กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สหมงคลฟิล์ม
“หม่อมน้อย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล” หวนคืนเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์อีกครั้งในรอบ 13 ปี กับการถ่ายทอดบทประพันธ์ชั้นดี...ที่ยังร่วมสมัย มาเป็นโศกนาฏกรรมรักชั้นเยี่ยม...ที่จะตราตรึงทุกหัวใจ ในภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย”
แรงบันดาลใจที่หยิบยกเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” มารีเมคใหม่อีกครั้งหลังจากห่างหายจากการกำกับหนังไปนานสิบกว่าปี
คือโดยแท้แล้วไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้ทำหนังเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ประทับใจมากตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แล้วก็อ่านหลายครั้งหลายครามาก รวมทั้งภาพยนตร์ก็ได้ดูถึงสองครั้งที่เค้าสร้าง ก็ประทับใจมาก ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้สร้างเป็นภาพยนตร์โดยตัวเองกำกับ เพราะทราบว่าใครๆก็อยากทำ ผู้กำกับหลายท่านก็อยากทำไม่ว่าจะเป็นคุณวิจิตร คุณาวุฒิ, ท่านมุ้ย, ยุทธนา มุกดาสนิท หรือจะเป็น เป็นเอก รัตนเรือง คือเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ทุกๆ คนอยากจะทำ มีคุณค่าทางด้านความหมายของชีวิต ความหมายของความรัก แล้วก็ความเข้มข้นของตัวละคร แล้วก็เนื้อหาสาระที่ลึกซึ้งอันนี้ยังไม่นับรวมภาพและฉากในเรื่องที่น่าประทับใจ น่าตื่นตาตื่นใจ
จนกระทั่งเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) นัดมาคุยเนี่ย เราก็ตั้งตัวไม่ค่อยติดเพราะว่าจริงๆ แล้วความปรารถนาแท้ๆ เนี่ยเป็นความปรารถนาของคุณเจียงเลยที่อยากให้ทำเรื่องนี้ เพราะตอนแรกเราก็ยังไม่ได้มีความตั้งใจจะทำภาพยนตร์ในช่วงนี้ แล้วคุณเจียงก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา แกก็ถามว่ามีเรื่องอะไรมั้ยที่น่าสนใจ เราก็บอกว่าช่วงนี้ยังไม่อยากทำอะไรเลย แต่ถ้าถามถึงความต้องการจริงๆ ก็จะมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากทำมานานแล้วก็คือเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” คุณเจียงก็บอกว่า เออก็ทำเรื่องนี้เลยสิ เพราะแกก็รู้จักเรื่องนี้เป็นอย่างดี และคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่มีคุณค่า เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเมืองไทย และเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังมาก่อนแล้วด้วย ประกอบกับเป็นความตั้งใจของเราที่อยากทำเรื่องนี้ด้วย เพราะมีโอกาสได้อ่านเรื่องสั้นมาตั้งแต่สมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อนแล้วก็ได้ดูหนังเวอร์ชั่นเก่าด้วย ก็คิดว่าเรื่องนี้สมควรที่จะถูกทำเป็นภาพยนตร์มากๆ
โดยท่านก็มีไอเดียอยู่แล้วว่าอยากให้ “อนันดา เอเวอริ่งแฮม” กับ “เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์” เล่น ซึ่งทั้งคู่ก็เป็นลูกศิษย์ของผมเอง ก็เลยยิ่งเอ๊ะ...ฝันไปหรือเปล่าเนี่ย อยู่ๆ ก็ได้มาทำเรื่องนี้จริงๆ โดยที่ได้ลูกศิษย์เรามาถ่ายทอด โดยมีบริษัทหนังใหญ่สนันสนุนอีกด้วย ก็เลยกลับไปอ่านอีกทีหนึ่งก็ยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าเป็นภาระด้วยเป็นความหนักใจด้วย เพราะว่าไม่ได้ตั้งตัวเลย
คือสำหรับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” เนี่ยมีความรู้สึกว่าอยากดูคนอื่นทำ เพราะเป็นเรื่องที่เราประทับใจแล้วเราชอบมาก ทีนี้พอต้องมาทำเองก็รู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักอยู่เหมือนกันว่าจะต้องทำยังไงให้มันออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ก็ต้องกลับไปศักษางานของ “ครูมาลัย ชูพินิจ” อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โชคดีที่ผมเคยกำกับละครโทรทัศน์เรื่อง “แผ่นดินของเรา” ซึ่งครูมาลัยท่านก็เป็นผู้แต่ง ก็จะมีความใกล้เคียงกันอยู่ แล้วก็กลับไปศึกษาประวัติของท่านอีกครั้งหนึ่งด้วย ถึงตั้งสติทำ Pre-production คือการเตรียมงานทั้งหมด โดยที่คิดว่าจะรักษาวรรณกรรมเรื่องสั้นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การดำเนินเรื่องเลยจะใกล้เคียงกับในหนังสือมากที่สุด มากกว่าในเวอร์ชั่นอื่นๆ ที่เคยทำมา คือเราซื่อตรงกับบทประพันธ์มาก อาจพูดได้ว่าเรารักษาบทประพันธ์ไว้ 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จะมีเพิ่มหรือขยายความขึ้นก็ไม่มากนัก แต่ก็ยังอยู่ในพื้นฐานหรือว่าบทประพันธ์ของท่าน เพราะมันเกิดจากบทประพันธ์ที่ดีเหลือเกิน ทั้งเนื้อหาสาระ อารมณ์ของเรื่อง มันสมบูรณ์มาก แต่ก็คิดหนักเหมือนกันนะว่าจะทำออกมาในแบบไหน เพราะไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ แต่ก็เอาบทประพันธ์เรื่องนี้มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ทีนี้จากจุดนั้นก็เลยมีแรงบันดาลใจเกิดขึ้นมาว่า เนื้อหาสาระไม่เพียงแต่สนุกในแง่เรื่องราวอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ประเด็นพระเอกเป็นชู้กับเมียอาเพียงแค่ประเด็นนั้น แต่มันกลับกลายว่ามีประเด็นทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก คือการไร้สติสัมปะชัญญะของมนุษย์ แล้วก็การตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาของตัวละครสองตัว คือ “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” ได้กระทำสิ่งที่เป็นบาปซึ่งนำไปสู่ความหายนะของชีวิต
การตีความบทประพันธ์
คือในระยะเวลา 2-3 ปีหลังเนี่ยเราเองก็ศึกษาทางพุทธศาสนามากขึ้น ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิม แล้วก็ละเอียดอ่อนมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นว่าชีวิตมนุษย์คืออะไร ทำให้เข้าใจตัวละครมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น เข้าใจธาตุแท้ของตัวละครมากขึ้น ก็พูดได้ว่า มันเป็นเรื่องที่ตีแผ่สันดานดิบ สิ่งที่ซ่อนลึกเบื้องหลังตัวละครทุกตัว เพราะฉะนั้นตรงนี้เนี่ย พุทธศาสนาได้ทำให้เราประจักษ์ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ของคน แล้วก็อะไรที่ทำให้มนุษย์เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประเด็นเดียวกับที่ผู้ประพันธ์คือ “ครูมาลัย ชูพินิจ” ซ่อนอยู่ในบทประพันธ์ของท่าน เลยคิดว่า นอกจากในเชิงบันเทิงแล้วเนี่ย เรื่องนี้มีคติสอนใจ มีภาพของธรรมชาติที่สะท้อนว่ามนุษย์เป็นทาสของอะไร เป็นทาสกิเลสโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว อันนี้ก็ถือเป็นแก่นหลักของหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความคิดที่เกี่ยวกับเชิงความรัก เพราะมนุษย์เราพอเกิดมีความรักก็จะเกิดความผูกพันอยากใกล้ชิดกับสิ่งที่ตัวเองรัก แรกๆ ก็จะเป็นสุขดี แต่ต่อๆ มามันก็จะเริ่มเบื่อหน่ายแล้วก็ต้องการอิสระ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ก็คือเกิดคนเดียวและตายคนเดียว มนุษย์มีอิสรภาพ ตรงนี้เป็นสัจธรรม และเป็นสิ่งที่ทุกคนมีแต่มองข้ามไปในทุกยุคทุกสมัย ประเด็นของเรื่องนี้เป็นอมตะ ไม่เชยเลย ถึงแม้จะเขียนเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว
