กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--ก.ล.ต.
สืบเนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทบางแห่งมีความกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของผู้ปฏิบัติและความเหมาะสมของการนำมาตรฐานการบัญชีสากล (International Accounting Standards : IAS) มาใช้เป็นมาตรฐานการบัญชีไทยอย่างเต็มรูปแบบ ก.ล.ต. ขอชี้แจงว่า สภาวิชาชีพบัญชีและ ก.ล.ต. ได้เคยแถลงร่วมกันว่า จะปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากล หรือ IAS เพื่อให้งบการเงินของกิจการในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้เสร็จสิ้นทั้งหมดภายในปี 2550
อย่างไรก็ดี ในการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว ก.ล.ต. ได้มีการหารือกับสภาวิชาชีพบัญชีและมีนโยบายร่วมกันว่าจะไม่ใช้วิธีบังคับให้กิจการในไทยต้องปฏิบัติตาม IAS ทั้งหมดแบบไม่มีข้อยกเว้น โดยในขั้นตอนการยกร่างนั้น สภาวิชาชีพบัญชีจะหารือกับภาคเอกชนเพื่อศึกษาผลกระทบ ปัญหา และอุปสรรคในการปฏิบัติตาม IAS แต่ละฉบับอย่างรอบคอบ ซึ่งหากพบว่า ข้อกำหนดใดของ IAS ยังไม่เหมาะสมหรือยังไม่สามารถปฏิบัติได้ในประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชีก็จะอนุญาตให้กิจการ ใช้วิธีการบัญชีเดิมเป็นทางเลือก (local option) ได้ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้การทำบัญชีของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาวะของประเทศ
อนึ่ง มาตรฐานการบัญชี IAS39 Financial Instrument: Recognition and Measurement นั้น เป็นมาตรฐาน ที่มีความยุ่งยาก และมีประเด็นทางเทคนิคมาก ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชียังอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง และเมื่อสภาวิชาชีพบัญชียกร่างแล้วเสร็จก็จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป เพื่อให้สภาวิชาชีพบัญชีได้มีโอกาสรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการนำ IAS39 มาใช้ เพื่อนำความเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรฐานการบัญชีดังกล่าวต่อไป