ไทยชูจุดแข็ง ตอกย้ำศักยภาพ ศูนย์กลางและเทคโนโลยีฮาลาลของโลก ในงาน World of Muslim 2007

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 30, 2007 13:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
ไทยชูจุดแข็ง ตอกย้ำศักยภาพ ศูนย์กลางและเทคโนโลยีฮาลาลของโลก ในงาน World of Muslim 2007 หวังสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนจากประเทศมุสลิม
สสปน. นำคณะสื่อมวลชน ชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ตรวจสอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลแห่งแรกในโลก โชว์ศักยภาพและตอกย้ำจุดแข็ง เรื่องเทคโนโลยี คุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบเรื่องฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม หวังต่อยอดเชิญชวนกลุ่มประเทศมุสลิมลงทุนทำการค้าในไทย จากการเข้าชมงาน World of Muslim 2007 ครั้งแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2550 อิมแพค เมืองทองธานี
นางสุประภา โมฬีรตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการขยายการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศมุสลิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของภาคธุรกิจตลอดจนเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไมซ์ ( MICE ) ของประเทศให้เป็นที่รู้จักแก่กลุ่มประเทศมุสลิม ดังนั้น สสปน.จึงร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมนักธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย - มุสลิม TITIA (Thai-Islamic Trade and Industrial Association) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “World of Muslim 2007” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2550 ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือและโอกาส ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนการเผยแพร่วัฒนธรรมกับกลุ่มประเทศมุสลิม รวมทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับภาครัฐ และเอกชน ไปจนถึงประชาชนในระดับรากหญ้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติ และชาวมุสลิม เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามของผู้ประกอบธุรกิจไทย ที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศทางด้านการค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่สำคัญ การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในความเป็นมืออาชีพในการจัดประชุมระดับสากล )International Convention) และการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibition) เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายไมซ์ จากประเทศมุสลิมอีกด้วย นางสุประภากล่าวต่อไปว่า
“ ดังนั้น ทางสสปน.ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการจัดงานครั้งนี้ จึงได้เชิญสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกของโลกที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติในการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ในเรื่องการจัดวางระบบในเรื่องการคิด การจัดวางระบบเอกสาร การจัดการ ที่เหมาะกับแต่ละองค์กร การวางระบบการจัดการด้าน Logistic ให้ถูกต้องตามหลักฮาลาล และเพื่อเป็นการตอกย้ำจุดแข็งและความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องฮาลาลที่สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านการบริโภคและการลงทุนของประเทศมุสลิมได้ในอนาคต ด้วยการที่ประเทศไทยมีหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีอย่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็มีธุรกิจที่พร้อมสำหรับการลงทุนของชาวมุสลิม อาทิ ธุรกิจ โรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพ การเงิน และอาหาร รวมทั้งยังมีหน่วยงานของมุสลิมที่ให้การสนับสนุนการลงทุน เช่น ธนาคารอิสลาม และกองทุน Sakad ที่รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นกัน” “
ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน คณบดี คณะสหเวชศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลและผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวโน้มของการของการเติบโตของตลาดมุสลิมในประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นทุกปี จากปี 2000 -2006 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 12.47% สร้างรายได้ประมาณ 11,052 ล้านบาท/ ปี สำหรับการส่งออกในส่วนของสินค้าประเภทอาหารนั้น ไทยมีการส่งออกเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ส่วนสินค้าอาหารที่ประเทศไทยส่งออก ในปี 2006 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารฮาลาล ประมาณ 330 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.057 % ซึ่งยังเป็นช่องว่างที่ประเทศไทยยังสามารถส่งออกไปได้เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศมุสลิม เนื่องจากอาหารฮาลาลนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงโลกของมุสลิมเท่านั้น ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็สามารถรับประทานทานได้ ปัจจุบันตลาดใหญ่ของอาหารฮาลาลอยู่ที่ อียู และสหรัฐอเมริกา