ในช่วงของการเตรียมงานสร้าง ได้มีการรีเสิร์ชข้อมูลยังไงบ้าง แล้วมันยากง่ายแค่ไหน
มันยากตั้งแต่ตัวเรื่องแล้วล่ะเรื่องนี้ คือโดยโครงเรื่องเนี่ยมันไม่สามารถเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันได้ เพราะว่าท่านแต่งเรื่องนี้เนี่ยในปี 2486 ในสมัยรัชกาลที่ 8 นะฮะ ในสมัยสงครามโลกเนี่ย เพราะฉะนั้นในความน่าเชื่อต่างๆ เนี่ยมันเหมาะกับยุคนั้น มันไม่สามารถจะดัดแปลงเป็นยุคปัจจบันได้ โดยพื้นเพของสังคม ของวัฒนธรรม ของประเพณี ในความเชื่อของคนในสังคม เพราะฉะนั้นเราเลยจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรื่องในปี 2486 ซึ่งเป็นปีแรกในการแต่งเรื่องนี้พอดี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องศึกษาในประวัติศาสตร์ในยุคนั้นจริง ซึ่งยุคนั้นคือยุคสงครามโลก แล้วก็ตัวเรื่องเนี่ยดำเนินโดยคนเล่าซึ่งคงเป็นตัวครูมาลัยเองซึ่งไปพบกับโศกนาฏกรรมชีวิตของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง แล้วก็เล่าออกมาสู่นวนิยายเรื่องสั้น เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าการดำเนินเรื่องทั้งหมดคงเป็นไปในตามหนังสือถ้าจะดี คือผู้เล่าเนี่ยเป็นนักประพันธ์แล้วเดินทางเข้าไปตั้งใจที่จะไปล่าสัตว์ในป่าตามคำเชิญของพะโป้ซึ่งเป็นคหบดีชาวพม่า เจ้าของสัมปทานป่าไม้แทบกำแพงเพชร-ตาก แล้วเมื่อเข้าไปที่นั่นเค้าก็ได้พบกับความลึกลับกับความน่าฉงนต่างๆ ของหลายๆ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเนี่ยความยากของมันคือเรื่องมันเริ่มต้นที่ปี พ.ศ. 2486 แล้วก็ย้อนไปอีก 10 ปีซึ่งเป็นปี 2476 ซึ่งเป็นปีที่สองของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเรา แน่นอนที่สุดมันต้องศึกษาสองสมัยเลยทั้งพ.ศ. 2486 กับ 2476 ว่าเป็นยังไง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้สึกนึกคิด ทางด้านอิทธิพลทางการเมืองที่มีมาเกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเสื้อผ้า ฉาก ทุกอย่างต้องมองย้อนกลับไปในปี 2486 ไม่พอ ยังต้องย้อนไปในปี 2476 อีก เพราะฉะนั้นเนี่ยการบ้านของทุกฝ่ายเนี่ยก็จะค่อนข้างยาก เพื่อจะให้เกิดความสมจริงในภาพยนตร์เรื่องนี้
ซึ่งระยะเวลาในการเตรียมงานก็ประมาณครึ่งปีได้กว่าจะถ่ายทำ ทุกฝ่ายก็ทำงานอย่างเร่งรีบมาก แล้วก็ความยากของเรื่องแรกคือการเขียนบทก็ค่อนข้างยาก เพราะว่าเป็นนวนิยายเรื่องสั้นบางๆ แล้วก็เป็นเรื่องเล่า ส่วนใหญ่จะเป็นจะเป็นการพูดคุยกันของคนเล่าเรื่องกับทิพย์ซึ่งเป็นผู้จัดการปางไม้ลูกน้องของพะโป้เนี่ย ก็จะมีการสนทนากันแล้วก็ย้อนกลับไปย้อนกลับมา แล้วก็มักจะเป็นคำบรรยายมากกว่า เพราะฉะนั้นในการสร้างบทภาพยนตร์เนี่ยจะค่อนข้างยาก เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องเล่าอย่างเดียวเนี่ยถ้าเป็นภาษาหนังสือก็โอเค แต่ว่าพอเป็นภาพแล้วมันอาจจะไม่สนุก ต้องขยายความให้มากกว่านั้นอีก แล้วกับภาษาของท่านของครูมาลัยซึ่งเป็นความเด่นของเรื่องนี้มีภาษางดงามมาก ท่านใช้ภาษาไทยได้ไพเราะมากเกือบจะพูดได้ว่าเป็นบทกวี เพราะฉะนั้นเนี่ยเราเลยจับว่าในแง่การสร้างภาพเนี่ย ภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้เนี่ยจะต้องงามเหมือนบทกวี ให้เหมือนงานศิลปะ เพราะฉะนั้นเนี่ยมันก็จะต้องทำการบ้านเยอะมากที่จะแปลคำบรรยายออกมาเป็นภาพที่สวยงาม และรักษาไว้ด้วยภาษาที่งดงามของท่าน
ใช้เวลานานแค่ไหนในการเขียนบท
เขียนจริงๆ มันไม่นานเลย แต่ว่าตอนคิดน่ะนาน ขั้นตอนการคิดมันเริ่มมาตั้งแต่ตอนที่ตัดสินใจจะทำเรื่องนี้แน่ๆ มันก็เริ่มคิดมาจากตรงนั้น บวกกับตะกอนเก่ามันยังมีอยู่ ตะกอนเดิมมันยังมีอยู่ตั้งแต่สมัยอ่านแรกๆ ตอนเป็นนักศึกษา อ่านหลายเที่ยวด้วย แล้วอย่างที่บอกได้ทำละครเรื่อง “แผ่นดินของเรา” มาแล้วด้วย ซึ่งครูมาลัยเขียนหลัง “ชั่วฟ้าดินสลาย” แต่คาแร็คเตอร์ตัวละครมีอะไรที่ใกล้เคียงกันอยู่ ทำให้คุ้นกับงานของครูมาลัย เรื่องราว แล้วแถมอยู่ในยุคสมัยเดียวกันด้วยนะ จริงๆ โทนของเรื่องก็ใกล้เคียง คาแร็คเตอร์ก็ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นขั้นตอนการคิดใช้เวลา 4 เดือน แต่ตอนเขียนใช้เวลาแป๊บเดียว ไหลลื่นมาก ใช้เวลาเขียนเพียง 3 อาทิตย์เท่านั้น แต่ปกติเราเป็นคนเขียนบทเร็วอยู่แล้ว ขั้นตอนคิดน่ะนาน
แล้วก่อนที่จะเขียนเราก็ไปเลือกโลเกชั่นหลายๆ ที่ ตอนแรกๆ ยังไม่ปักใจว่าจะใช้ที่ไหน ตอนแรกคิดถึงเชียงใหม่, เมืองกาญจน์ แต่ตอนหลังทีมงานก็แนะนำถึงเชียงราย มีแม่น้ำ ป่าเขา เหมือนตอนที่ครูมาลัยไป แล้วเชียงรายก็ยังเป็นโลเกชั่นที่เวอร์จิ้นอยู่ ยังสมบูรณ์มาก ไม่ค่อยมีใครมาถ่าย เพราะเชียงใหม่ก็ถ่ายกันเยอะแล้ว เมืองกาญจน์ก็ปรุแล้ว ยิ่งเขาใหญ่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่เชียงรายยังใหม่มาก พอไปเห็นโลเกชั่นจริงๆ ก็หลงเลย ยังเวอร์จิ้นจริงๆ ยังงามจริงๆ ยิ่งตรง “น้ำตกขุนกรณ์” เนี่ย มันมีพันธุ์ไม้ที่มีที่นี่ที่เดียว ยังไม่เคยมีใครถ่ายทอดมาก่อน ภูเขาสลับซับซ้อนตามความคิดเราเลย เพราะในตอนเริ่มเรื่องเนี่ย จะเห็นแนวภูเขาสลับซับซ้อนซึ่งเปรียบเหมือนใจมนุษย์เรานี่เอง มีความงาม ลึกลับสลับซับซ้อนให้เราอยากเข้าไปค้นหา ซึ่งเชียงรายมีความสมบูรณ์มากที่สุด แล้วยังมี “ลำน้ำกก” มีเกาะอยู่ตรงกลาง เหมือนที่ครูมาลัยเคยไปเที่ยวป่าแล้วเป็นแรงบันดาลใจให้แกเขียนนวนิยายหลายๆ เรื่องออกมา ซึ่งการที่ได้โลเกชั่นมาก่อนก็ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นเวลาที่เขียนบทออกมา ซึ่งช่วงนั้นก็เป็นช่วงเดียวกับที่พัฒนาความคิดก่อนการเขียนบท
ในแง่เนื้อหาสาระของหนัง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดในสมัยโบราณ แต่ก็ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย
