กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
“ดูดแก๊สมาทำไฟฟ้าเราเห็นด้วย แต่ว่าขออีกขั้นหนึ่ง มีเวลาอีกประมาณสัก 5 ปี ที่จะมาทำไฟฟ้าด้วยขยะที่สลายไบโอแก๊สออกไปแล้ว เอาออกไปและก็มาเผาด้วยเครื่องสำหรับกรองมลพิษที่ออกมาจากการเผาตั้งแต่ต้นก็มาฝัง แล้วเราก็ดูดแก๊สออกมาใช้ แล้วขุดหลังจากนั้นนำมาเผา ได้ขี้เถ้าแล้วนำไปอัด หมดจากหลุมนี้ก็เอาขยะมากลบ ก็ผลิต 10 ปี ครบวงจรแล้ว” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานนิทรรศการอุทยานวิจัยและงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2538
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการกำจัดขยะแบบครบวงจร จึงก่อให้เกิดแรงผลักดันเพื่อการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลก ดังที่รู้กันดีว่า “ขยะไม่มีวันหมด ที่ดินไม่มีวันเพิ่ม” การจัดการขยะอย่างครบวงจรตามแนวพระราชดำริจึงเริ่มต้นขึ้น...ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลทั้งการผลิตกระไสไฟฟ้าจากขยะ และสามารถนำที่ดินมาหมุนเวียนในการฝังกลบขยะได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยไม่เปลืองทรัพยากรที่ดิน โดยองค์ความรู้ได้รับการถ่ายทอดผ่านการสัมมนา “การจัดการขยะแบบครบวงจรตามแนวพระราชดำริ” โดยมี ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในงาน ณ ห้องแซฟไฟร์ 1 อาคารอิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี
ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “สืบเนื่องจากวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานวันเกษตรแห่งชาติ และเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้เสด็จถึงนิทรรศการของศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับโครงการผลิตแก๊สจากขยะ และได้พระราชทานแนวทางพระราชดำริสำหรับในส่วนของการใช้ประโยชน์จากแก๊ส ตลอดจนการบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะในพื้นที่ฝังกลบ และมีพระราชประสงค์จะให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและจริงจัง จึงได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนาให้แก่คณะทำงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยอดเงิน 1,000,000 บาท เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ในรูปแบบของ “กองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ” เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2538 และทรงอนุญาตให้ผมดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2539 เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องการ”
แน่นอนว่าโครงการนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ย่อมต้องมีอุปสรรคกว่าจะถึงเป้าหมาย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่งจะเพิ่มงบประมาณ แต่ว่าคณะทำงานนักวิชาการที่เกี่ยวข้องอยากจะศึกษาและแก้ปัญหาในฐานะนักวิจัยกันเอง ตลอดเวลาได้ไปหาความรู้และดูงานที่ต่างประเทศ และได้ดำเนินการต่อมาเป็นเวลาเกือบ 15 ปี มีหน่วยงานและบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือทางงบประมาณ 5 หน่วย เป็นยอดเงินประมาณ 46,903,093.29 บาท มีอาจารย์ที่เข้าร่วมทำงานหลายท่าน แต่โครงการประสบปัญหาและอุปสรรคนานาประการ ทั้งในด้านวิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และบริหารจัดการ อาทิ แก๊สเป็นพิษ น้ำปนเปื้อน เป็นต้น จนกระทั่ง พ.ศ.2552 จึงประสพความสำเร็จ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 480,080 ยูนิต โดยตลอดเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามโครงการผ่านราชเลขา และรายงานที่คณะทำงานทูลเกล้าถวาย ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นเสมือนไม้ขีดไฟก้านแรกที่จุดประกายให้เกิดการพัฒนานี้ได้ ทำให้มีการนำที่ดินมาหมุนเวียนเพื่อใช้ในการฝังกลบขยะ ทำให้ต่อไปนี้เราจะมีพื้นที่กำจัดขยะต่อเนื่องถาวร ซึ่งอาจกล่าวว่าไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลก นี่จึงเป็นครั้งแรกในโลก แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ”
ด้าน นายไชยยศ สะสมทรัพย์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ที่เป็นผู้สนับสนุนพื้นที่ในการศึกษาเปิดเผยว่า “เพราะความสุขคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ชีวิตที่อยู่กับขยะทุกวัน อยู่กับสิ่งที่ทุกคนรังเกียจ ถ้าปราศจากความพึงพอใจ ความภูมิใจ สุขใจ ทำไม่ได้ เครื่องจักรที่มีมาตรฐานแค่ไหนจากภายนอก แต่ถ้าใจอ่อนแอก็ไม่มีทางสำเร็จ ทุกวันนี้ผมจึงทำงานด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อผมมีโอกาสทำให้สิ่งไร้ค่าที่คนเรียกว่า “ขยะ” มีคุณค่า และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนในอนาคต อีกทั้งได้เดินตามรอยพระราชดำริในการจัดการขยะแบบครบวงจร ทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน”
นอกจากนี้ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ยังมีการประสานงานกับท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับกระแสพระราชดำรัส “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ไม่เพียงเป็นสถานที่สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวกำแพงแสนอันเป็นพื้นที่ก่อตั้งบ่อฝังกลบขยะ ซึ่งกว่า 90% เป็นคนพื้นที่ หากยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกตำบลพร้อมผู้นำท้องถิ่นหมุนเวียนมาเดินออกกำลังกายในช่วงเช้าตรู่รอบบ่อฝังกลบ ผ่านกิจกรรม “เสาร์สุขภาพ” ที่กำหนดจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด ตลอดจนทัศนคติต่างๆ ร่วมกันกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน และเข้าถึงด้วยการได้มาเห็นและสัมผัส ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และได้ประโยชน์ร่วมกัน
นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการตามรอยพ่อ...ที่ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อชุมชน ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลก
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา