กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
การประกวดนวัตกรรมมิตรผลครั้งที่ 9 สานต่อแนวคิดพลังสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ชื่อโครงการ “Breakthrough Innovation” หรือ นวัตกรรมไม่ซ้ำรอยเดิม ในรูปของประดิษฐกรรม กระบวนการจัดการทางธุรกิจ และการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ พร้อมเปิดเวทีให้ทุกธุรกิจในกลุ่มมิตรผลคัดสรรสุดยอดนวัตกรรมเพื่อการต่อยอดธุรกิจ ผนวกเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขับเคลื่อนเชิงรุก พร้อมรับการแข่งขันในเวทีโลกอย่างเข้มแข็ง วาระการประกวดนวัตกรรมมิตรผลประจำปี 2553 กลับมาอีกครั้งในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับในกลุ่มมิตรผลเกิดแรงบันดาลใจในการคิดริเริ่มเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ ทั้งในรูปแบบของประดิษฐกรรมและการจัดการทางธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่และกระบวนการจัดการ และยังเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการเปิดรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไป
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพคนมิตรผลให้ก้าวสู่ การเป็นบุคลากรแถวหน้าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องว่า เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการทำให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นฐานการผลิตใหม่ของกลุ่มมิตรผล ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กรที่ต้องการเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงาน โดยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้สามารถก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ และด้วยปรัชญาขององค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เชื่อในคุณค่าของคน ตั้งอยู่ในความเป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคม ทำให้มิตรผลให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานอย่างจริงจังการเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงนำมาสู่การลงทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพพนักงานในรูปแบบต่างๆ มากมาย
อาทิ จัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเสริมความรู้และความสามารถในแต่ละสายงาน การให้ทุนสนับสนุนศึกษาต่อในระดับปริญญาและวิชาชีพ การสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามสายงาน โดยให้พนักงานนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมสัมมนาในเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาแบ่งปันให้เพื่อนร่วมงาน การเรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จ รวมถึงการจัดให้มีการประกวดนวัตกรรมของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นเวทีที่ท้าทายศักยภาพของคนมิตรผลในทุกกลุ่มธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
การประกวดนวัตกรรมภายใต้แนวคิดนวัตกรรมไม่ซ้ำรอยเดิมในปี 2553 นี้ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและเกณฑ์
การพิจารณา จากเดิมที่เปิดกว้างให้พนักงานเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมด้วยตนเองโดยไม่มีขีดจำกัดมาเป็นการกำหนดให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมมีความสอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นวัตกรรมในสายงานอ้อยให้มุ่งเน้นที่การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและประเมินผลในการจัดการ ส่วนนวัตกรรมในสายการผลิตเน้นที่การเพิ่มความสามารถในการลดต้นทุน และนวัตกรรมในสายการตลาดให้แสวงหาโอกาสในการขยายช่องทางจัดจำหน่ายและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ส่วนสายงานสนับสนุนให้เน้นที่การลดขั้นตอนการทำงาน ลดต้นทุน และสามารถยกระดับบริการได้อย่างชัดเจน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว
ประเภทรางวัล ยังคงแบ่งเป็น 3 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ นวัตกรรมด้านกระบวนการทำงาน (Process Excellence) นวัตกรรมยกระดับการบริหารจัดการ (Management & Administration Excellence) และนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่