คือความเด่นของงานเขียนในบทประพันธ์ทุกงานของครูมาลัย ชูพินิจเนี่ย คือท่านเป็นพหูสูตรมาก คือท่านไม่ได้เป็นนักประพันธ์ที่เขียนเฉพาะนวนิยายอย่างเดียว ท่านเขียนบทความ ท่านเขียนสารคดี ทั้งทางด้านการเมือง ทางด้านกีฬา ทางด้านบันเทิง คือท่านเป็นพหูสูตรมากแม้ในเรื่องต้นไม้ ท่านมีความรู้มาก เพราะฉะนั้นเนี่ยทุกงานที่ท่านกลั่นกรองมาเนี่ยจะเป็นอมตะ ที่ถือความเป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์เป็นหลัก งานของท่านจะสะท้อนแก่นแท้ของมนุษย์ มีการสะท้อนว่าอะไรคือคุณความดี อะไรคือสัจธรรม อะไรคือธรรมะ อะไรคือศีลธรรม อะไรคือกิเลส ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องชีวิตของคนที่เป็นคนจริงๆ นวนิยายของท่านไม่ได้มีแค่นางเอก พระเอก ผู้ร้าย ตัวละครของท่านเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี มีทั้งความกล้าหาญ ความขี้ขลาด ความเกลียด ความชัง เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อมีวิญญาณ เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อมีวิญญาณเนี่ยก็จะไม่มีคำว่าเชยเกิดขึ้น ก็ยังคงเป็นมนุษย์ คือไม่ว่าสภาวะทางสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือความเจริญก้าวหน้าจะเป็นเช่นไร ก็ยังคงเป็นมนุษย์ยังมีความหยิ่งทะนงในเกียรติภูมิ มีความต้อยต่ำ มีความรัก มีความริษยา มีความทะยานอยาก มีความปรารถนา ยังมีกิเลสตัณหาในทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม แต่มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นเนี่ยแก่นแท้ของท่านก็ยังคงไม่มีคำว่าเชยเกิดขึ้นแน่นอน
เรื่องราวของ “ชั่วฟ้าดินสลาย” พูดถึงอะไรบ้าง
จะพูดไปมันก็ตัณหาราคะนั่นแหละ พูดง่ายๆ คือในโครงสร้างแล้วเนี่ยภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินโดยพล็อตเรื่อง เพราะพล็อตมีอยู่สั้นๆ นิดเดียวเท่านั้นเอง ก็คือหลานชายเป็นชู้กับเมียของอา อาซึ่งมีบุญคุณอย่างสูงมากที่เลี้ยงตัวเองมาราวกับพ่อบุญธรรม คือมีบุญคุณสูงมาก แล้วตัว “ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ซึ่งเป็นตัวละครเอกก็เป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ตายไป แล้วก็อาชุบเลี้ยงเอาไว้ ซึ่งทั้งคู่เนี่ยเป็นชาวพม่า ตัว “พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) เนี่ยเป็นคหบดีชาวพม่าที่มาได้สัมปทานป่าไม้ในแทบกำแพงเพชร-ตาก แล้วก็ร่ำรวยมีอาณาจักรของตัวเองในกลางป่า ก็มีหลานชายคนเดียวชื่อส่างหม่อง ซึ่งพะโป้ก็ได้เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กแล้วก็รักเหมือนลูก ให้ความรัก ให้ความรู้ ให้การศึกษาเป็นอย่างดี ส่วนพะโป้ก็เป็นคหบดีใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง มีทั้งเงิน มีทั้งอำนาจ แต่ขาดภรรยา มีนางบำเรอเต็มไปหมด แต่ก็ยังหาผู้หญิงที่ตัวเองรักไม่ได้จนกระทั่งมาเจอกับ “ยุพดี” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) หญิงสาวจากพระนครทันสมัย ที่จบมาจากคอนแวนต์ แล้วทำงานอยู่ที่สโมสรสปอร์ตคลับของฝรั่ง เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ในยุคนั้น เป็นผู้หญิงที่รักการอ่านหนังสือรักการดนตรี เป็นผู้หญิงที่ทันสมัยมากในยุค 2476 แถมยังสวยงามเลอโฉมมาก พะโป้ก็พายุพดีไปอยู่ที่อาณาจักรของตนที่เขาท่ากระดาน กำแพงเพชร ก็ไปในฐานะภรรยา ที่นั่นเองยุพดีก็พบกับส่างหม่อง หลานชายคนเดียวสุดที่รักของพะโป้ ซึ่งงดงามหล่อเหลาราวกับเทพบุตร แล้วก็เป็นผู้ชายที่ยังบริสุทธิ์ มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ส่างหม่องจบมาจากพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แล้วก็มีชีวิตรักธรรมชาติ ไม่ชอบในเมือง เก็บตัว ขี้อาย แต่เป็นมนุษย์ที่จิตใจสะอาด ไม่ได้มีสังคมเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเค้าเลย แต่พอได้มาอยู่ด้วยกันกลางป่าเช่นนั้นเนี่ย กับผู้หญิงที่อยู่ในสังคมเมืองและทันสมัยมาก ด้วยพลังอำนาจของธรรมชาติ ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคนเนี่ย โศกนาฏกรรมชีวิตรักของทั้งสามคนก็เกิดขึ้นที่นั่น
ตอนแรกที่คุยกับเสี่ยแล้วรู้ว่าเป็นอนันดา กับพลอย เฌอมาลย์ นี่คือตรงใจเลยหรือเปล่า
ก็เป็นเหตุผลหลักเลยที่รับทำเรื่องนี้ เพราะว่าทั้งคู่เนี่ยเป็นลูกศิษย์ที่เราค่อนข้างพึงพอใจ สอนเค้ามาตั้งแต่เค้ายังเด็กทั้งคู่ แล้วทั้งคู่ก็ประสบความสำเร็จด้วย แล้วจะพูดไปในบทบาทนักแสดงยุคใหม่นี่นะ มันน่าดู อยากดูว่านักแสดงรุ่นใหม่แล้วมีฝีมือได้มาเล่นด้วยกันในบทชีวิตที่เข้มข้นแบบนี้เนี่ยมันจะเป็นยังไง คือไม่ต้องทำเองก็ได้นะ คนอื่นทำเราก็อยากดู แต่นี่ยิ่งเราทำเองมันก็เหมือนกับเจอนักแสดงที่คุ้นมือเราก็ยิ่งโอเคใหญ่เลย
คาแร็คเตอร์และพื้นเพชีวิตของสามตัวละครหลักที่ต้องมาเผชิญชะตากรรมร่วมกันโดยไม่คาดฝันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
“ส่างหม่อง” เนี่ยถ้าจะพูดถึงก็เหมือนกับเป็นพระเอกในยุค 2486 ที่สมบูรณ์ไปเสียทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ รูปร่างหน้าตา การศึกษา ฐานะทางสังคม แล้วก็ทัศนะที่มีต่อชีวิต ดูเหมือนจะเป็นตัวละครในอุดมคติ ผู้ชายที่อายุ 20 กว่าๆ แล้วไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวผู้หญิง มีความรู้ เป็นคนเล่นกีฬา กล้าหาญ อยู่ในป่า ไม่เล่นการพนัน เป็นเหมือนกับมนุษย์ที่ดูสมบูรณ์มาก แล้วก็ที่สำคัญคือเคร่งศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีอีกต่างหาก มันก็แลดูห่างไกลจากพวกผู้ชายในยุคปัจจุบันมากนะ
ส่วน “ยุพดี” เนี่ยก็ห่างไกลจากนางเอกในยุคนั้น คือตัวละครสองตัวเนี่ยตรงกันข้ามกันเลย แต่มีความเหมือนอยู่หนึ่งอย่างคือทั้งคู่กำพร้าพ่อแม่เหมือนกัน แต่ยุพดีเนี่ยเป็นผู้หญิงที่เติบโตมาในโรงเรียนคอนแวนต์แล้วพอพ่อแม่ตายไปตัวเองก็อยู่โรงเรียนประจำที่คอนแวนต์ ก็ต้องสูชีวิต แล้วก็เป็นคนรักการอ่านหนังสือซึ่งก็เป็นหนังสือฝรั่งหมด แล้วก็ฟังดนตรี รักศิลปะ เพราะฉะนั้นเธอจึงได้อิทธิพลฝรั่งมามาก จบคอนแวนต์ปุ๊บก็ไปทำงานที่บริษัทฝรั่ง โดยเริ่มต้นที่ห้างของฝรั่งแล้วไปสิ้นสุดที่สปอร์ตคลับของฝรั่ง เธอเป็นผู้หญิงทันสมัยมาก เปรี้ยวมาก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่าแรงมาก เป็นตัวของตัวเองสูงไม่ยอมอยู่ในกรอบของประเพณีใดๆ ทั้งสิ้น รักความเป็นไทย และความอิสระของมนุษย์ ประเทศไทยตอนนั้นเปลี่ยนแปลงในปีพ.ศ. 2475 เรื่องนี้เริ่มต้นในปี 2476 ในยุคของยุพดีเนี่ย เค้าเป็นผู้หญิงที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เป็นผู้หญิงที่เข้าใจในสิทธิมนุษยชน เป็นตัวของตัวเองกรอบประเพณีอะไรแตะต้องเธอไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อตัวละครสองคนมาเจอกันเนี่ย ผู้ชายอยู่ในกรอบประเพณีสูงมาก ส่วนผู้หญิงไม่อยู่ในกรอบประเพณีเลย เมื่อสองตัวละครมาเจอกันเนี่ยมันจะเป็นยังไง นี่แหละเป็นความชาญฉาดของครูมาลัย ชูพินิจในการสร้างตัวละครมาก น่าสนใจมาก ซึ่งจริงๆ แล้วมันตรงกันข้ามนะ ที่จริงผู้หญิงควรอยู่ในกรอบประเพณี ผู้ชายควรจะไม่อยู่ในกรอบ แต่นี่ท่านสลับกันน่ะ มันเลยเป็นอะไรที่น่าดู
