ก.อุตสาหกรรม ดันไทยบุกตลาดอาหารฮาลาลโลก สศอ.จับมือสถาบันอาหาร ระดมสมองหนุนยุทธศาสตร์ฮาลาล 5 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday September 2, 2010 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ก.อุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จับมือ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าหนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยช่วงชิงตลาดอาหารฮาลาลโลก ที่มีศักยภาพเติบโตสูง มีมูลค่าราว 6.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี นอกเหนือจากตลาดอาหารฮาลาลเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม(OIC) ที่มีมูลค่า 8.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งไทยนั่งตำแหน่งผู้ส่งออกเป็นอันดับ 5 หรือร้อยละ 5.2 จัดสัมมนาใหญ่ระดมสมอง วิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของมาเลเซีย เปรียบเทียบศักยภาพทางการค้ากับไทย พร้อมแสวงหาความร่วมมือ แนะกลยุทธ์กระตุ้นผู้ส่งออกไทยบุกตลาดอย่างมั่นใจ สอดรับกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) หวังยกระดับภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยให้แข่งขันได้ในตลาดอาหารฮาลาลโลก นายศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ตลาดอาหารฮาลาลในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม(Niche market) โดยอาหารที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอาหารฮาลาลทั่วโลกได้นั้น มีมูลค่าทางการตลาดในตลาดโลกประมาณ 6.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี คิดเป็นร้อยละ 76 ของตลาดการค้าอาหารโลกที่มีมูลค่ากว่า 8.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากประชากรในประเทศมุสลิมมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันตลาดอาหารฮาลาลไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะประเทศในตลาดตะวันออกกลาง หรือตลาดผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีจำนวนกว่า 1,600 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลกเพียงเท่านั้น แต่ได้รับความนิยมแม้ในกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิม ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกมีความจำเป็นต้องยกระดับสถานภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศ ควบคู่ไปกับการแสวงหาความร่วมมือในการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลกับประเทศที่มีศักยภาพ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศมาเลเซีย จึงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการกำหนดแนวทางเพื่อวางกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก” นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ผลการวิจัย เรื่อง “วิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมาเลเซียและแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ของไทย” เนื่องจากประเทศมาเลเซียเป็นทั้งผู้ผลิต ส่งออก และนำเข้าในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่มีอัตราขยายตัวของมูลค่าตลาดในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การวิจัยดังกล่าวจะทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบความสามารถทางการค้า โครงสร้างด้านกฎหมาย กระบวนการสร้างความเชื่อมั่น กลยุทธ์การส่งเสริมอุตสาหกรรม SWOT Analysis และ Porter’s 5 Forces Model และนำไปสู่การกำหนดร่างแผนกลยุทธ์การแข่งขันของประเทศไทย และที่สำคัญเป็นการระดมความคิดเห็นมุมมองการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปวางกลยุทธ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ฮาลาลไทยในการขยายตลาดมาเลเซียและตลาดโลกอีกด้วย” นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดอาหารฮาลาลภายในประเทศมาเลเซียนั้นมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดอาหารฮาลาลส่งออกก็เริ่มขยายตัวในระดับสูง สินค้าอาหารทั้งหมดในตลาดมาเลเซียประมาณร้อยละ 70-80 เป็นอาหารที่ได้รับการรับรองฮาลาล โดยในปี 2552 มาเลเซียมีส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลโลก(ตลาดในกลุ่มประเทศ OIC) ร้อยละ 4.6 ต่ำกว่าไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.2 ส่วนแบ่งตลาดของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อปีในช่วงปี 2548-2552 จากร้อยละ 5.7 ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของมาเลเซียจากร้อยละ 4.7 ต่อปีในช่วงปี 2548-2552 จากร้อยละ 5.0 ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น มาเลเซียมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศอย่างจริงจังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างชัดเจนภายใต้แผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3 (Third Industrial Master Plan: IMP3, 2006-2020) โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนาประเทศมาเลเซียไปสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลของโลก (Global Halal Hub) ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวไม่ได้เน้นการพัฒนาเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล (Halal Food Products) เท่านั้น แต่ได้ขยายกรอบการพัฒนาให้กว้างขึ้นครอบคลุมสินค้าและบริการฮาลาลประเภทอื่น (Non-Halal Food Products) เช่น เครื่องสำอาง ยาและเวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่บริการที่เกี่ยวข้อง ด้านนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศไทยว่า เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2544-2545 ต่อมาในปี 2552 มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาล ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งระยะสั้นและระยะยาว และบูรณาการการทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2553 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาล โดยความร่วมมือระหว่าง 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ร่างกรอบ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) ซึ่งมียุทธศาสตร์หลัก 5 ข้อ ได้แก่ 1) การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล 2) การเสริมสร้างศักยภาพการตรวจรับรองฮาลาล 3) การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล 4) การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ และ 5) การบริหารจัดการเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมธุรกิจและการค้าฮาลาล ทั้งนี้โดยมีสถาบันอาหารและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในการดำเนินงานผลักดันอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก สำหรับผลการวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมาเลเซียและแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ของไทยในครั้งนี้กล่าวเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศหรือ OIC (Organization of the Islamic Conference) ซึ่งมีจำนวนประชากรราว 1,500 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของประชากรมุสลิมทั่วโลกนั้น ในปี 2552 การค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 88,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 13.5 จากปี 2551 เนื่องจากในปีดังกล่าวเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อย่างไรก็ตามอัตราขยายตัวของมูลค่าการค้าอาหารฮาลาลโลกโดยเฉลี่ยยังคงสูงกว่าการค้าอาหารโดยรวมของโลก ซึ่งตลอดระยะ 5 ที่ผ่านมาอัตราขยายตัวของการค้าอาหารฮาลาลโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ต่อปี สูงกว่าอัตราขยายตัวของการค้าอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10.4 ต่อปีเท่านั้น สำหรับประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลสูงที่สุด 10 อันดับแรก มีเพียงมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้นที่เป็นประเทศมุสลิม โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกอันดับ 8 และ 9 ตามลำดับ ส่วนอีก 8 อันดับเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามเป็นหลัก โดยมีบราซิลเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.7 ของตลาดประเทศมุสลิม รองลงมาได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย และไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 2, 3, 4 และ 5 โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.8, 6.0, 5.3 และ 5.2 ตามลำดับ “ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่าข้อเสนอเชิงกลยุทธ์สำหรับประเทศไทยที่ได้จากการวิจัยมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล พ.ศ. 2553-2557” โดยสามารถสรุปได้ 5 ด้านดังนี้ 1. การบริหารจัดการ (Management) ควรเร่งผลักดันยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาล เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 2. การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge) โดยทำการวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และอื่นๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม การตลาด และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยเฉพาะด้านแหล่งเงินทุน ด้านแหล่งวัตถุดิบฮาลาล ระบบการผลิต ระบบขนส่งและ โลจิสติกส์ และกฎระเบียบต่างๆ 4. การพัฒนาบุคลากร (Human Development) โดยการพัฒนาทักษะแรงงานเดิม ขณะเดียวกันก็พัฒนาทักษะแรงงานใหม่ โดยขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการเพิ่มหลักสูตรวิชาชีพด้านฮาลาลเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน “อาหารฮาลาลไทย” ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 5. การพัฒนาการตลาด (Market Development) โดยการสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าท้องถิ่นที่เป็นชาวมุสลิม ตลอดจนการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล ทั้งทางด้านการเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการค้า การลงทุน การออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการเป็นศูนย์กลางในการเจรจาหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล นอกจากนี้ยังควรเร่งกระตุ้นจิตสำนึกของคนในประเทศให้รู้ว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลโลก อาทิ การสร้างปัจจัยเชื่อมโยงตราสินค้า การสร้างภาพลักษณ์ที่เชื่อม “ฮาลาล” กับไทย รวมถึงการกระตุ้นผ่านองค์กรต่างๆ ที่เป็นศูนย์รวมของประชาคมมุสลิม การเพิ่มชนิดและประเภทสินค้าให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารฮาลาลเพื่อสุขภาพ อาหารฮาลาลอินทรีย์ รวมทั้งการจัดหาผู้นำเข้า(Importer)หรือผู้จัดจำหน่าย เพื่อกระจายสินค้าไปยังผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก รวมทั้งโรงงานสำหรับใช้ในการผลิตสินค้า และจัดหาคนท้องถิ่นเพื่อช่วยในการทำตลาด เนื่องจากเข้าใจในวัฒนธรรมของแต่ละตลาดมากกว่า จากข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตและบริการฮาลาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับแก่ลูกค้ามุสลิมทั่วโลก และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มอาหารมุสลิมได้” นายเพ็ชร กล่าว รายละเอียดเพิ่มเติม : สุขกมล งามสม email : sukkamon12@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