กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--EXIM BANK
EXIM BANK แนะผู้ส่งออกไม่เก็งกำไรค่าเงินบาท ใช้ประโยชน์จากภาวะเงินบาทแข็งนำเข้าเครื่องจักร พัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาว และบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้บริการรับจองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าและสินเชื่อสกุลดอลลาร์สหรัฐ
ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาวะเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันน่าจะเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ประการแรกคือ กระแสเงินไหลเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดตราสารหนี้ และประการที่สองคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้งและมีแนวโน้มจะขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเงินบาทแข็งค่าทำให้ผู้ส่งออกไทยชะลอการขายเงินดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า รวมทั้งชะลอการขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับการชำระเงินจากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางธุรกิจของผู้ส่งออกไทย EXIM BANK ตระหนักดีถึงความเดือดร้อนดังกล่าว จึงพร้อมจะให้บริการรับจองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) โดยเฉพาะผู้ส่งออก SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไม่ควรคิดเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ควรมุ่งพัฒนาศักยภาพการผลิตในระยะยาว โดย EXIM BANK พร้อมจะให้สินเชื่อแก่ผู้ส่งออกสำหรับใช้หมุนเวียนในกิจการช่วงก่อนส่งออกเป็น 2 สกุลเงินได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐหรือบาท ผู้ส่งออกสามารถเลือกกู้เงินจาก EXIM BANK เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐได้ตั้งแต่วันแรกที่รับคำสั่งซื้อ
ประธานกรรมการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า EXIM BANK ยังให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในภาวะปัจจุบัน EXIM BANK พร้อมสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์จากภาวะเงินบาทแข็งโดยการเร่งนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาว
“ผู้ส่งออกควรมุ่งพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ไม่คิดเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และหยุดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้บริการรับจองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และสินเชื่อสกุลดอลลาร์สหรัฐ” ดร.นริศกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-7