ส่วน “พะโป้” ที่เป็นอาเนี่ยก็คือเป็นตัวละครที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาก คือผมเองก็ปูแบ็คกราวด์เดิมของครูมาลัยเนี่ยท่านบอกแต่ว่าเป็นชาวพม่า ก็เลยพยายามเจาะลงไปว่าพะโป้เนี่ยน่าจะมีเชื้อสายจากเจ้านายใหญ่ที่รัฐฉาน เพราะคำบรรยายในหนังสือเนี่ยบอกว่าพะโป้มีบ้านของตัวใหญ่ราวกับปราสาทราชวังของเจ้าโบราณ ก็เลยจับจุดตรงนี้ แล้วก็พะโป้เนี่ยมีบ่าวไพร่เป็นชนเผ่าต่างๆ มากมาย ทั้งมอญทั้งพม่า ทั้งกะเหรี่ยงอะไรอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าน่าจะมีเชื้อสายเจ้านายใหญ่ที่มาจากรัฐฉาน แล้วก็มาทำกิจการป่าไม้ในช่วงพรมแดนระหว่างพม่ากับไทย ช่วงตาก-กำแพงเพชรพอดี แล้วยิ่งในยุคนั้นเนี่ยคนที่ได้สัมปทานป่าไม้ของแถบพม่านี่คืออังกฤษ เพราะฉะนั้นพะโป้น่าจะมีกิจการร่วมกันกับอังกฤษ และน่าจะมีความรู้ทางภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี เราเลยสร้างให้พะโป้เนี่ยมีเชื้อสายเจ้านายใหญ่ซึ่งมาสร้างเนื้อสร้างตัวในเมืองไทยจนร่ำรวยมหาศาล ทีนี้พะโป้ก็น่าสนใจแน่นอนที่สุดพอมีเชื้อสายมาจากราชวงศ์เนี่ยก็จะมีความหยิ่งในศักดิ์ศรีสูงมาก แล้วก็สร้างเนื้อสร้างตัวเองจนร่ำรวยมหาศาลเช่นนั้นเนี่ยพะโป้จะเป็นผู้ที่มีความสำเร็จมากและมีอำนาจมาก และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแถบนั้น เป็นที่เกรงกลัวและเป็นที่เกรงใจของเจ้าหน้าที่ในยุคนั้นเสียด้วยซ้ำไป มีแต่คนรักและเกรงบารมี แต่ว่าก็น่าเสียดายที่ภรรยาของพะโป้เสียไปนานแล้ว และเขาก็ไม่ได้รักใครอีกต่อไปเลย ก็มีแต่นางบำเรอในบ้าน แต่ก็จะเป็นโชคชะตาเหมือนกันที่ทำให้พะโป้ไปพบเจอยุพดีในวันที่มีวัย 50 กว่าซึ่งคนในยุคนั้นเนี่ยถือว่าแก่แล้วนะในยุคสมัย 2476 น่ะ ยุพดีก็อายุ 20 ต้นๆ เพราะฉะนั้นผู้ชายอายุ 50 กว่าๆ แล้วมาเจอผู้หญิงสวยขนาดนั้น แล้วก็เปรี้ยวทันสมัยถึงขนาดนั้นก็ต้องหลงเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นตัวละครสามตัวเนี่ยจะเป็นตัวละครที่น่าสนใจ แล้วพะโป้เนี่ยไม่เคยรักผู้หญิงคนไหนเท่ายุพดี นอกจากแม่ตัวเองกับภรรยาเก่า แล้วก็ไม่มีผู้ชายคนไหนที่พะโป้จะรักเท่ากับส่างหม่อง คือพะโป้รักพ่อของตัวเองและก็พี่ชาย รองจากนั้นก็คือส่างหม่อง เพราะฉะนั้นโศกนาฏกกรรมรักครั้งนี้มันเลยน่าสนใจ เมื่อชะตากรรมทำให้ส่างหม่องกับยุพดีต้องมารักกัน ในขณะที่พะโป้เนี่ยมีผู้หญิงที่รักที่สุดคือยุพดี แล้วมีผู้ชายที่รักที่สุดคือส่างหม่อง แล้วสองคนนี้มารักกัน และกลับทรยศหักหลังพะโป้ มันจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจน่าดูเป็นอย่างยิ่ง
การคัดเลือกนักแสดงอย่าง “บี๋ ธีรพงศ์” มารับบท “พะโป้” มีความยากง่ายอย่างไร
คือจริงๆ แล้วพะโป้เนี่ยเราดูไว้หลายคนมาก แล้วก็เป็นความน่ามหัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งพอนักแสดงชั้นนำหลายท่านทราบว่าผมจะทำเรื่องนี้เป็นหนังขึ้นมาเนี่ย ก็เสนอตัวสมัครเข้ามาเล่นหลายท่านทีเดียว ซึ่งหลายๆ ท่านก็เหมาะด้วยฝีมือ และไม่ปฏิเสธเลยว่าจะแสดงได้เป็นอย่างดี แต่ว่าท้ายสุดผมเลือกคือคุณบี๋ ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ด้วยหลายอย่าง ด้วยลักษณะบุคลิกของแกด้วย แล้วก็ด้วยความเหมือนของคุณบี๋กับอนันดาพอมาอยู่ด้วยกันแล้วเราเชื่อได้ว่าทั้งคู่เนี่ยเป็นอาหลานกัน แล้วก็ด้วยวัยของคุณบี๋ด้วย แล้วก็ด้วยผิวพรรณ ด้วยโครงของใบหน้า ด้วยเสียง แล้วความพิเศษบางอย่างในตัวคุณบี๋ที่ดูเหมือนมีความมีอำนาจซ่อนอยู่ข้างในตัวจริง มันมีพลังอะไรบางอย่างในตัวจริง แล้วก็สำหรับภาพยนตร์เนี่ยแกยังไม่ช้ำ เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าโดยภาพลักษณ์ของคุณบี๋เนี่ยเหมาะที่จะเป็นพะโป้ และถ้าพูดถึงในแง่การแสดงนะ ถ้าพูด ณ ตอนนี้ผมพอใจมากในการแสดงของนักแสดงนำในเรื่องนี้ คือทุกคนเนี่ยสามารถเข้าถึงแก่นแท้ในตัวละครของครูมาลัย ชูพินิจได้อย่างสมบูรณ์ พูดได้เลยว่าสมบูรณ์
ยังมีตัวละครเด่นๆ อีกหลายตัว อย่าง “ทิพย์” ของ “เจี๊ยบ ศักราช” เป็นยังไงบ้าง
“ทิพย์” เนี่ยตามคาแร็คเตอร์เป็นชาวพระนคร เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ว่าเป็นผู้ชายที่สู้ชีวิตทำงานทุกอย่างเพื่อให้ได้คือเป็นผู้ชายในยุคนั้นจริงๆ คือทำงานทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน และก็ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปวันๆ หนึ่ง ทิพย์เนี่ยเคยทำงานเหมืองที่ภูเก็ต เป็นนักพจญภัยกับชีวิต ไปทำงานเหมืองที่ภูเก็ต ไปทำโรงไม้เป็นผู้จัดการโรงไม้ แล้วก็มาเจอกับพะโป้ พะโป้เลยชวนไปเป็นผู้จัดการปางไม้ที่กลางป่าเขาท่ากระดานที่กำแพงเพชร ก็กลายเป็นลูกน้องที่สนิทและไว้ใจพะโป้ ทิพย์เป็นคนทำงานเก่ง รับผิดชอบ ต่อสู้ชีวิต และมองคนในแง่ดีเสมอ เป็นมิตรกับทุกคน
การเลือก “ศักราช ฤกษ์ธำรง” มาเล่นตรงนี้ก็ด้วยลักษณะภายนอกด้วย ด้วยผิวก็ตรงตามที่ครูมาลัยได้กำหนดเอาไว้ เป็นคนผิวคล้ำ ร่างกายบึกบึน ออกจะแมนๆ แต่ว่ามีจิตใจโอบอ้อมอารี เข้าใจจิตใจ เข้าใจคน แล้วก็ศักราชเนี่ยพอมาลองบทแล้วเหมาะ ยิ่งพอเติมหนวดลงไปแล้วกลายเป็นทิพย์ที่ใช่เลย เป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้านายเป็นอย่างยิ่ง เป็นคนปรารถนาดีกับทุกคน ไม่มองคนในแง่ร้ายเลย แต่ว่าเป็นตัวละคนที่ต้องรับรู้โศกนาฏกรรมรรมของตัวละครทุกตัวที่เกิดขึ้นโดยที่ตัวเองเนี่ยไม่สามารถทำอะไรได้เลย ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้ โดยที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตอนจบของเรื่องอย่างน่าสะเทือนใจ
