กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--
โครงการความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างองค์การบริหารเมืองอลาสซิโอ ประเทศอิตาลี, Gerini International Siamese Studies Archive and Database, กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สถาบันทักษิณคดีศึกษา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม-12 กันยายน 2553 ทุกวันเวลา 09.00-16.30 น. ณ หอศิลป์ร่วมสมัยภาคใต้ สถาบันทักษิณคดีศึกษา เกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ทะเลเอเดรียติก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับทะเลอันดามัน อ่าวไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต่างในบริบททางประวัติศาสตร์แต่มีลักษณะร่วมของพื้นหลังบางประการเหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นทะเลที่โอบล้อมกันและกัน มีการเดินทางไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันและต่างคือจุดเริ่มต้นการเดินทางไกลข้ามทวีป บทบาทของทะเลภาคใต้ของยุโรปโดยเฉพาะของอิตาลีและภาคใต้ของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงนานาประการ
ลูชาโน เยโรลาโม เยรินี ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้เดินทางท่องสองทะเลนี้ได้สร้างสรรค์นิทรรศการชื่อ IL Nostro Sud (อิล โนสโตร ซุด) หรือปักษ์ใต้บ้านเรา เพื่อแสดงบทบาทของศิลปกรรมร่วมสมัยในการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมของสองดินแดนแห่งปักษ์ใต้บ้านเรา การจัดวางแสงและเงาในนิทรรศการนี้เป็นกระบวนการทำงานที่เริ่มจากศิลปะภาพถ่ายเงาสะท้อนในทะเลภาคใต้ทวีปยุโรปและภาคใต้ประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อภาพนั้นกระทบใจและความรู้สึกอย่างรุนแรงของลูชาโนก่อนจะนำมาสู่การประมวลภาพของสองทะเลขึ้นมา แล้วจึงใช้ฝีมือหัตถกรรมการแกะรูปหนังตะลุงของตระกูลศรีทวีกุล อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลาสร้างเป็นภาพบนแผ่นหนัง ในที่สุดลูชาโนนำภาพต่างๆ เหล่านั้นมาจัดวางในพื้นที่ร่วมกับแสง เสียง ภาพเคลื่อนไหวและวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติเพื่อแทนความค่าความรู้สึกและความหมายของสองทะเลที่ได้เกิดขึ้นในใจท่ามกลางความสงบของจิต
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแสดงนิทรรศการเมื่อวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ได้กล่าวว่า “ผมชอบแนวความคิดที่แฝงอยู่ในนิทรรศการที่สะท้อนความละม้ายคล้ายเหมือนทางวัฒนธรรมและสุนทรีย์ทางศิลปะของพื้นที่ทะเลภาคใต้ของทวีปยุโรปคืออิตาลีกับภาคใต้ของประเทศไทยที่ล้อมรอบด้วยสองทะเล และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะโดยฝีมือของสองวัฒนธรรมที่ผสมผสานขนบแบบโบราณของตะวันออกเข้ากับภาพลักษณ์ความทันสมัยและเทคนิคแบบร่วมสมัยของตะวันตก ผมคิดว่านี่คือภาษาทางวัฒนธรรมแบบสร้างสรรค์ในมิติใหม่ ที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแสดงนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยไทย-อิตาเลียนในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ท่านทั้งหลายทั้งฝ่ายไทยและอิตาลีจะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและร่วมกันสร้างสรรค์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย-อิตาเลียนที่ต่างมีความโดดเด่นในโลกตะวันออกและตะวันตกบนพื้นฐานของความดี ความงามและความสุขของสองวัฒนธรรมสืบไป”
ดร โมนิกา ซิโอนิ รองนายกองค์การบริหารฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองอลาสซิโอ ผู้ริเริ่มการนำนิทรรศการศิลปะของลูชาโน เยโรลาโม เยรินีเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธภาพอันดีงามระหว่างไทย-อิตาลี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ประการแรกว่าเพื่อแสดงความจริงใจในมิตรภาพที่ชาวอิตาลีมีต่อภาคใต้ของไทยและความปรารถนาที่จะมีการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ประการที่สองเพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินของทั้งสองวัฒนธรรมได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมร่วมกันและประการที่สามเพื่อแสดงความเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียวของชาวปักษ์ใต้ของยุโรปและประเทศไทย นอกจากนี้ยังแสดงความประทับใจอีกว่า “ดิฉันรู้สึกทราบซึ้งยิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานพร้อมด้วยท่านผู้ช่วยรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลของประเทศไทยต่อการสร้างสัมพันธภาพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม”
ขอเชิญผู้รักศิลปะทุกท่านชมนิทรรศการตามวันและเวลาดังกล่าวพร้อมรับซีดีสูจิบัตร Il Nostro Sud-ปักษ์ใต้บ้านเราที่ศิลปินจัดทำเป็นการพิเศษสำหรับผู้เข้าชมด้วย
www.facebook.com/lgerini