งชี้คุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาและพัฒนาการ ผลการวิจัยพบว่า ตัวบ่งชี้คุณธรรมจริยธรรม ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการเฝ้าระวังระดับคุณธรรมในสังคมไทย ประกอบด้วย 6 ตัวบ่งชี้ คือ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต สติสัมปะชัญญะ จิตอาสา และความขยันหมั่นเพียร
“ศูนย์คุณธรรมจึงเห็นควรดำเนินการสำรวจสภาพคุณธรรมในสังคมไทย สำหรับใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจวางยุทธศาสตร์สร้างกลไกกระตุ้นประชาชน ขับเคลื่อนให้เฝ้าติดตาม ระวังพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ของประชาชน และรักษาไว้ซึ่งคุณธรรมในสังคมไทย ทั้งนี้ศูนย์คุณธรรม และเอแบคโพลล์ จะยังร่วมกันสำรวจสถานภาพคุณธรรมของประชาชนในสังคมไทยอีก 7 ครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีก 18 จังหวัดทั่วประเทศ คาดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2550 จากนั้นจะทำการเผยแพร่ผลการศึกษาเป็นระยะ รวมถึงผลสรุปในภาพรวมเพื่อนำเสนอสู่สื่อมวลชน และสาธารณชนต่อไป” ผ.อ.ศูนย์คุณธรรม กล่าว
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อสถานภาพคุณธรรมในสังคมไทย พบว่า ความคิดเห็นต่อคุณธรรมโดยรวมอยู่ที่ 66.3 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยมีคุณธรรมด้านความมีสติสัมปชัญญะได้คะแนนต่ำสุดคือ 61.7 ความซื่อสัตย์สุจริตได้ 62.4 และความมีวินัยได้ 62.7 ในขณะที่ ความรับผิดชอบได้ 67.6 ความขยันหมั่นเพียรได้ 69.5 และคุณธรรมด้านจิตอาสาช่วยเหลือสังคมได้คะแนนสูงสุดคือ 71.7
ผ.อ.ศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจยังพบด้วยว่าคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่าร้อยละ 90 ของตัวอย่างทั้งหมด มีความเอนเอียงที่จะคิดทำอะไรโดยไม่คิดมากเพราะกลัวเสียโอกาส นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 70 ที่เอนเอียงยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นถ้าทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น และร้อยละ 82.8 มีความเอนเอียงที่จะฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคมถ้ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 54.6 จะช่วยเหลือสังคมทุกครั้งที่มีโอกาส และร้อยละ 58.0 มักใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ พัฒนาความสามารถตนเองอยู่เสมอ
นายนพดล กล่าวด้วยว่า เมื่อแยกออกเป็นชายกับหญิง พบว่า หญิงมีค่าคะแนนคุณธรรมสูงกว่าชายเล็กน้อยคือ 66.6 ต่อ 65.9 และพบด้วยว่า คนที่อายุระหว่าง 18 — 20 ปีมีค่าคะแนนคุณธรรมต่ำกว่าคนช่วงอายุอื่นๆ คือ 64.2 และยังพบด้วยว่า คนที่จบ ม.ปลาย และ ปวส. มีระดับคุณธรรมสูงกว่าคนที่จบการศึกษาระดับอื่นๆ คือได้ 67.4 อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกออกตามอาชีพแล้วพบว่า กลุ่มนักศึกษามีระดับคุณธรรมต่ำกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ คือได้ 63.8 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำระดับคุณธรรมของนักศึกษามาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยคุณธรรมโดยภาพรวมแต่ละด้าน พบว่า กลุ่มนักศึกษามีระดับคุณธรรมด้านความมีสติสัมปะชัญญะ ความซื่อสัตย์สุจริต และความมีวินัย ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยภาพรวมของคุณธรรมแต่ละด้าน กล่าวคือ ความมีสติสัมปะชัญญะ นักศึกษาได้ 59.1 ต่อภาพรวมได้ 61.7 ความซื่อสัตย์สุจริต นักศึกษาได้ 59.9 ต่อภาพรวมได้ 62.4 และความมีวินัย นักศึกษาได้ 62.4 แต่ภาพรวมได้ 62.7 ตามลำดับ