(New Business Excellence) ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าประกวดได้ผ่านการพิจารณาในรอบคัดเลือกจากสายงานและกลุ่มธุรกิจ
ต้นสังกัดมาแล้วในรอบคัดเลือก
“ในปีนี้มีนวัตกรรมส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 95 ผลงาน โดยนวัตกรรมที่ผ่านการพิจารณาเข้ารอบสุดท้ายมีทั้งสิ้น 10 ผลงาน แบ่งเป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการ 4 ผลงาน นวัตกรรมยกระดับการบริหารจัดการ 4 ผลงานและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ 2 ผลงาน โดยทีมที่ชนะเลิศการประกวดแต่ละประเภทในรอบสุดท้าย จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท พร้อมบินลัดฟ้าไปดูงานนวัตกรรมของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ส่วนทีมรองชนะเลิศในรอบสุดท้ายจำนวน 4 ทีม จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท รวม 40,000 บาท และพิเศษสุดสำหรับทีมชนะเลิศในประเภทนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ จะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 300,000 บาท พร้อมดูงานนวัตกรรมของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศเช่นเดียวกัน” นายกฤษฎา กล่าว
ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายจากทุกกลุ่มธุรกิจทั้ง 10 ผลงาน ประกอบด้วย ธุรกิจน้ำตาล ธุรกิจอาเซียน ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจประเทศจีน และธุรกิจปาร์ติเกิลบอร์ด ในรอบสุดท้าย 3 ผลงานที่ชนะเลิศในแต่ละโครงการในปีนี้ได้แก่ เครื่องแยกเปลือกไม้ จากกลุ่มธุรกิจปาร์ติเกิลบอร์ด โรงงานพาเนล พลัส (หาดใหญ่) ซึ่งสามารถลดจำนวนคนในการแยก และได้ไม้ท่อนกลับมาในปริมาณที่มากกว่าเดิม สามารถนำเปลือกไม้กลับมาเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตได้อีก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการจำหน่ายให้กับบุคลลภายนอก และยังช่วยลดปริมาณเปลือกไม้ที่กองเป็น จำนวนมากเพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภท Process Excellence ไปครอง
ส่วนรางวัลในประเภท Management & Administration Excellence ตกเป็นของผลงาน มิตรบ้านลาดโมเดล “Jigsaw ของความยั่งยืน” จากกลุ่มธุรกิจน้ำตาล โดยบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (โรงงานภูเขียว - มิตรภูเขียว) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งชาวไร่และโรงงานด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร รวมทั้งนำการจัดการสมัยใหม่มาใช้อย่างเป็นระบบ และ สุดยอดนวัตกรรมมิตรผลในประเภท New Business Excellence ในปีนี้ได้แก่ Mirror Gloss MFC บนสี Solid ที่มี การพัฒนาต่อยอดจาก Mirror Gloss MFC บนสีขาว ผลงานจากกลุ่มธุรกิจปาร์ติเกิลบอร์ด ฝ่ายการตลาด สำนักงานใหญ่ ซึ่งนอกจากจะสามารถประหยัดต้นทุนการพ่นสีในขั้นตอนต่างๆ เนื่องจากมีผิวมันวาวอยู่แล้ว ยังมีราคาถูกและมี ความหลากหลายของสีให้เลือกตามความต้องการของลูกค้าที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองได้ในที่สุด
จากภาพ - นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ร่วมแสดงความยินดีและมอบรางวัลชนะเลิศให้แก่ตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัล “โครงการมิตรผล-นวัตกรรมไม่ซ้ำรอยเดิม ประจำปี 2553” จาก 3 ประเภทโครงการ ซึ่งได้แก่ โครงการเครื่องแยกเปลือกไม้ จากกลุ่มธุรกิจปาร์ติเกิลบอร์ด โรงงานพาเนล พลัส (หาดใหญ่) ชนะเลิศในประเภท Process Excellence โครงการมิตรบ้านลาดโมเดล “Jigsaw ของความยั่งยืน” จากกลุ่มธุรกิจน้ำตาล โดยบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (โรงงานภูเขียว - มิตรภูเขียว) ชนะเลิศในประเภท Management & Administration Excellence และโครงการ Mirror Gloss MFC บนสี Solid ผลงานจากกลุ่มธุรกิจปาร์ติเกิลบอร์ด ฝ่ายการตลาด สำนักงานใหญ่คว้ารางวัลชนะเลิศในประเภท New Business Excellence
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ โทร. 0-2252-9871