ทิพย์นี่เป็นตัวละครที่สำคัญมากทีเดียว เพราะว่าเป็นตัวเล่าเรื่องระหว่างส่างหม่องกับยุพดีแล้วก็พะโป้ ให้ “นิพนธ์” (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) ฟัง ทิพย์เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เป็นผู้ที่รู้ที่มาที่ไป เห็นเหตุการณ์การเป็นชู้ของส่างหม่องและยุพดี แล้วก็เป็นผู้ที่รู้การตัดสินใจของพะโป้ที่เมื่อรู้ว่าคนที่รักมากที่สุดสองคนเป็นชู้กัน และพะโป้ตัดสินใจทำอย่างไร ทำโทษตัวละครทั้งสองอย่างไร ทิพย์จะเป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แล้วจากการที่เค้าเป็นคนจิตใจดี เป็นลูกน้องของพะโป้ที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้านายมาก แล้วก็เป็นคนที่คล้ายกับพี่เลี้ยงส่างหม่อง เป็นคนที่ทำงานอยู่ด้วยกันแล้วก็รู้จักส่างหม่องเป็นอย่างดี แล้วก็รักส่างหม่องมาก เพราะฉะนั้นในเรื่องร้ายครั้งนี้เนี่ยทิพย์จะเป็นเหมือนตัวละครที่เจ็บปวดที่สุดเพราะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนท้ายๆ ของเรื่องนี่ที่พะโป้ไม่ยอมหยุดทำร้ายเด็กทั้งสองคน กลับกลายเป็นทรมานหนักขึ้นๆๆ จนไปสู่ความตาย เพราะฉะนั้นตัวละครทิพย์เนี่ยเป็นตัวที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นคนที่เห็นความทุกข์ของทุกเหตุการณ์ แล้วก็ประสบการณ์ครั้งนี้เนี่ยมันทำให้เค้าเหมือนกับว่ามีแผลในใจ แล้วก็เล่าเรื่องนี้ออกมาด้วยความทรมาน ทีนี้ในการเลือกตัวละครตัวนี้เนี่ยก็ต้องพิถีพิถันมากเพราะว่า “ประจวบ ฤกษ์ยามดี” เคยเล่นบทนี้มาแล้วแล้วก็ได้ตุ๊กตาทอง ผมเองก็ลองคัดเลือกมาแล้วหลายๆ คน แล้วคนที่เหมาะสมกลายเป็นศักราช ฤกษ์ธำรง ที่มีลักษณะภายนอกด้วยมีความบึกบึน เป็นผู้ชายที่สีผิวและบุคลิกภายนอกตรงกับที่ครูมาลัย ชูพินิจบรรยายเอาไว้ แล้วก็เป็นคาแร็คเตอร์ของผู้ชายที่ซื่อสัตย์มากๆ มองโลกในแง่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นนักเลงทำงานในป่าได้ กินเหล้าจัด มีผู้หญิงเยอะ แต่ว่าไม่ผูกมัดกับผู้หญิงคนไหน แต่รักงานรักการทำงาน ก็เลือกศักราชด้วยเพราะบุคลิกภายนอกด้วยแล้วพอเติมหนวดเข้าไปกลายเป็นรูปลักษณ์ภายนอกใกล้กับตัวละครตัวนี้มาก
มาถึงอีกตัวละครหนึ่งคือตัว “นิพนธ์” (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) ที่เหมือนเป็นคนนอกและตัวแทนที่พาคนดูเข้ามารับรู้เรื่องราวครั้งนี้
คือตัว “นิพนธ์” หรือคนเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นเรื่องเนี่ย คือพล็อตเรื่องดำเนินเรื่องในปี 2486 ด้วยการที่นิพนธ์เดินทางมาที่ปางไม้กลางป่าเขาท่ากระดานของพะโป้เนี่ย เพราะว่าตัวพะโป้เศรษฐีชราเนี่ยเป็นเพื่อนกับตัวพ่อของนิพนธ์ก็เลยชวนนิพนธ์มาล่าสัตว์ที่นั่น ในหนังสือไม่เจาะจงว่าเป็นใครและทำอาชีพอะไร รู้แต่เพียงว่าพ่อของนิพนธ์เป็นเพื่อนเก่าของพะโป้เท่านั้น มีแต่คำว่า ข้าพเจ้า เวลาอ่านเลยคิดว่าข้าพเจ้าเนี่ยคือครูมาลัย ชูพินิจเองนี่แหละที่เล่าเรื่องนี้ พอจากการศึกษาเราได้รู้ว่าครูมาลัย ชูพินิจเองเนี่ยมีเพื่อนคุณพ่อเป็นชาวพม่าแล้วทำกิจการป่าไม้ชื่อพะโป้จริงๆ คือเชื่อเลยว่าท่านสร้างฉากและตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลในชีวิตจริงของท่านแต่ว่าไม่ใช่เรื่องราวเดียวกันแบบนี้นะ คือท่านเอาแต่ฉากและคาแร็คเตอร์มาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นในภาพยนตร์เนี่ยผมเลยกำหนดให้นิพนธ์เนี่ยมีอาชีพเป็นนักเขียนนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ เพราะในช่วงนั้นเนี่ยช่วงปี 2480-2486 เนี่ยครูมาลัยท่านก็ทำหนังสือพิมพ์อยู่ ท่านเขียนบทความ เขียนเรื่องสั้น เขียนนวนิยายอยู่แล้ว ก็เลยสร้างตัวละครตัวนี้แล้วตั้งชื่อว่านิพนธ์ ซึ่งในหนังสือไม่มีชื่อ จะเป็นข้าพเจ้าเฉยๆ แล้วก็คงเป็นตัวแทนที่จะพาคนดูเข้าไปค่อยๆ รู้เรื่องส่างหม่องกับยุพดีไปทีละนิด โดยผ่านบทสนทนาระหว่างนิพนธ์กับทิพย์ ทิพย์จะเป็นคนเล่าเรื่องทั้งหมดให้นิพนธ์ฟังทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนกระทั่งไปพบกับความหายนะในตอนจบของเรื่อง
บทนี้ก็ได้ “แจ๊บ เพ็ญเพชร” กลับคืนจอมาเล่นหนังด้วย เป็นอย่างไรบ้าง
แจ๊บดูเป็นสุภาพบุรุษสะอาดๆ กลางๆ และก็ด้วยความนิ่งของเพ็ญเพชรเนี่ย เราเชื่อได้ว่าเค้าเป็นนักเขียนได้ แล้วก็ด้วยวัย 30 กว่าแล้วก็เหมาะสมกับตัวละครในเรื่องนี้ วัย 35-36 ในปี 2486 ซึ่งถ้าเป็นตอน 2476 ก็จะ 25-26 ก็จะเป็นวัยเดียวกับส่างหม่องในตอนที่กลับมาจากพม่า เพราะว่าตัวละครตัวนี้ทำให้พะโป้เห็นแล้วสะท้อนถึงหลานตัวเองว่าถ้าหลานยังปกติดีอยู่ก็จะเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์แบบตัวละครตัวนี้
ตัวละครที่เพิ่มเป็นสีสันเข้ามาอีกตัวหนึ่งคือตัว “มะขิ่น” (ท็อป ดารณีนุช) ตัวนี้มีการดำเนินเรื่องอย่างไรบ้าง
ตัว “มะขิ่น” นี้คือตัวที่ผมสร้างขึ้นมา เพราะในหนังสือในบทประพันธ์ของท่านเนี่ยกล่าวไว้เฉยๆ กล่าวเพียงประโยคเดียวเท่านั้นว่า มีอดีตนางบำเรอที่มาเป็นแม่ครัวแล้วล่วงรู้เห็นพฤติกรรมของส่างหม่องกับยุพดีแล้วมาบอกพะโป้ ในหนังสือเนี่ยเขียนไว้นิดเดียว ทีนี้เนี่ยเราก็เลยจำเป็นต้องสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาเป็นมะขิ่น ชาวกะเหรี่ยงที่เคยเป็นนางบำเรอสมัยสาวแต่เมื่ออายุเยอะแล้วเนี่ย ก็ถูกปลดระวางไปเป็นแม่ครัว แต่ว่ามีความซื่อสัตย์สูงมาก มีความรักและความซื่อสัตย์สุตจริตต่อพะโป้สูงมาก แล้วด้วยตัวเธอเองก่อนที่ยุพดีจะมาถึง เธอคงเป็นผู้หญิงที่มีอำนาจสูงในบ้านหลังนั้น เพราะก็เคยเป็นนางบำเรอและก็เป็นผู้ดูแลผู้หญิงทุกคนในบ้านหลังนั้น ทีนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พอมีผู้หญิงสาวสวยอายุ 20 กว่าๆ มาจากกรุงเทพฯ เข้ามาเป็นนายหญิงเนี่ยก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ความสำคัญของเธอจะหมดไป เพราะฉะนั้นมันก็จะมีเรื่องการเมืองในบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่คาแร็คเตอร์มะขิ่นเนี่ยก็แสดงให้เห็นถึงผู้หญิงที่ไม่ว่าจะทุกข์ขนาดไหนจะโดนมือโดนเท้าโดนตีนโดนอะไรขนาดไหน จะโดดกดขี่ขนาดไหนก็ยังรักผู้ชายที่ตัวเองรักอย่างชนิดที่ไม่มีคำปฏิเสธใดๆ
ซึ่งได้เลือก “ท็อป ดารณีนุช โพธิปิติ” มาพลิกคาแร็คเตอร์ในบทนี้
ดารณีนุชเป็นนักแสดงที่มีฝีมือมาเพียงแต่คนไม่เคยเห็นเค้าในบทบาทอื่น ส่วนใหญ่คนก็จะให้เค้าเล่นบทตลกหมด แต่ดารณีนุชสามารถเล่นได้หลายอย่าง แล้วก็เล่นได้ลึกซึ้งด้วย คือหลังจากที่ได้ทำงานด้วยกันใน “สี่แผ่นดิน” เนี่ยที่ไม่ให้เค้าเล่นตลกเลย เค้าเล่นได้ลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นในการทำภาพยนตร์บท “มะขิ่น” เนี่ย ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ซื่อสัตย์ต่อคนรักด้วยทั้งรักและบูชา ท็อปก็ทำได้ซาบซึ้งและน่าประทับใจทีเดียว
มีความยาก-ง่ายในการกำกับครั้งนี้อย่างไรบ้าง และมีความแตกต่างจากสมัยอดีตอย่างไร
จริงๆ มันก็ไม่แตกต่างนะ เพราะช่วงที่เรากำกับละคร เราก็บริหารการกำกับการถ่ายทำละครให้เหมือนการกำกับภาพยนตร์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถ่ายด้วยกล้องภาพยนตร์เท่านั้น เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้แตกต่างเลย ในการบริหารหรืออะไรต่างๆ ถือว่าง่ายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะละครโทรทัศน์มันยาวนานหลายตอนกว่านี้มาก ประกอบกับทีมงานรุ่นใหม่ เครื่องไม้เครื่องมือมันไฮเทคกว่าละครเยอะ เพราะฉะนั้นมันไม่ค่อยยากในการบริหารงานเท่าไหร่ แต่ไอ้ที่ยากก็คือ โลเกชั่นของเรื่องนี้ โหดมาก ต้องถ่ายบนภูเขา น้ำตก ต้องปีนเขาขึ้นไปถ่าย อีกทั้งสภาพอากาศของเชียงรายที่ต่างกันชัดเจน หนาวจัดตอนเช้ากับกลางคืน และร้อนมากตอนกลางวัน อันนี้ถือเป็นปัญหา แต่ได้รับความร่วมมือจากทั้งทีมงาน นักแสดงทุกคนอย่างดี ก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรจนถึงขั้นทำงานไม่ได้ เราก็ทำงานได้ตรงตามเป้าตลอดเวลา มีก็แค่เศษติ่งๆ ที่ถ่ายไม่เสร็จบ้างนิดเดียว ก็เป็นปกติของการถ่ายทำหนังอยู่แล้ว ก็ไม่ได้เรื่องใหญ่อะไร
