ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” เป็น “A” จากเดิม “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”

ข่าวทั่วไป Wednesday February 21, 2007 08:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (MINT078A, MINT07NA, MINT105A, MINT10DA) ของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น การมีธุรกิจที่กระจายตัวอันประกอบด้วยธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนซึ่งบริษัทมีฐานะเป็นผู้นำตลาด ตลอดจนการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ธุรกิจรับจ้างบริหารงานโรงแรมในต่างประเทศที่เติบโต และโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีอัตรากำไรที่ต่ำ นอกจากนี้ การที่บริษัทขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่อยู่อาศัยราคาแพงและธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดเอาไว้ได้ โดยที่ผู้บริหารของบริษัทจะยังคงลงทุนขยายกิจการตามแผนโดยการใช้เงินสดภายในและจากการกู้ยืมอย่างรอบคอบ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งโดย Mr. William Ellwood Heinecke ในปี 2521 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายกิจการจนปัจจุบันถือได้ว่าบริษัทเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีการกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยโรงแรมทั้งที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือบริหารซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมืองและโรงแรมแบบตากอากาศพร้อมบริการสปาที่หรูหราจำนวนทั้งหมด 13 แห่ง รวม 2,283 ห้องซึ่งอยู่ในประเทศไทย มัลดีฟ และเวียดนาม โรงแรมเหล่านี้บริหารและดำเนินงานภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่าง Mariott และ Four Seasons และตราสัญลักษณ์ของบริษัทเอง คือ Anantara และหลังจากการปรับโครงสร้างของกลุ่มไมเนอร์ในปี 2546 บริษัทได้นำธุรกิจอาหารบริการด่วนของกลุ่มมาดำเนินการภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 และเป็นผู้ให้บริการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศ 4 ตราสัญลักษณ์ คือ สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ ควีน และ เบอร์เกอร์ คิง รวมทั้ง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของบริษัทเอง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 มีจำนวนสาขารวมทั้งหมด 515 แห่ง และแฟรนช์ไชส์ย่อยอีก 87 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รายได้จากธุรกิจโรงแรมและอาหารบริการด่วนคิดเป็น 92%ของรายได้รวมของบริษัท เมื่อเปรียบเทียบกันคู่แข่งในธุรกิจ 2 ประเภทแล้ว บริษัทมีฐานรายได้ที่กว้างและหลากหลายกว่า อีกทั้งยังมีการขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของจำนวนสาขาในธุรกิจอาหารบริการด่วนและผลประกอบการที่มั่นคงจากธุรกิจโรงแรมส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้น 26% จาก 7,948 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 10,046 ล้านบาทในปี 2548 และเพิ่มขึ้น 16% ระหว่างงวด 9 เดือนแรกของปี 2549 เป็น 8,501 ล้านบาทจาก 7,300 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2548 บริษัทมีอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่เพิ่มขึ้นจากระดับ 2,945 บาทต่อห้องในปี 2547 เป็น 3,272 บาทในปี 2548 และ 3,400 บาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสำเร็จในการรักษาความพึงพอใจของแขกโรงแรมและภาวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ในขณะที่ธุรกิจอาหารของบริษัทก็มียอดขายจากสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 5.8% ในปี 2548 และ 9.9% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2549 แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม
แม้ว่ารายจ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากความพยายามในการเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาด แต่สัดส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนทยอยลดลงจาก 57.5% ในปี 2547 เป็น 54.8% ในปี 2548 และ 45.9% ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2549 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของกระเงินสดจากการดำเนินงานและจากการเพิ่มทุน โดยคาดว่าผู้บริหารของบริษัทจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนสำหรับการขยายกิจการในอนาคตอย่างรอบคอบ ซึ่งคาดว่าบริษัทจะคงสัดส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับ 45%-55% ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,000 ล้านบาทในปี 2546 มาอยู่ที่ระดับ 1,700-2,000 ล้านบาทในช่วงปี 2547-2549 ซึ่งบริษัทนำเงินสดเกือบทั้งหมดกลับไปใช้ลงทุนในธุรกิจโรงแรมเป็นหลักในช่วงเวลาดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