“ปัจจุบันประชากรมุสลิมมีอยู่ในโลกประมาณ 1,900 ล้านคน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการขยายตัวเร็วมาก โดยเพิ่ม 2 - 3 เท่า มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะขยายการค้ากับกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยต้องมีความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจฮาลาลอย่างแท้จริง เนื่องจากฮาลาล ยังครอบคลุมกว้างขวางไปถึงโรงงาน ร้านอาหาร ภัตตาคาร การท่องเที่ยว เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การเงิน การศึกษา ฯลฯ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยร้อยละ 99% ที่ไม่ใช่มุสลิม เห็นโอกาสของฮาลาล มากขึ้น และจุดแข็งของประเทศไทยคือ การที่มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกของโลกที่ดำเนินการในด้านนี้ สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ของไทย สามารถให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม อาทิ การจัดวางระบบในเรื่องการคิด การจัดวางระบบเอกสาร การจัดการ ที่เหมาะกับแต่ละองค์กร การวางระบบการจัดการด้าน logistic ให้ถูกต้องตามหลักฮาลาล “ดร.วินัย กล่าวสรุป
งาน World of Muslim 2007 นับเป็นเวทีสำหรับการประชุมและการแสดงสินค้าที่สำคัญงานหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยในการแสดงศักยภาพและความพร้อม รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศมุสลิม โดยภายในงานจะประกอบไปด้วย
กิจกรรม 2 ส่วน คือ การจัดประชุมสัมนา The 2nd International Islamic Economic, Cultural and Tourism Conference in Thailand 2007 ซึ่งเป็นการจัดประชุมประจำปีของสมาชิกประเทศมุสลิมว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศมุสลิมกับองค์กรมุสลิมต่างๆประกอบไปด้วย Organization of the Islamic Conferenceหรือ OIC เพื่อที่จะได้รับทราบนโยบายของ OIC เกี่ยวกับอนาคตในการพัฒนางานของกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ และจะได้ทราบนโยบายของหน่วยงานด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมสัมมนาย่อยที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยการสนับสนุนจาก Organization of the Islamic Conference (OIC) และ Islamic Chamber of Commerce andIndustry (ICCI) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นสื่อกลางการเจรจาการค้าและธุรกิจ วัฒนธรรม ของกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีสมาชิก 57 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนั้นยังมีอีกกิจกรรมหนึ่ง คือ งานแสดงสินค้า World of Muslim Trade & Exhibition ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็น
โอกาสอันดีที่นักธุรกิจไทยจะเปิดโลกทัศน์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ค้าที่มาจากกลุ่มประเทศมุสลิมเพื่อความเข้าใจในกฏระเบียบด้านการทำธุรกิจกับประเทศมุสลิม ทั้งยังจะได้แลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ และมุมมองทางการค้า การจับคู่เจรจา สร้างโอกาสทางธุรกิจเพื่อการส่งออกและร่วมฟังสัมมนาในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจฮาลาล จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติที่ครบครัน ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวประมาณกว่า 15,000 คน และจะสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศประมาณ 400 ล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คือองค์กรของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ออกโดยพระราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2545 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการได้เริ่มเปิดทำการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนและประสานงานด้านการจัดการประชุม การจัดงานเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งมักเรียกโดยรวมเป็นคำย่อว่า ‘MICE’ มีที่มาจากการจัดประชุม การจัดงานเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการในประเทศไทย การจัดตั้งสสปน.ขึ้นมานี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเติบโตของไทยในการเป็นตัวเลือกหนึ่งของสถานที่จัดงานประชุมงานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี
โทร 0-2694-6000 Ext. 6091 หรือ 08-1840-4701
อีเมลล์: parichat_s@tceb.or.th
คุณอริสรา ธนูแผลง
โทร 0-2694-6000 ต่อ 6092 หรือ 08-1561-4745
อีเมลล์ : arisara_t@tceb.or.th
เจดับบลิวที ประเทศไทย : เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์
โทร. 0-2204-8221 หรือ 08-9127-2089
อีเมลล์ : wongchan.tangsongsak@jwt.com
คุณกรรณภร ภิรมย์อรรถ
โทร 0-2204-8232 หรือ 08-1402-0218
อีเมลล์ : kaanporn.piromautta@jwt.com
คุณญาดา ศรีสัมมาชีพ โทร. 0-2204-8214
หรือ 08-4640-0058
อีเมลล์ : yada.srisammasheep@jwt.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