กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--JGSEE
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)
ราคาแก๊สหุงต้มปัจจุบันประมาณกิโลละ 18 บาท แต่หากรัฐลอยตัวราคาจะต้องเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งร้านอาหารและครัวเรือนทั่วประเทศคือผู้ได้รับผลกระทบ แต่เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าคือถ่าน หรือฟืน กลับไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้ รวมทั้งอาจเกิดความขัดแย้งกับความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
แต่ยังมีวัสุดเหลือทิ้งจากภาคการผลิตอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี แต่หลายคนมองข้ามไปนั่นคือ แกลบ ผลพลอยได้จากการสีข้าว ปีละกว่า 6 ล้านตันจากโรงสีทั่วประเทศ ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจำนวนประมาณ 26 แห่งทั่วประเทศ จะใช้แกลบมาเป็นเชื้อเพลิงได้ปีละ 1.2-1.6 ล้านตันเท่านั้น ทำให้มีแกลบเหลืออยู่ในตามแปลงนาทั่วประเทศอีกกว่า 4.3 ล้านตัน ที่สามารถเป็นแหล่งเชื้อเพลิงให้กับครัวเรือนในพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
แต่ความยุ่งยากในการใช้งาน อีกทั้งเรื่องของควันอันเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนการใช้ถ่านอัดแท่งแต่ก็มีราคาสูง คือ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้แกลบไม่เป็นที่นิยมสำหรับแม่บ้านยุคนี้ ขณะที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะนำแกลบดิบมาใช้กับเตาหุงต้มได้โดยตรง
ด้วยเหตุนี้ นายพิทักษ์ สุวรรณกูฏ วิศวกรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นักศึกษาปริญญาเอกบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และคุณพงศ์พร สุวรรณกูฏ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงที่ใช้แกลบดิบเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง ภายใต้ชื่อ “เตาแกลบประสิทธิภาพสูง”
“เตาถ่านในปัจจุบันส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อใช้กับถ่าน หากนำมาใช้กับแกลบนั้นไม่สามารถใช้ได้ทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการนำแกลบไปอัดเป็นแท่ง แล้วเผาเป็นถ่าน ทำให้มีราคาแพงกว่าถ่านไม้ทั่วไป นอกจากนี้ความสะดวกในการใช้งานยังด้อยกว่าเตาแก๊สหุงต้มมากเพราะใช้เวลาในการจุดเตานาน กว่าถ่านจะแดงพร้อมใช้งาน ดังนั้นหากเราต้องการนำแกลบซึ่งมีราคาถูกมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้มให้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเตาที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงโดยเฉพาะขึ้นมา”
สำหรับจุดเด่นของเตาแกลบประสิทธิภาพสูง ที่คุณพิทักษ์ ใช้เวลาพัฒนากว่า 2 ปีนั้น จะมีวิธีการใช้งานที่ง่ายสะดวกเหมือนเตาแก๊สทั่วไป (ต่างกันเพียงใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น) โดยในปัจจุบันได้พัฒนาเตามา 2 รุ่นคือ รุ่นที่มีหัวแก๊ส 1 หัว และ 2 หัว ในรุ่นหัวแก๊ส 2 หัวนั้นผู้ใช้สามารถเลือกจุดแก๊สเพียง 1 หัวหรือจุดทั้ง 2 หัวพร้อมกันก็ได้ตามความต้องการใช้งาน แต่ละรุ่นมีค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนระหว่าง 22-24% ซึ่งสูงกว่าเตาฟืนทั่วไป การใช้งานก็สะดวกกว่าเตาฟืนและเตาถ่านมากเพราะใช้เวลาในการจุดเตาเพียง 2-3 นาที โดยใช้เพียงกระดาษแผ่นเดียวเป็นเชื้อไฟก็สามารถประกอบอาหารได้แล้ว จากการทดสอบต้มน้ำปริมาณ 2 ลิตร ใช้เวลาในการต้มน้ำจนเดือดเพียง 7-8 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ เตาแกลบประสิทธิภาพสูง ยังสามารถขจัดปัญหาเรื่องเขม่าควันในการใช้งานได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แถมเถ้าแกลบที่เหลือก็ยังสามารถนำไปใช้ทำปุ๋ยได้
“จุดเด่นที่สำคัญของเตาแกลบของเราก็คือความสะดวกในการใช้งาน สามารถปรับความแรงของเปลวไฟตามต้องการได้ง่ายๆ ลักษณะเปลวไฟมีสีน้ำเงินเหมือนเตาแก๊ส ซึ่งเตาฟืนและเตาถ่านทั่วไปทำไม่ได้ โดยสีน้ำเงินของเปลวไฟบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่ดี ให้ความร้อนสูง ซึ่งจะทำให้มีไอเสียจากการเผาไหม้เกิดขึ้นน้อยกว่า ช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันได้อีกด้วย
จุดเด่นที่สำคัญอีกประการคือ ต้นทุนการใช้งานที่ถูกว่า เพราะการเผาแกลบ 54 กิโลกรัมด้วยเตานี้ (ราคาแกลบประมาณ 54 บาท) จะให้ความร้อนเท่ากับพลังงานความร้อนจากการใช้แก๊สหุงต้มขนาด 15 กก. (ราคาถังละ 281 บาท) ซึ่งหมายความว่า ค่าเชื้อเพลิงถูกกว่ากว่าการใช้แก๊สหุงต้มถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
“หากคิดที่ประกอบอาหารวันละ 2 ชั่วโมง จะใช้แกลบวันละ 5.4 กิโลกรัม หรือคิดเป็นเงินวันละ 5 บาท 40 สตางค์ รวมกับค่าไฟฟ้าสำหรับใช้กับพัดลมขนาดจิ๋วอีกวันละ 11 สตางค์ ซึ่งทั้งหมดจะคิดเป็นเงินปีละประมาณ 2,000 บาท แต่หากเป็นแก๊สหุงต้มแล้วจะต้องใช้แก๊สถึง 36 ถัง คิดเป็นเงินปีละกว่า 1 หมื่นบาท (10,245 บาท) นั่นคือจะประหยัดเงินได้ถึงปีละ 8 พันบาท หากเมื่อคำนวณความคุ้มทุนเปรียบเทียบกับเตาแก๊สหุงต้มแล้ว จะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น ในด้านการใช้งานนั้น เตาทั้ง 2 รุ่นนี้ออกแบบสำหรับใช้กับครัวเรือนและสามารถใช้ได้ทันที ส่วนการใช้งานกับอุตสาหกรรมอาหารก็สามารถใช้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีเศษวัสดุเหลือจากกระบวนการผลิตอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงการออกแบบนิดหน่อยเท่านั้น”
จากประสิทธิภาพที่สูง ด้วยเชื้อเพลิงที่หาง่าย บวกกับสะดวกกับการใช้งานในครัวเรือนใกล้เคียงกับเตาแก๊สทั่วไป โดยมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าเกือบ 5 เท่า นั่นจึงอาจเป็นคำตอบสำคัญของการช่วยภาครัฐลดภาระหนี้สินที่ต้องนำเงินไปชดเชยราคาแก็สหุงต้มที่ขณะนี้มีจำนวนมากถึง 11,927 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2549)
สอบถามรายละเอียดติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ JGSEE