แล้วก็ประกอบกับตากล้อง “เปีย” (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) ผู้กำกับภาพที่ถ่ายภาพสวยมาก ทำงานไหลรื่นไปกับเราตลอด แล้วรวมถึงทีมงานนักแสดงที่เราซ้อมมาก่อน ซ้อมนักแสดงหลักมาก่อน 2 เดือนก่อนเปิดกล้อง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในการทำงานจริง เราจะมองภาพรวม แล้วก็ไม่ต้องคอยจ้ำจี้จำไชกับนักแสดงเท่าไหร่ เพราะถือว่าซ้อมมาแล้วเป็นอย่างดี เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
ลักษณะการซ้อมก่อนการแสดงทั้งเรื่อง ไม่ค่อยเห็นในการทำหนังไทยระยะหลังๆ ซักเท่าไหร่
ก็อาจเป็นเพราะว่าเราไม่เก่งไง ผู้กำกับบางคนเอานักแสดงมาแสดงตรงนั้นได้เลย ซึ่งเราไม่เก่งขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเราถือว่าการทำงานต่างๆ จะเกิดขึ้นบนโต๊ะก่อน ให้ความสำคัญของพรีโพรดักชั่น (Pre-Production) เพื่อให้วันถ่ายทำจริงเนี่ยเป็นไปตามคิวที่เราวางไว้ เพราะฉะนั้น...เราชอบสบายมั้ง พอวันถ่ายเราค่อนข้างสบาย เพราะทุกอย่างมันโดนประชุม โดนเตรียมมาหมดแล้วเป็นอย่างดี อีกอย่างหนึ่งเราก็แก่แล้ว เราต้องการตรงต่อเวลา เพราะไม่ใช่มีแค่เรา ทีมงานไฟ ฝ่ายศิลป์ เราเลิกแล้ว เค้าก็ยังต้องเก็บของ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันต้องไปด้วยกันตลอด การบริหารงานกองถ่าย ทุกคนมันต้องสำคัญเท่าๆ กัน ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ไม่ว่าผู้กำกับจะใหญ่มาจากไหน ดารานักแสดงเป็นใครมาจากไหน ในปรัชญาการทำงานของเรา ทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน เปรียบได้กับชีวิตมนุษย์ที่จะขาดอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไปไม่ได้ ขาดแขน ขา หู ตา จมูกไปไม่ได้ ต้องเดินไปพร้อมๆ กัน เราให้ความสำคัญเท่ากันหมด ทุกคนต้องอยู่เหมือนกัน กินเหมือนกัน เท่าเทียมกันหมด เหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน สบายก็สบายด้วยกัน ช่วยกันได้ช่วยกัน เพราะไม่ใช่งานของเราคนเดียว เราไม่อยากเสียเวลาโดยใช่เหตุ เราอยู่นิ่งไม่ได้
สำหรับนักแสดงก็เป็นวิธีเดิม คือมีการซ้อมกันก่อน มีการทำความเข้าใจกันก่อน มีการมานั่งคุยกันก่อน แล้วแค่คุยมันก็ยังไม่พอ มันก็ต้องมี Class มีการฝึกฝน มีแบบฝึกหัดต่างๆ เพื่อจะทำให้นักแสดงแต่ละคนเข้าถึงตัวละครแต่ละตัวที่ตัวเองเล่น และเราก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แล้วมันก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็เป็นไปตามคิวอย่างดี และก็ที่สำคัญคือนักแสดงทุกคนได้สร้างมิติใหม่มาก คือผลที่ได้ดีกว่าที่ผมหวังไว้ซะอีก เป็นการแสดงที่พูดได้ว่าไม่เคยมีมาก่อนในยุคนี้ คือการที่นักแสดงได้เป็นตัวละครในเรื่องจริงๆ ได้ถ่ายทอดความมคิดความอ่านและวิญญาณของตัวละครที่ตัวเองเล่นจริงๆ
ในแง่ของทีมงาน มีมืออาชีพมาร่วมงานด้วยในแต่ละฝ่าย
คือโดยส่วนใหญ่แล้วทีมงานหนังเรื่องนี้เนี่ยทุกคนมีอาชีพเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่ทุกคนมาทำเรื่องนี้เนี่ยทำด้วยเพราะอยากทำเรื่องนี้ อยากทำเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ให้เป็นภาพยนตร์ที่ดี ทุกคนก็ลางานกันมาทุ่มเทกับหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อผ้า ฝ่ายศิลป์ หรือฝ่ายจัดการ ทุกคนอยากจะเห็น “ชั่วฟ้าดินสลาย” กลายเป็นภาพยนตร์ที่ดี
อย่างทางเสื้อผ้าเองเนี่ยก็ได้ “อาจารย์แหลม” (ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ) ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษทางด้านโบราณคดีที่ชำนาญทางด้านผ้าไทย ทางด้านเครื่องแต่งกายไทย แล้วก็ได้ “คุณโต้ง” (นพดล เตโช) ซึ่งทำกับผมมาตลอดตั้งแต่ “สี่แผ่นดิน”, “ในฝัน” คือทุกคนมาร่วมงานแล้วก็ศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี แล้วก็ยังได้อาจารย์จากหลายๆ ที่ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้คำปรึกษาในทุกๆ อย่างที่เป็นศิลปะล้านนา หรือแม้แต่ “เพลงชั่วฟ้าดินสลาย” เองก็ได้ความกรุณาจากท่านองคมนตรี “อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้เนี่ยได้อนุญาตให้นำเพลงนี้มาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ แล้วก็ “คุณจำรัส เศวตาภรณ์” ซึ่งไม่ได้ทำดนตรีประกอบมาเป็นเวลานานแล้วเนี่ยก็ได้กลับมาทำอีก
ในส่วนของเมคอัพก็ชัดเจนมาก เมคอัพเราก็ได้ “อาจารย์ขวด มนตรี วัดละเอียด” มาลุยเองเลย จริงๆ ท่านก็ไม่ต้องทำเองแล้วก็ได้เพียงแต่เป็นอาจารย์ชี้นิ้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นใน “นเรศวรฯ” หรือว่า “สุริโยไท” ก็เป็นหัวหน้าแผนกเมคอัพที่คุมงานอย่างเดียว แต่เรื่องนี้เนี่ยท่านเองก็อยากจะลงมือทำด้วยตัวของท่านเอง เพราะรักงานวรรณกรรมเรื่องนี้ โดยไม่ใช้ลูกศิษย์เลยโดยท่านลงมือทำด้วยตัวท่านเองทุกๆ ฉาก และก็คือเรามีความตั้งใจตรงจุดเดียวกันหมดว่าอยากทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สมบูรณ์ที่สุด
ซึ่งโดยรวมแล้วเนี่ยทุกคนทำหนังเรื่องนี้เพราะว่าอยากเห็นหนังเรื่องนี้ออกมาดี ไม่ใช่ทำเพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำเพื่ออยู่กิน แม้กระทั่งตัวผมเองก็ตามก็ทำเพราะอย่างให้บทประพันธ์ชิ้นนี้ออกมาดี ต้องการถ่ายทอดออกมาให้มีคุณค่าทางภาพยนตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันก็เลยเป็นความร่วมมือร่วมใจที่อยากทำงานศิลปะชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุดให้เท่าที่ความสามารถของเราจะมีและของทุกคนจะมี
ในส่วนของงานเพลงก็โดดเด่นและแตกต่างจากเวอร์ชั่นที่ผ่านมา
ในแง่อาร์ตเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแสดงที่เป็นศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องแต่งกาย หรือการถ่ายทำ หรือว่าดนตรี หรือว่าการร้องเนี่ยมันแปลกมาก เพราะพอตัดต่อออกมาแล้ว พอหนังรวมออกมาแล้วเนี่ยมันเป็นหนังที่มีมิติใหม่ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นหนังพีเรียดแต่มันก็ดูเป็นงานร่วมสมัยมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี หรือว่าการร้องของ “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” ที่ร้องเพลง “ชั่วฟ้าดินสลาย” จะบอกว่าทันสมัยผิดยุคผิดสมัยก็ไม่ใช่ หรือเป็นสมัยโน้นไปเลยก็ไม่ใช่ มันเป็นศิลปะร่วมสมัยมาก มันจะดูมีรสชาติที่แปลกไป อันนี้คือผลรวมของหนังนะ มันพูดเจาะๆ ลำบาก แม้กระทั่งอนันดากับพลอยเองก็ทำให้เรื่องนี้ดูทันสมัยขึ้น
แล้วถ้าในเรื่องของการแสดงเน้นไปที่อนันดากับพลอย ในความรู้สึกของหม่อมรู้สึกอย่างไรบ้าง
คิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมาสเตอร์พีซ เป็นงานชิ้นโบว์แดงของนักแสดงเอกทั้ง 5 คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอยกับอนันดา แล้วก็คุณบี๋ ถือว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซของเค้าได้ทีเดียว คือเค้าสามารถถ่ายทอดตัวละครได้อย่างครบถ้วนทุกวินาทีอย่างมีชั้นเชิง
จุดเด่นของเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือด้านโลเกชั่น
อย่างที่บอกไปคือโลเกชั่นหลักเราเลือกเชียงราย คือแม้ว่าในเรื่องเดิมจะกำหนดว่าอยู่ในป่าแถวตาก-กำแพงเพชรเนี่ย ทีนี้ผมก็ไปดูมาหลายที่มาก แต่ก็ไปติดใจเชียงราย ไปติดใจความหลากหลายของไม่ว่าจะเป็นเชียงรายภาคเหนือที่มีทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงามมาก เพราะว่าจริงๆความสลับซับซ้อนของภูเขาเนี่ย ผมเอามาเปรียบเทียบกับความสลับซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ซึ่งเป็นภาพเปิดเรื่อง แล้วก็มีป่าที่ยังเป็นธรรมชาติอยู่ แล้วก็มีพรรณไม้ที่แปลกตามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น้ำตกขุนกรณ์ แล้วก็ที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ เวียงป่าเป้า ที่เราเข้าไปสร้างฉากเป็นคฤหาสน์ของพะโป้กลางป่าจริงๆ คือด้วยต้นไม้ ด้วยลำธาร ด้วยน้ำตก ด้วยบรรยากาศที่แปลกตามาก แล้วก็ยังแลดูสมบูรณ์อยู่มาก ช่วยเสริมให้แลดูสมบูรณ์ขึ้น แล้วก็มีลำน้ำกก ซึ่งในเรื่องมีการอธิบายว่ามีการล่องแพไปเที่ยวกัน ไปล่าสัตว์ ซึ่งลำน้ำกกก็มีความสวยงามดูแล้วน่าเชื่อว่าเป็นแม่น้ำกลางป่า แล้วมีน้ำตก มีหมอก มีธรรมชาตที่งดงามที่พูดได้ว่าอันซีน (Unseen) แล้วแปลกตากว่าทุกๆ ที่ กว่าทุกโลเกชั่นในภาพยนตร์ไทยที่เคยมีมา และที่เชียงรายก็คงไม่เคยมีใครไปถ่ายหนังอย่างเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้ด้วย
ฉากไฮไลต์ในคฤหาสน์พะโป้ มีการเตรียมการหรือการสร้างนานแค่ไหน
จริงๆ แล้วการเตรียมงานมันพร้อมๆ กันไปตั้งแต่เริ่มที่จะทำเรื่องนี้ ทุกแผนกเริ่มไปพร้อมๆ กันเลย คือตั้งแต่ก่อนจะเขียนบทอีก เพราะว่าทุกคนต้องอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการทำงานของทุกฝ่ายเนี่ยเราเริ่มไปพร้อมๆ กัน การสร้างฉากคฤหาสน์จริงๆ ก็ประมาณ 2-3 เดือน สร้างที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ ที่อำเภอเวียงป่าเป้า ก็กลางป่าจริงๆ แต่เราก็โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากวนอุทยานแห่งชาติ จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แล้วก็ชาวเชียงรายที่มาให้ความร่วมมืออย่างมากเลยในทุกๆ โลเกชั่น แม้กระทั่งบนดอยที่เป็นที่โฮมสเตย์อาข่าฮิลล์ของอาแป ก็ให้ความรู้ที่เป็นชาวอาข่า ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พาไปดูที่ๆ สวยงามมาก ที่ๆ ไม่เคยมีใครเคยเห็นแล้วก็เดินทางไปยากเย็นมาก ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวเชียงรายเป็นอย่างดี
ฉากที่สร้างออกมา ตรงกับที่จินตนาการไว้หรือเปล่า
ตรง เพราะว่าทุกอย่างโดนดีไซน์ไปแล้ว แล้วก็มีการแก้ไขหลายๆ ครั้งไปแล้ว คือเค้าต้องมาส่งการบ้านว่า เป็นอย่างนี้ๆ หรือเปล่า แล้วก็แก้ไขจนถึงอย่างที่เราต้องการที่สุดถึงจะมีการสร้างเกิดขึ้น ซึ่งก็ยากเย็นมากเพราะว่าเราไปสร้างกันกลางป่าจริงๆ การเดินทางเข้าไปก็ค่อนข้างสาหัสมาก แต่พอสร้างเสร็จออกมาแล้ว ก็ตรงกับที่วางไว้ทุกอย่าง
เรื่องการเดินทางนี่คืออุปสรรคหนึ่งในการทำหนังเรื่องนี้หรือเปล่า
จะพูดไปก็ทั้งบวกทั้งลบ คือก็ได้ที่ที่ตรงตามที่คิดจริงๆ แต่อุปสรรคก็แน่ๆ แหละการเดินทางยากมาก แล้วก็มันมีแมลงมีอะไรใช่มั้ย ก็มันเป็นกลางป่าแท้ๆ แค่เดินทางเข้าไปก็เหนื่อยแล้วยังต้องไปทำงานอีก แต่ว่าทุกคนก็ว่าคุ้ม แม้กระทั่งนักแสดงทุกคนก็แฮปปี้ที่จะอยู่ตรงนั้น มันทำให้คนเล่นเชื่อได้มากขึ้น เพราะมันอยู่กลางป่าจริงๆ ไม่ได้เล่นอยู่ที่อื่น
ในเรื่องนี้มีความโดดเด่นด้านการสะท้อนวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมากด้วย
คือเนื่องจากว่าที่คุยกับคุณเจียงว่าหนังจะฉายเมืองนอก เพราะฉะนั้นเราเลยเห็นว่าการเอาวัฒนธรรมไทยมาเผยแพร่ชาวต่างชาติจะดูแล้วแปลกตา เราก็เลยต้องค้นคว้าประเพณีของชาวล้านนาคือเรื่องเนี่ยเกิดขึ้นที่ภาคเหนือ เพราะฉะนั้นในแง่ของประเพณีการสู่ขวัญ ประเพณีการสวดมนต์ ประเพณีงานบุญของชาวล้านนาเนี่ยเราก็เลยต้องศึกษาเยอะ เพื่อจะเอาเข้ามาในฉากสำคัญๆ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือมากจากอาจารย์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของม่อนฝ้าย แล้วก็อาจารย์หลายๆ ท่านจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งทางเชียงรายก็ศึกษาถึงประเพณีล้านนาเดิม ก็ศึกษาไปถึงรากของประเพณีของชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นปูมหลังของพะโป้เนี่ยกับส่างหม่อง ซึ่งในเรื่องเนี่ยก็จะมีฉากที่แสดงขนบประเพณีของล้านนาชาวไทยใหญ่แล้วก็การใช้ภาษาไทยใหญ่ในการพูดของพะโป้และส่างหม่อง คือนักแสดงก็ต้องไปเรียนการพูดภาษาไทยใหญ่ มีทั้งคุณบี๋ ธีรพงศ์, อนันดา แล้วก็ท็อป ดารณีนุช ซึ่งต้องใช้ภาษาไทยใหญ่ในการสื่อสารในบทสนทนา ซึ่งมันก็ทำให้นอกจากความแปลกที่ฝรั่งจะดูแล้วเนี่ยก็จะมีความน่าเชื่อความสมจริงอีกด้วย
เวอร์ชั่นรีเมคนี้แตกต่างจากเวอร์ชั่นที่ผ่านๆ มายังไงบ้าง
แตกต่างมาก เพราะว่าในหนแรกที่ทำเนี่ยก็ห่างไกลจากหนังสือ มีการดัดแปลงในเชิงการเล่าเรื่องเนี่ยเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคราวนั้นครูวิจิตร คุณาวุฒิเป็นคนเขียนบท แล้วก็ครูมารุตเป็นผู้กำกับ แต่คราวนี้เนี่ยเราพูดได้ว่าเราทำตามบทประพันธ์อย่างใกล้เคียงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ คือการดำเนินเรื่องทั้งหมดนี่ใกล้เคียงบทประพันธ์มาก ดำเนินไปตามที่หนังสือพูด เป็นการเล่าเรื่องย้อนไปย้อนมา ซึ่งก็ได้ Quote ไดอะล็อคหลายๆ ไดอะล็อคที่คมๆ ของครูมาลัย ชูพินิจ ออกมาในเรื่อง ซึ่งนักแสดงก็สามารถถ่ายทอดได้อย่างเป็นธรรมชาติ
เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวมของภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย”