ด้านพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส รักษาการ ผบ.ตร.ในฐานะประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม กล่าวถึงผลการวิจัยครั้งนี้ว่า คุณธรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริต และความมีวินัย เป็นคุณธรรมที่มีระดับต่ำกว่าคุณธรรมด้านอื่นๆ ในสายตาของประชาชน ผลสำรวจที่ค้นพบเช่นนี้ ประชาชนคนไทยควรให้ความสนใจหันหน้ามาช่วยกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและมีวินัย
ประธานศูนย์คุณธรรม กล่าวต่อว่า ตลอดชีวิตของการรับราชการตำรวจที่ผ่านมา ได้พบความเป็นจริงมากมายที่จะบอกประชาชนว่า ความซื่อสัตย์สุจริตและความมีวินัยเป็นคุณธรรมหลักของคนไทยแต่ละคนและของประเทศโดยรวม ประชาชนคนไทยแต่ละคนจะมีความก้าวหน้ามั่นคงอย่างยั่งยืนต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและวินัยต่อตนเองและสังคม นอกจากนี้ ประเทศไทยจะวิกฤตหรือไม่วิกฤตซ้ำซากก็อยู่ที่คุณธรรมหลักทั้งสองด้านนี้เช่นกัน พวกเราคนไทยต้องแสดงจุดยืนในการรักษาความมีวินัยและต่อต้านคนโกงทุกรูปแบบ
“ในเรื่องนี้ทุกฝ่ายในสังคมควรรับรู้ข้อมูลสำรวจครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ ความตระหนัก และแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคุณธรรมของ สังคมไทย อะไรที่ไม่ดีต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้นในสังคม คนที่ไม่มีวินัย เช่น ไม่รู้จักเข้าแถวเข้าคิวรอ เอาธุระของตนเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นใจคนอื่นๆ ที่มีธุระเร่งรีบเช่นกัน คนพวกนี้ถ้าขับรถและเจอรถติดยาวก็มักจะชอบไปแซงเบียดเอาข้างหน้า บุคคลเหล่านี้ต้องถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะเป็นตัวอย่างไม่ดีทำให้เกิดการเลียนแบบ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจับกุมลงโทษให้จดจำไม่ทำผิดอีก ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ กล่าว
พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผลสำรวจที่ออกมาน่าเป็นห่วงตรงที่ ประชาชนจำนวนมากยอมรับ หรือปล่อยให้มีการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าการทุจริตคอรัปชั่นนั้นทำให้ตนเองกินดีอยู่ดี ซึ่งกลุ่มบุคคลที่คิดเช่นนี้เป็นกลุ่มคนที่คิดสั้น ขาดสติ ไม่คิดหน้าคิดหลัง หวังจะได้เพียงเพื่อความอยู่รอดชั่วคราว เช่น ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนบางคนอาจเห็นดีเห็นงามไปกับเงินซื้อสิทธิขายเสียงเพียงไม่กี่ร้อยบาท โดยไม่คิดให้มากไปกว่านั้น ว่านักการเมืองที่ซื้อเสียงก็จะไปโกงงบประมาณแผ่นดินเพื่อถอนทุนคืน ประเทศชาติจะเสียหายจนทุกคนในชาติจะอยู่ไม่ได้ เพราะนักการเมืองหรือรัฐบาลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อเป็นคนหนึ่งขาดวินัย ทุจริตคอรัปชั่นแล้วสังคมปล่อยให้ลอยนวลไม่มีการลงโทษให้สมกับความผิด คนอื่นๆ ก็จะทำตาม ผลที่ตามมาก็คือ สังคมก็จะประสบวิกฤตการณ์ซ้ำซาก เป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น
“แนวทางป้องกันแก้ไขคือ การสร้างจิตสำนึกและหากลไกสนับสนุนคนไทยในประเทศให้มีวินัยและมีความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่กระตุ้นให้คนไทยใส่ใจตระหนักยึดมั่นคุณธรรม ซื่อสัตย์ในจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองและองค์กร อันจะช่วยลดปัญหาคอรัปชั่นเชิงนโยบายทั้งโดยตรงและทางอ้อม เพื่อประชาชนคนไทยแต่ละคนและประเทศชาติโดยรวมจะได้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมีคุณธรรมยั่งยืนตลอดไป” ประธานศูนย์คุณธรรม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