ประกาศผลรางวัล “รักลูกอวอร์ด” ครั้งที่ 7 รางวัลหนังสือดี เพื่อครอบครัวไทย

ข่าวทั่วไป Monday September 6, 2010 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--รักลูกกรุ๊ป “..จับแมลงมาดู อยากรู้จักชื่อ เปิดหน้าหนังสือ ถือกล้องส่องขยาย เทียบดูสีลาย ส่งเสียง เป็นเพลง อีเล้งเค้งโค้ง..” นี่คือส่วนหนึ่งของผลงาน “อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง” ของสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ที่ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัย 3-6 ปี ในการประกวด “รักลูกอวอร์ด” ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นหนังสือที่มีความสมบูรณ์ทั้งเนื้อหา การใช้ภาษา ภาพประกอบ และรูปแบบการนำเสนอที่กระตุ้นจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยนี้ได้อย่างเหมาะสม ในที่สุดรางวัล “รักลูกอวอร์ด” ก็ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปีนี้มีผลงานหนังสือคุณภาพที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 20 เล่ม ที่พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกอ่าน ตามวัตถุประสงค์ของรักลูกอวอร์ด ที่ต้องการคัดสรรหนังสือคุณภาพดีสำหรับเด็กทุกช่วงวัย รวมทั้งผลักดันให้ครอบครัวไทยได้มีหนังสือคุณภาพ ไว้อ่านร่วมกันในครอบครัว ได้แก่ ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 0-3 ปี รางวัลชมเชย ได้แก่เรื่อง มีอะไรให้ฉันกินบ้าง สำนักพิมพ์ สานอักษร โรงเรียนรุ่งอรุณ ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 3-6 ปี รางวัลดีเด่น ได้แก่ อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง และ เมืองปลายักษ์ สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก รางวัลชมเชย ได้แก่ น้องนับนิ้ว สำนักพิมพ์ส้มสีฟ้า, วัวดำกับวัวขาว สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ และ มามะ มาเล่นกันนะ สำนักพิมพ์พาส เอ็ดดูเคชั่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 7-9 ปี รางวัลชมเชย ได้แก่ มีช้างอยู่ในขอนไม้ สำนักพิมพ์ พาส เอ็ดดูเคชั่น และ ดอกไม้ริมทาง สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 10-12 ปี (ประเภท Story Book) รางวัลดีเด่น ได้แก่ ม็อกซ์ แมวมหัศจรรย์ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, รางวัลชมเชย ได้แก่ ขบวนการเด็ก ชุด มิตรภาพในธรรมชาติ และชุดสอนลูก ให้ดีด้วยชาดก ตอน สอนลูกให้ฉลาดคิด สำนักพิมพ์ครอบครัว ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 10-12 ปี (ประเภท Comic Book) รางวัลชมเชย ได้แก่ ดินแดน แสนประหลาด ตอน นครเลียนแบบ สำนักพิมพ์พาส เอ็ดดูเคชั่น, พ่อขุนรามคำแหง 1 และ 2 สำนักพิมพ์อมรินทร์คอมมิกส์ ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 13 ปีขึ้นไปถึงวัยรุ่น (ประเภทสารคดี) รางวัลดีเด่น ได้แก่เรื่อง สอ เสถบุตร ดิกชันนารีแห่งชีวิต สำนักพิมพ์สารคดี, รางวัลชมเชย ได้แก่ ต้นธารวิถีมอญ สำนักพิมพ์แพรวสำนักพิมพ์, และ ก้าวที่พลาด สำนักพิมพ์สารคดี ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 13 ปีขึ้นไปถึงวัยรุ่น (ประเภทบันเทิงคดี) รางวัลชมเชย ได้แก่ จากวันจันทร์ของชีวิต...วันศุกร์ต้องมาถึง สำนักพิมพ์มิ่งมิตร และ ขบวนการหนังสติ๊ก ตอน ผจญภัยในเมือง สำนักพิมพ์พาส เอ็ดดูเคชั่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัย 13 ปีขึ้นไปถึงวัยรุ่น (ประเภทความเรียงเชิงทัศนะ) รางวัลชมเชย ได้แก่ ครัวสีแดง สำนักพิมพ์แพรวสำนักพิมพ์ หนังสือต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ชีวัน วิสาสะ เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง” ซึ่งคว้ารางวัลดีเด่น ประเภทกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัย 3-6 ปี เปิดเผยว่า “อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง” สร้างขึ้นเพื่อต้องการให้เด็กๆ ได้สนุกกับการเรียนรู้ธรรมชาติด้วยการจับแมลง จุดเด่นของเรื่องอยู่ที่การให้ความคิดรวบยอดสำหรับกิจกรรมจับแมลง 5 ขั้นตอน คือ “จับ ดู รู้ วาด ปล่อย” นำไปสู่การเล่นและการเรียนรู้อย่างมีจุดมุ่งหมายและมีกระบวนการแบบบูรณาการเป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ สงสัย ลงมือหาคำตอบ ค้นคว้า จนได้ความรู้ และยังเป็นการผสานทั้งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับศิลปะไว้ด้วยกัน ซึ่งเด็กวัย 3 ขวบ จะเป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้ ช่างสังเกต ช่างซักถาม “อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง” จึงช่วยเติมเต็มทั้งจินตนาการ การเรียนรู้ และให้แง่คิดที่เหมาะสมแก่เด็กๆ ได้ อีกหนึ่งผลงานคุณภาพไม่แพ้กัน คือเรื่อง “ม็อกซ์ แมวมหัศจรรย์” ที่คว้ารางวัลดีเด่นไปครอง ในหนังสือสำหรับเด็กช่วงวัย 10-12 ปี สุมาลี บำรุงสุข ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ เปิดเผยว่า “ตั้งใจเขียนเรื่องให้เด็กอ่านสนุก ขณะเดียวกันก็สอดแทรกความรู้รอบตัวเข้าไปด้วย โดยพยายามเลือกเนื้อหาที่ทันสมัย เป็นเรื่องใกล้ตัว ของเด็ก มีการบรรยายและอธิบายศัพท์ใหม่ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เนื้อหาแต่ละบทสั้นๆ เด็กเห็นแล้วมีกำลังใจอ่านจนจบ” หนังสือต้องผสมผสานกันระหว่าง รูปแบบ เนื้อหา และความสนุก ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ศ.(เกียรติคุณ) พ.ญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานกรรมการตัดสินหนังสือสำหรับเด็กวัย 0-3, 3-6, 7-9 ปี กล่าวว่า “ปีนี้มีหนังสือส่งเข้ามามากขึ้น ทำให้กรรมการดีใจที่มีการตื่นตัว โดยหนังสือที่ผ่านเข้ารอบมีจุดเด่นโดยรวม คือ เหมาะสมกับวัย เนื้อหาช่วยพัฒนาสมอง และกระตุ้นการเรียนรู้ มีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม มีการใช้ภาษาไทยอย่างเหมาะสมภาพประกอบสวยงาม ให้ความเพลิดเพลิน ส่งเสริมการรักธรรมชาติ มีพื้นฐานความเป็นจริงของชีวิต สุดท้ายต้องสอดรับ กับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กผ่านการอ่านนิทาน” ด้าน นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ประธานกรรมการตัดสินหนังสือสำหรับเด็กวัย 10-12 ปี กล่าวว่า “ในปีนี้เห็นแนวโน้มการผลิตหนังสือที่ผสมผสานระหว่างความบันเทิงและความรู้ได้ลงตัวมากขึ้น โดยผู้ผลิตพยายามพัฒนารูปแบบและเนื้อหาให้น่าสนใจและชวนติดตาม เรื่องที่ได้รับรางวัลดีเด่นในปีนี้ จึงเป็นเพราะการใส่จินตนาการผสมผสานกับการสอดแทรกความรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม” นายแพทย์ประเวช ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมของวรรณกรรมสำหรับเด็กในบ้านเราว่า “ปริมาณหนังสือเด็กในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความตื่นตัวของครอบครัวที่สนับสนุนให้ลูกๆ อ่านหนังสือ มากขึ้น แต่หนังสือส่วนใหญ่ยังขาดการพัฒนาด้านคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าทางเนื้อหา การวาดภาพ ให้สวยงามเหมาะสมกับเรื่องราว และการนำเสนอที่กระตุ้นจินตนาการ จึงอยากเห็นหนังสือที่มีความลงตัว ทั้งในแง่เนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ และความสนุก เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านมากขึ้นด้วย” อีกหนึ่งทัศนะของคนคุณภาพ แทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้ดำเนินรายการและนักจัดรายการวิทยุ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรักลูกอวอร์ด กล่าวว่า “อยากให้นักเขียนให้ความสำคัญกับรูปแบบการนำเสนอมากขึ้น เนื้อหาที่นำเสนอควรเป็นการชี้แนะแนวทางให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาและต่อยอดให้รู้จักคิด มีการสอดแทรกเรื่องคุณธรรมความดี เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีการเลียนแบบสูง การสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จะทำให้เด็กจดจำและนำไปเลียนแบบได้ อีกทั้งควรนำเสนอเนื้อหาให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ในสังคม เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนในแง่ภาพประกอบ นักวาดควรมีจินตนาการที่สูงขึ้น เพราะเด็กจะรับรู้ ซึมซับจากภาพที่สื่ออกมา” พ่อแม่ คือ ต้นแบบที่ดีสำหรับการอ่าน นายแพทย์ประเสิฐ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานกรรมการตัดสินหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนวัย 13 ปีขึ้นไปถึงวัยรุ่น