ที่เด่นมากก็คือ ถ้าดูกันแบบพื้นๆ มันก็ดูสนุกเพราะเป็นเรื่องหลานเป็นชู้กับเมียอา ซึ่งเมียอาเป็นคนวัยเดียวกัน แล้วอาจับได้ แล้วก็จับล่ามโซ่ไว้ด้วยกัน เพื่อให้เรียนรู้ว่าไอ้รักแบบหวือหวาเนี่ย ที่สัญญาว่าจะอยู่ด้วยกันชั่วฟ้าดินสลายเนี่ย แต่เมื่อมนุษย์อยู่ด้วยกัน อยู่ใกล้ชิดติดกันมากๆ เข้า เป็นยังไง แค่นี้ก็สนุกแล้ว เป็นบันเทิงขั้นพื้นฐานที่น่าสนใจ สนุกละว่าไอ้คู่นี้ที่ถูกล่ามไว้ด้วยกันเนี่ย สุดท้ายแล้วจะเป็นยังไง และกับการเล่าเรื่องของครูมาลัยที่ทันสมัยมากที่เริ่มเรื่องโดยที่เหตุการณ์เกิดขึ้นผ่านไปแล้วสิบปี แล้วก็ย้อนกลับไปเล่าเรื่องเมื่อสิบปีที่แล้ว วิธีเล่าเรื่องไม่เชยเลย มันดูลึกลับ น่าค้นหา น่าติดตามตั้งแต่ต้น
ในแง่ภาพ เราก็จะเน้นภาพที่จะเป็นกึ่งกวี สื่อออกมาด้วยภาพที่งาม เหมือนดูภาพเขียนภาพถ่ายที่สวยงาม เพราะฉะนั้นมันจะเป็นครั้งแรกที่เล่าเรื่องอย่างประณีตและละเอียดอ่อน ไม่ใช่แข็งๆ ไม่ใช่สะท้อนภาพชีวิตที่เหมือนจริงอย่างเดียว แต่จะเป็นภาพที่งามไปหมด เหมือนดูงานศิลปะที่งามชิ้นหนึ่ง
เรื่องนี้เอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่ผู้กำกับแสดงฝีมือนักหนา แต่จะเป็นเรื่องของนักแสดงฝีมือมากๆ ผู้กำกับต้องทำงานหนักกับนักแสดงมากๆ เพราะเป็นเรื่องละเอียดมากในแง่ความซับซ้อนของตัวละคร คือนักแสดงต้องทราบถึงแก่นแท้ ธาตุแท้ของตัวละคร ถึงจะถ่ายทอดออกมาได้ ไม่ใช่เล่นแค่อารมณ์ๆ ออกมาเท่านั้น เพราะทุกตัวเป็นตัวละครที่กลม เป็นมนุษย์น่ะ เป็นคนที่เป็นคนจริงๆ แล้วก็เราก็ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่มาแสดงให้ดูกัน ให้น่าเชื่อ และให้นักแสดงทุกตัวเชื่อว่าเป็นตัวละครตัวนั้น และอยู่ในสถานการณ์แวดล้อมอย่างนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในยุคสมัย 2476-2486 ประมาณเจ็ดสิบปีที่แล้ว จะพูดไปเรื่องมันร่วมสมัยแน่ ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด มนุษย์ก็คือมนุษย์ ธาตุแท้ไม่มีเปลี่ยน
ความคาดหวังของหม่อมกับหนังเรื่องนี้
คือแน่ๆ เลยว่าคนเราทำงานศิลปะขึ้นมาหนึ่งชิ้นเนี่ย ก็มีความมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดและสื่อสารกับคนดู ผมมีความหวังอย่างยิ่งเลยว่าถ้ามีคนดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วได้แง่คิด ได้มีการตั้งคำถามกับตัวเองว่าตัวเองรู้จักกับความรักมากแค่ไหน ตัวเองเข้าใจกิเลสในตัวเองมากขนาดไหน ตัวเองสามารถทำให้กิเลสของเราลดลงได้มั้ย หรือได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เนี่ยไปเรียนรู้และนำไปสู่หนทางในการใช้ชีวิตคู่ โห...เท่านี้ก็ที่สุดในการคาดหวังแล้ว เพราะว่าตัวละครอย่างส่างหม่อง, ยุพดี แล้วก็พะโป้เนี่ยมีอยู่ในมนุษย์เราทุกคน มีอยู่ในทุกชั้นวรรณะด้วย เพียงแต่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ก็เกิดจากตัณหาราคะนี่เอง ตัณหาราคะในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงกามารมณ์ แต่มันหมายถึงความอยาก ความต้องการซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหาที่เกิดขึ้น ความต้องการที่ไม่ตรงกันของคนรัก ความต้องการที่ไม่ตรงกันในสังคม และความไม่สมานฉัน ความไม่พยายามจะทำความเข้าใจกันซึ่งกันและกันจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขนาดไหน เป็นปัญหาที่ใหญ่ทั้งในบ้าน เป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศ ถ้าเผื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วได้ย้อนกลับมามองตัวเอง ถึงเหตุที่เกิดทุกข์ของตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นเนี่ยมันก็มีพื้นฐานมาจากความรักทั้งนั้นแหละ
ผู้ชมจะได้รับอะไรจากหนังเรื่องนี้บ้าง
คือที่แน่ๆ เนี่ยถ้าเกิดดูอย่างไม่ต้องคิดอะไรมากเนี่ยก็จะได้ดูฝีมือการแสดงที่ดีมากๆ ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในยุคนี้ ได้เห็นภาพสวยงามมากๆ ได้เห็นภูมิประเทศที่สวยงามของประเทศไทย ได้เห็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สวยงามของล้านนา ได้ฟังเพลงเพราะๆ ได้เห็นเสื้อผ้าสวยๆ แล้วก็ได้ดูเรื่องแปลกๆ เรื่องที่ค่อนข้างแปลก แต่ว่าถ้ามองย้อนปุ๊ปมันก็ไม่แปลกหรอกมันก็มีอยู่ในตัวเรา แล้วก็ความน่าพิศวงของนิสัยมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนจอ แล้วคุณจะคาดการณ์ไม่ถูกเลยซักนิดเดียว ต่อมามันจะมีอะไรเกิดขึ้น ต่อมาเค้าจะทำอะไรออกมา ทำไมเค้าถึงทำอย่างนั้นเนี่ย คือมันจะมีอะไรที่สร้างปมให้น่าติดตามอยู่ตลอดเวลา คือเดาเรื่องไม่ถูกนะ แค่นี้ก็สนุกแล้ว
พูดง่ายๆ มันก็แล้วแต่ระดับนะ ถ้าคนที่ไม่คิดอะไรมาก มันก็ดูสนุกไปตามเรื่อง แต่คนที่ช่างคิดหน่อยมันก็จะได้สัจธรรมบางอย่าง มันเป็นกระจกส่องตัวเองเหมือนกันว่าไอ้กิเลสตัวนี้มันมีมากมีน้อยยังไง แล้วควรจัดการยังไง ปรับปรุงยังไง แล้วจะได้รับบทเรียนยังไงบ้างจาการดูงานนี้ ก็เหมือนกับดูละครแล้วย้อนดูตัว เป็นสิ่งที่เราปรารถนา แต่ถ้าจะดูเพียงสนุกมันก็ได้รับอยู่แล้ว มันก็ได้แน่นอน แต่จากการอ่านบท
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีมงานหญิงก็ร้องไห้แทบทุกคน ทีนี้ก็เชื่อว่ามันจะเรียกน้ำตาได้ไม่น้อยเลย ต้องแจกทิชชู่แน่ๆ
นอกเหนือไปจากนี้ก็คือเนื้อหาสาระที่แฝงลึกอยู่ในนั้น คือความหมายของชีวิตคนนั่นเอง มันก็คือภาพที่เกิดขึ้นกับทุกคนนั่นแหละใช่มั้ยว่าความรักคืออะไร รักแท้คืออะไร ความรักในที่นี้มันไม่ได้หมายถึงความรักแค่หนุ่มแค่สาวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีความรักในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง ความรักในงานที่ตัวเองทำ ความรักของลูกจ้างที่มีต่อนายจ้าง ความรักของบ่าวที่มีต่อนาย ความรักของภรรยาที่มีต่อสามี ความรักแท้คืออะไร มันก็สะท้อนให้เห็นว่าตัวเองจะเป็นยังไง ถึงแม้มันจะเป็นหนังพีเรียด เป็นบทประพันธ์เก่า แต่มันก็เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตของคนทุกคนที่มีความรักน่ะ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แฟน แต่งงานกันแล้ว หรือยังไม่แต่ง มันเป็นภาพสะท้อนได้อย่างดี จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เกิดจากการอยู่ติดกันเกินไป มันเบื่อกัน ผู้ชายไปมีชู้ เรื่องเล็กน้อยก็ทะเลาะกัน ไอ้ที่ทะเลาะกันก็คือรักกัน สะท้อนชีวิตรักของทุกวัยนั่นแหละ มันคือภาพเหล่านี้แหละ เป็นคำถามและคำตอบที่จะค้นหาได้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันไม่ได้ดูยาก เป็นเรื่องที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้ ในทุกสังคม ทุกชนชั้นด้วย ไม่ได้ดูยากเลย