กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 2553 หัวข้อ “In the Midst of the Mist, Where Are We Heading?” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน: ความท้าทายและบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย” พร้อมทั้ง Mr. Aninda Mitra, Vice President, Senior Analyst จาก Moody’s Investors Service บรรยายเรื่อง “Moody’s Mid-Year Outlook for Asia-Pacific Sovereign Ratings” รวมทั้งกรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้งบรรยายเรื่อง “ตรวจสุขภาพของภาคธุรกิจจริง”
ปัจจุบัน ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนรวมทั้งสิ้น 95 ราย โดยมีมูลค่าตราสารหนี้ที่จัดอันดับเครดิตรวมกว่า 544,579 ล้านบาท จากการประเมินธุรกิจของผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งในปี 2552 พบว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกไม่มากนัก ในขณะที่ปัญหาความรุนแรงภายในประเทศในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงแรม และสายการบิน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนมากเริ่มกลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศเนื่องจากความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับคืนมา
ในส่วนของภาพรวมและแนวโน้มของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่กล่าวถึงในการสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย พลังงาน โทรศัพท์มือถือ ตลอดจนธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจหลักทรัพย์ โดยทริสเรทติ้งกล่าวถึงภาพรวมและแนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล่านี้ดังนี้
ธุรกิจที่อยู่อาศัย: ภาพรวมอุตสาหกรรมยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยเฉพาะในส่วนของอาคารชุดที่มีการเสนอขายโครงการใหม่จำนวนมาก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจำนวนห้องชุดที่จดทะเบียนใหม่ถึง 46,452 หน่วย จากข้อมูลของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งทั้ง 11 รายพบว่าในปี 2553 ปริมาณรวมของโครงการอาคารชุดที่ผู้ประกอบการดังกล่าวมีแผนการจะเสนอขายมีถึงประมาณ 25,000 ยูนิตจากจำนวนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่จะเสนอขายโครงการใหม่รวมทั้งสิ้นกว่า 60,000 ยูนิตในปีเดียวกัน ในส่วนของผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรของผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยอาจจะลดลงประมาณ 3%-4% ซึ่งเป็นผลจากการสิ้นสุดมาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2553 นอกจากนี้ ยังคาดว่าผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ประกอบกับผลของอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะกระทบต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการต่อเนื่องไปในระยะปานกลาง อย่างไรก็ดี ผลประกอบการและโครงสร้างเงินทุนของผู้ประกอบการส่วนมากยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งเนื่องจากมีหนี้สินต่อทุนที่ยังต่ำอยู่ซึ่งจะทำให้สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ขยายโครงการต่อไปได้ แม้ว่าจะมีความต้องการซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อใช้พัฒนาโครงการใหม่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ทิศทางราคาที่ดินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่หลายรายมีแผนการซื้อที่ดินในจำนวนที่สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมาจะทำให้ภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น นอกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่ออันดับเครดิตของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ยังพิจารณาถึงนโยบายทางการเงินของผู้ประกอบการในการก่อหนี้เพื่อขยายกิจการด้วย สำหรับการจัดอันดับเครดิตผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งจะยังให้ความสำคัญกับภาระหนี้สิน สภาพคล่องทางการเงิน และความสามารถในการบริหารสินค้าคงเหลือ
ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่: ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ในตลาดนี้จะเติบโตประมาณ 3%-5% ในปี 2553 จากสภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยและความต้องการบริการด้านข้อมูล แต่การแข่งขันอาจจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อผู้ประกอบการแต่ละรายเพิ่มค่าใช้จ่ายในงบการตลาด ในขณะที่การประมูลใบอนุญาต 3จี อาจจะยังคงเดินหน้าตามกรอบเวลาเมื่อบริษัทย่อยของผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 รายยื่นความประสงค์ที่จะเข้าร่วมประมูลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 กระนั้นก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากว่าการประมูลจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นท่ามกลางปัญหาทางด้านกฎระเบียบต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไรก็ดี หากการประมูลใบอนุญาตสามารถดำเนินการได้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเข้าสู่ศักราชใหม่ของการลงทุน โดยภาวะการแข่งขันน่าจะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อ Mobile Number Portability เริ่มใช้ในปี 2554 ทริสเรทติ้งคาดว่า 3จี จะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนสำหรับตลาดอย่างน้อยประมาณ 1 แสนล้านบาทในช่วง 4 ปีข้างหน้า ปัจจัยในการพิจารณาด้านอันดับเครดิตของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประกอบด้วย การพิจารณาความแข็งแกร่งทางการตลาดของผู้ประกอบการ ความสามารถในการเปลี่ยนต้นทุนสัมปทานที่ระดับ 25%-30% เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ระดับ 6%-7% จากการย้ายโครงข่ายของผู้ใช้บริการ และความแข็งแกร่งของงบดุลในการรองรับภาระหนี้จากการลงทุนโครงข่ายในอนาคต