กล่าวว่า “พ่อแม่คือต้นแบบที่สำคัญที่สุดต่อการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของลูก เพราะเมื่อลูกๆ เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือก็จะเกิดการอ่านตาม โดยพ่อแม่อาจเริ่มจากการอ่านให้ลูกเห็นเป็นนิสัย จากนั้นสามารถเพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ซึ่งทำได้ตั้งแต่ลูกเกิด พอโตขึ้นก็พาไปร้านหนังสือหรือซื้อหนังสืออ่านง่ายๆ สนุกๆ ให้ลูกอ่านเรื่อยๆ โดยพาไปเลือกเองบ้าง ซื้อเอามาวางไว้ในบ้านบ้าง ทำให้เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อลูกเข้าใกล้วัยรุ่น ก็พาไปร้านหนังสือบ่อยขึ้น ทำให้ลูกติดร้านหนังสือ เมื่อลูกติดร้านหนังสือก็จะติดหนังสือไปด้วย” นักเขียนต้องพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองให้โดดเด่น ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่ได้มีโอกาสแสดงออก ในส่วนของสำนักพิมพ์ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ สู่ สังคมนั้น พรกวินทร์ แสงสินชัย บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า “อยากให้นักเขียนไทย หันมาเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กมากขึ้น โดยเขียนอย่างคำนึงถึงเด็กผู้อ่าน ไม่เพียงมุ่งเน้นการสอน เพียงอย่างเดียว แต่นึกถึงความสนุกสมวัย เพื่อเป็นทางเลือกและปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน อีกทั้งอยากให้นักเขียนไทยกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้แปลกใหม่ โดดเด่น ฉีกแนว ไม่ควรเลียนแบบแนวทางของคนอื่นจนขาดอัตลักษณ์ของตัวเอง” สำหรับบทบาทของสำนักพิมพ์ในการสนับสนุนนักเขียน อนุสรา ดีไหว้ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก กล่าวว่า “การให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และจ่ายในอัตราก้าวหน้า เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้นักเขียนได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ต่อไป นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ควรเปิดโอกาสให้นักเขียน รุ่นใหม่ได้แสดงผลงาน โดยไม่เน้นว่าจะต้องเป็นนักเขียนขายดีหรือมีผลงานมาก่อน เพราะหน้าที่สำคัญของสำนักพิมพ์คือการเปิดโอกาส เปิดเวทีให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้แสดงผลงาน รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนหันมาสนใจงานเขียน และฝึกปรือฝีมือจนก้าวสู่สนามวรรณกรรมระดับประเทศและระดับโลกต่อไป” พรกวินทร์ กล่าว ปิดท้าย “รักลูกอวอร์ด” เป้าหมายสู่การขับเคลื่อนสังคมผ่านวัฒนธรรมการอ่าน ทั้งหมดนี้คือความเป็น “รักลูกอวอร์ด” ที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันให้วงการหนังสือเด็กของไทย เติบโตอย่างมีคุณภาพ นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร ประธานโครงการดำเนินงานรักลูกอวอร์ด กล่าวว่า “ที่ผ่านมา รักลูกอวอร์ด ทำหน้าที่เพียงให้รางวัลหนังสือดี ใครทำดี เราก็ให้รางวัล แต่จากนี้ การให้รางวัล การันตีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการชี้แนะแนวทางให้กับสถาบันครอบครัว คนทำหนังสือ และสังคมไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งเราพร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุนความรู้ เพื่อช่วยในการทำงานของผู้ผลิตหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ นักเขียน และนักวาดภาพประกอบ ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีมีคุณภาพสู่สังคม ควบคู่ไปกับการกระตุ้นและผลักดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือภายในครอบครัว ตามความมุ่งหมายของรักลูกอวอร์ด นี่คือภารกิจสำคัญที่ “รักลูกอวอร์ด” พร้อมเดินหน้าต่อไป เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากเห็น “รักลูกอวอร์ด” เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ให้สังคมไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: ศุจิมา แวววิริยะ (แก้ว) เจ้าหน้าที่สื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด โทร. 0 2913 7555 ต่อ 3514 / 08 1905 7896

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