บทความ: ถึงหูฉันไม่ได้ยิน...แต่ก็อยากเล่นดนตรีให้เธอฟัง

ข่าวทั่วไป Friday September 3, 2010 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล “หากแสงไฟบนโลกนี้สิ้นลง พวกเราก็ไม่สามารถรับรู้อะไรได้แล้ว” นี่คือเสียงตัดพ้อที่ออกมาจากก้นบึ้งแห่งความรู้สึกของผู้พิการทางการได้ยิน หรือ “คนหูปิด” แต่ถึงที่สุดแล้ว คนหูปิดก็ยังสามารถใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ รับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ได้แม้โลกจะมืดก็ตาม และหากมีการฝึกฝนที่ดี คนหูปิดก็สามารถเล่นดนตรีได้เช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยได้ยินเสียงดนตรีมาก่อนเลยก็ตาม คำถามคือ พวกเขาเล่นได้อย่างไร!!! นายคทาวุธ ศรีมนตรี หรือ “วุธ” นักศึกษาคณะดุริยางคศิลป์ สาขาดนตรีสากล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มละครเอ๊าะเป๊าะที่จัดทำ “โครงการค่ายการแสดงสำหรับนักเรียนพิการทางการได้ยิน” ส่งเข้าประกวดในโครงการ “กล้าใหม่…สร้างสรรค์ชุมชน” หรือ SCB Challenge Community Projects 2009 ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปี ๒๕๕๒ ด้วยหวังว่า “ละคร” จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนหูปิดและคนหูปิด กับคนหูปิดและคนหูดี และ “วุธ” คือสมาชิกคนสำคัญในการเพิ่มสีสัน แห่งการเชื่อมร้อยคนหูปิด-หูปิด คนหูดี-คนหูปิดเข้าด้วยกัน ผ่านเสียงดนตรี วุธ ในฐาะสมาชิกกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีที่สุด จึงคิดที่จะเสริมกิจกรรมการแสดงละครด้วยการสอนน้องหูปิด “ตีกลอง” คำถามคือ วุธสอนด้วยวิธีไหน แล้วคนหูหนวกจะเรียนดนตรีได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่ได้ยินเสียง!!! วุธ บอกเล่าถึงสาเหตุที่เลือกกลองเพราะกลองเป็นเครื่องดนตรีที่คุมจังหวะ ซึ่งจังหวะเป็นพื้นฐานขั้นต้นของการเรียนดนตรีทุกประเภท อีกทั้งกลองยังเป็นเครื่องดนตรีที่มีแรงสั่นสะเทือนที่สามารถสะท้อนกลับมายังผู้เล่นได้ค่อนข้างชัดเจนกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ และดูเหมือนว่าโจทย์ที่ท้าทายของ วุธ ไม่ใช่แค่เพียงการสอนให้น้องหูปิดเล่นดนตรีได้เท่านั้น แต่โจทย์วัดใจประการแรกคือ การสื่อสารกับน้องๆ หูปิดได้ แต่นั่นไม่ใช่กำแพงที่จะปิดกั้นความพยายามของ วุธ วุธ เริ่มต้นความพยายามในการสื่อสารกับน้องหูปิดด้วยการเขียนตอบโต้กันระหว่างเขากับน้องหูปิด พร้อมๆ กับขอให้ครูที่รู้ภาษามือมาช่วยสื่อสารผ่านวุธไปสู่น้องๆ ขณะเดียวก็พยายามเรียนรู้ภาษามือง่ายๆ จากน้องๆ ส่วนเรื่องตีกลอง วุธให้น้องๆ ได้คุ้นเคยกับเครื่องดนตรีโดยให้น้องสัมผัส จับต้องและตีอย่างอิสระ จากนั้นจึงใช้วิธีการตีให้ดูทีละรูปแบบ เพื่อให้น้องหูปิดเล่นตาม เมื่อน้องเล่นได้แล้วจึงค่อยขยับไปรูปแบบอื่นต่อไป “เมื่อน้องตีกลองเป็นแล้ว ผมจะไม่บังคับให้น้องตีตามรูปแบบที่ผมสอน แต่ผมพยายามให้น้องคิดและตีไปตามที่พวกเขาอยากตี” วุธยึดหลัก ๓ ข้อในการสอนตีกลองคือ ๑.เล่นให้น้องดู ๒.สอนให้น้องเล่น และ ๓.ปล่อยให้น้องเล่นเอง ระยะหลัง วุธจึงไม่บังคับให้น้องต้องตีไปตามรูปแบบที่เขาตีให้ดู แต่จะให้อิสระทางความคิดสร้างสรรค์ให้น้องตีไปตามใจที่พวกเขาอยากจะเล่น และพัฒนาทักษะด้านดนตรีด้วยการให้น้องหูปิดที่เริ่มตีกลองเป็นพอสมควรแล้ว ไปสอนให้กับเพื่อนๆ หูปิดกันเอง ด้วยวุธเชื่อว่าคนหูปิดด้วยกันจะมีเทคนิคในการสอนที่เข้าใจกันง่ายกว่า “ผมสังเกตเห็นน้องที่เก่งแล้วสอนเพื่อนที่ยังเริ่มต้นไม่ค่อยได้ คือ เขาจะมีภาษามือในการสอนกันเอง เช่นถ้าเขาคิดสร้างสรรค์อยากตีกลองแบบ ๓ ชั้น เขาก็จะทำสัญญาณมือบอกกันเอง ซึ่งมันเป็นลักษณะการถ่ายทอดต่อๆ กัน ทำให้เพื่อนที่ตีกลองด้วยกันได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน” ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น วุธ ไม่ได้หวังให้น้องหูปิดต้องตีกลองเก่งเท่ากับเขาหรือคนปกติทั่วไป แต่วุธต้องการเห็นการพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการได้เรียนดนตรี วุธบอกว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ทักษะด้านการดนตรีจริงๆ แล้วอาจเป็นพัฒนาการที่น้อยที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับน้องหูปิดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่น้องหูปิดจะได้รับการพัฒนาอย่างมากคือ ได้รับการพัฒนาสมองซีกซ้าย เพื่อความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการทางอารมณ์ สติ สมาธิ และการได้ทำงานเป็นทีม การตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ “จากวันแรกที่ผมได้สัมผัสกับน้องๆ หูปิดในกลุ่มตีกลองด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย พวกเขาจะใจร้อนมาก โดยเฉพาะเวลาที่ตัวเองเล่นเป็นแล้ว แต่เพื่อนยังเล่นไม่ได้ เขาจะไม่รอเพื่อน จะให้ผมสอนล่วงหน้าให้เขาเลย แต่ผมจะไม่ใช้วิธีนั้น ผมจะไม่ยอมสอนให้จนกว่าพวกเขาจะพัฒนาขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งทำให้พวกเขาต้องสอนให้กัน ดูให้กัน รักกัน สามัคคีกัน และคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกัน วันนี้พวกเขาจึงใจเย็นมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะดนตรีก็ได้” วันนี้เป็นที่ยืนยันได้ว่า ไม่เพียงแต่ละครเท่านั้นที่จะเชื่อมคนกลุ่มคนหูปิดและหูดีให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นแต่ “ดนตรี” ก็สามารถเชื่อมคนหูปิดและคนหูดีให้เข้ามานั่งฟังดนตรีบนเวทีเดียวกันได้ วุธสามารถทำให้น้องหูปิดโรงเรียนโสตศึกษา จ.ขอนแก่น คิดชุดการแสดงออกมาเพื่อให้ทั้งคนหูดีและคนหูปิดได้ชม ซึ่งพบว่าได้รับคำชื่นชมจากคนหูดีว่า เป็นการแสดงที่ดีมากชุดหนึ่ง และแทบไม่รู้เลยว่าคนที่กำลังตีกลองอยู่นั้น ไม่ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่พวกเขากำลังเล่นอยู่เลย และนั่นคือความภาคภูมิใจของวุธ ที่บอกว่านอกจากคำชมเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ทำให้วุธยังต้องสอนน้องหูปิดตีกลองอยู่ทุกวันนี้ก็คือ “การได้เห็นรอยยิ้ม และสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุขระหว่างการแสดงดนตรีของน้องหูปิด” “สีหน้าและการแสดงออกของพวกเขามันออกมาจากใจจริงๆ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ยินเสียงก็ตาม คนดูถามผมว่าทำได้อย่างไร เขารู้สึกทึ่งมากที่น้องๆ หูปิดสามารถตีกลองเป็นจังหวัด ๓ ช่าได้ มาร์ชก็ได้ หรือแม้แต่เชิดสิงห์โตทำได้” นายกิตติกร สายโรจน์ หรือ “แมน” อายุ ๑๘ ปี นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา จ.ร้อยเอ็ดซึ่งได้รับการถ่ายทอดการตีกลองจากกลุ่มเอ๊าะเป๊าะ บอกเล่าผ่านภาษามือว่า การเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเอ๊าะเป๊าะทำให้ตนได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และรู้สึกสนุกมากกับการตีกลอง และไม่เพียงแต่การตีกลองเท่านั้น ตนยังได้เรียนรู้เรื่องการทำฉากละคร การแต่งหน้า และการแต่งตัวละคร ปัจจุบัน “แมน” เป็นผู้นำเรื่องการตีกลอง เขาสามารถสอนเพื่อนๆ ในวงได้แล้ว แม้จะยังไม่เคยแสดงให้ใครดู แต่เท่าที่ฟังเสียงตีของน้องๆ หูปิดกลุ่มนี้พบว่าพวกเขาสามารถตีกลองหลายๆ ใบเข้ากันได้เป็นอย่างดี และไม่มั่วแน่นอน ... “ผมรู้สึกดีที่ได้ตีกลอง ตอนนี้พวกผมมีวงแล้ว หากชำนาญเมื่อไรก็อยากเล่นให้คนหูดีและหูปิดดู อยากนำชื่อเสียงมาให้โรงเรียน” นายเชี่ยวชาญ เพียรพาณิช หรือ “ไซโคลน” อายุ ๑๙ ปี นักเรียนชั้นม.๔/๒ หนึ่งในนักดนตรี และยังเป็นนักแสดงหูปิดได้ด้วย บอกว่า การได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ทำให้เกิดความสุขและเป็นการพัฒนาความรู้ของตัวเองไปด้วย หากตนเรียนจบในระดับปริญญาตรี ก็อยากจะกลับมาเป็นครูสอนดนตรีสอนละครให้ผู้พิการหูปิดด้วย นอกจากความภาคภูมิใจที่วุธได้รับจากการสอนน้องๆ แล้ว สิ่งที่การรันตีความสำเร็จอีกประการหนึ่งก็คือ “โครงการค่ายการแสดงสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน” ของกลุ่มละครเอ๊าะเป๊าะ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถคว้ารางวัลโครงการที่มีผลการดำเนินงานดีเยี่ยมลำดับรองชนะเลิศอันดับ ๒ ระดับอุดมศึกษา จากโครงการ “กล้าใหม่…สร้างสรรค์ชุมชน” หรือ SCB Challenge Community Projects 2009 ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประจำปี ๒๕๕๒ มาครองได้ในที่สุด สอบถามรายละเอียดและภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่ 0-2270-1350 - 4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