ธุรกิจพลังงาน: ทริสเรทติ้งเห็นว่า ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะได้รับอันดับเครดิตในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยผู้ประกอบการ 3 รายจากทั้งหมด 5 รายได้รับอันดับเครดิตระดับ “AA” จากทริสเรทติ้ง โดยผู้ประกอบการเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านการเงินที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแลโดยภาครัฐอย่างใกล้ชิด รวมทั้งลักษณะที่ผู้ประกอบการส่วนมากมีโครงสร้างสัญญาที่ลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่น สัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าที่ทำระหว่างผู้ซื้อไฟ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ช่วยให้สามารถลดความผันผวนของความต้องการซื้อไฟในอนาคตได้ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่น่าจะเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว โดยที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 5% ทั้งนี้ ในปี 2552 ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศมีการหดตัว แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังคงเติบโตได้ที่ระดับ 0.28% โดยส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 สำหรับผลประกอบการของผู้ผลิตไฟฟ้านั้น พบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ผลิตไฟฟ้าที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 4 ราย มีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนระหว่างปี 2551-2552 อยู่ที่ประมาณปีละ 18,000-20,000 ล้านบาท และคาดว่าจะยังคงสูงต่อไปในระยะปานกลาง และในครึ่งแรกของปี 2553 ผู้ผลิตไฟฟ้ามีการลงทุนไปแล้ว 16,000 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มธุรกิจนี้ในอนาคตนั้น เชื่อว่าการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในการประมูลโรงไฟฟ้าอาจทำให้กำไรของผู้ประกอบการบางรายมีแนวโน้มลดลง แต่โครงสร้างการซื้อ-ขายไฟฟ้าน่าจะช่วยลดความกังวลจากความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะตลาดที่ผันผวนได้ อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าน่าจะได้รับผลกระทบมากจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ในอนาคตผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าน่าจะให้ความสำคัญกับการนำพลังงานรูปแบบใหม่มาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงาน (PDP 2010) ของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น
ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์: สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยและทริสเรทติ้งพบว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วน 36%-38% ของสินเชื่อเพื่อการบริโภครวมในระหว่างปี 2550-2552 โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ด้วยการขยายพอร์ตสินเชื่อรถยนต์อย่างรวดเร็วและการซื้อกิจการของผู้ประกอบการเอกชนอื่น ๆ ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 470 พันล้านบาทในปี 2548 เป็น 764 พันล้านบาทในปี 2552 โดยสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 49% ในปี 2548 เป็น 63% ในปี 2549 และยังเพิ่มต่อเนื่องเป็น 81% ในปี 2551 และ 83% ในปี 2552 ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อของผู้ประกอบการเอกชนทั่วไปลดลงจาก 36% ในปี 2548 เหลือเพียง 4% ในปี 2552 เท่านั้น อย่างไรก็ดี สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รวมในปี 2552 ลดลง 5% ด้วยสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การลดลงอย่างมากของยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ดำเนินนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นหลังจากที่สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้พุ่งขึ้นจาก 1% ในปี 2550 เป็น 2.2% ในปี 2551 การควบคุมนโยบายสินเชื่อที่ผ่านมามีผลทำให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในระดับ 1.6% ได้ในปี 2552 ทริสเรทติ้งมองว่าโอกาสของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับการเติบโตของความต้องการซื้อรถยนต์ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของช่องทางและเครือข่ายบริการที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สนองพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และแรงจูงใจจากกฎเกณฑ์ของทางการที่อนุญาตให้ธนาคารขยายฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีน้ำหนักความเสี่ยงต่ำกว่าสินเชื่อปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงสร้างแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนของสินเชื่อเช่าซื้อ ในขณะที่ทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อเช่าซื้อลดลง นอกจากนี้ คุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างระมัดระวังต่อไป
ธุรกิจหลักทรัพย์: ทริสเรทติ้งเห็นว่าปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ Subprime ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตทางการเงินของโลกในปี 2551 นั้นได้ส่งผลให้ตลาดทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างมาก ในปีดังกล่าว ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ลดลง 47.5% เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยดัชนีลดลงต่ำสุดในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ประมาณ 387.15 จุด และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเหลือเพียง 15,870 ล้านบาท หรือลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤตผ่านพ้น ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ก็เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดย ณ สิ้นปี 2552 ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นถึง 734.54 จุดโดยเพิ่มขึ้น 63.25% เมื่อเทียบกับปี 2551 ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 17,850 ล้านบาท ถือว่าเป็นปีทองของตลาดหุ้นไทย การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปี 2553 โดย ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ดัชนีปิดที่ 890.45 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.23% เทียบกับสิ้นปี 2552 ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนอยู่ที่ประมาณวันละ 23,580 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.2 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 นอกจากนี้ ค่า P/E ที่ 13.94 เท่าในเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดในแถบเอเชีย (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ เกาหลี และฟิลิปปินส์) ด้วยกันแล้วจะเห็นว่าค่า P/E ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การเปิดให้มีการซื้อขายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 แม้ในช่วงปี 2551 ที่เกิดวิกฤตการเงิน โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ SET50 Index Futures ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอยู่ที่ประมาณวันละ 8,498 สัญญา หรือเพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ในปี 2552 ตลาดอนุพันธ์ได้เปิดให้มีการซื้อขาย Gold Futures เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปรากฎว่านักลงทุนได้ให้ความสนใจซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2552 Gold Futures มีปริมาณการซื้อขายเป็นอันดับที่ 2 รองจาก SET50 Index Futures นอกจากนี้ สถานะคงค้างของทั้งตลาดก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย ณ เดือนสิงหาคมมีประมาณ 74,000 สัญญา เพิ่มขึ้นมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับปี 2552 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ตลาดอนุพันธ์มีแผนจะเปิดให้มีการซื้อขาย Interest Rate Futures เพิ่มเติม ดังนั้น ปริมาณการซื้อขายน่าจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสามารถขยายกลุ่มฐานนักลงทุนออกไปได้อีก
ทริสเรทติ้งคาดว่าหนึ่งในความท้าทายที่ธุรกิจหลักทรัพย์กำลังจะเผชิญ คือ การเปิดเสรีไม่ว่าจะเรื่องค่าธรรมเนียมในการซื้อขายและใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ในปัจจุบันถือว่ายังเปิดเสรีเพียงบางส่วนเพื่อให้ธุรกิจเตรียมพร้อมที่จะรองรับการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 นอกจากนี้ ปัญหาความผันผวนที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่จะกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งนี้ หลังจากการเปิดเสรีเต็มรูปแบบแล้ว สภาพการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการเดิมและรายใหม่ รวมทั้งจากการมีระบบซื้อขายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ระบบ Alternative Trading System (ATS) และระบบ Direct Market Access (DMA) เป็นต้น
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รายได้หลักที่เคยมาจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นรายได้ที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อเป็นการกระจายแหล่งรายได้ในการรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น การควบรวมทางธุรกิจและการหาบริษัทคู่ค้าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและลดต้นทุนในการดำเนินงาน ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดมีการเตรียมตัวและวางกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถก้าวผ่านความท้าทายที่จะเกิดขึ้นได้