กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดประชุมสามัญประจำปี 2553 ขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยภายในงานนอกจากจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ชุดใหม่แล้ว ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “สื่อหลัก ฟรีทีวี-วิทยุ จะอยู่อย่างไรกับการรุกคืบของสื่อใหม่? โดยมี คุณธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท , คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สำนักข่าวทีนิวส์ จำกัด, ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้บุกเบิก New Media ผลิตรายการทีวีบนอินเตอร์เน็ต ก่อตั้งเวบไซต์ Fukduk.tv และ คุณอภิสิทธิ์ ลิม หนึ่งในสมาชิกผู้ใช้ facebook กลุ่มมั่นใจคนไทยเกินล้านคนต่อต้านการยุบสภา
สำหรับรายละเอียดและบทสรุปเวทีเสวนาติดตามรายละเอียดได้จาก www.thaibja.org
นอกจากนี้ยังมีหนังสือรายงานประจำปีของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งนำเสนอภายใต้แนวคิด “สื่อในวิกฤติ หรือ วิกฤติในสื่อ” โดยเนื้อหาภายในเล่มเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรสื่อ ในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต รวมทั้งหลากหลายมุมมองและเสียงเรียกร้องและเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และ ภาคประชาชนจากเวทีเสวนา สัมมนาต่างๆ เกี่ยวกับสื่อตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและกดดันรอบด้าน
สำราญ ฉัตรโท รองผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 “ในฐานะสื่อมวลชนคนทำงานข่าว ยอมรับว่าท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึงผมถือว่ามีค่าดัชนี ความขัดแย้งสูงที่สุดเท่าที่ปรากฏมา กดดันสุดๆ เหตุการณ์ปฏิวัติ รัฐประหาร ที่ผ่านมายังไม่กดดันขนาดนี้”
เหตุผลสำคัญคือ การทำหน้าที่สื่อสารมวลชนในสภาวการณ์เช่นนี้ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงมาก เพราะคนในสังคมไทยแต่ละฝ่ายต่างก็มองหาความเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็กล่าวหาอีกฝ่ายว่าไม่มีความเป็นธรรม มีหลายมาตรฐาน ในเมื่อสังคมเป็นแบบนี้แล้วสื่อจะรอดพ้นข้อกล่าวหาและคำกล่าวหาว่าสื่อขาดความเป็นกลาง นำเสนอข่าว
แพะรับบาปตัวสุดท้ายหนีไม่พ้นสื่อ ซึ่งเป็นที่มาของความกดดันของสื่อในการทำงานเพื่อหาข้อมูลมานำเสนอต่อประชาชนและสังคม
พลเอก กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก วิกฤติศรัทธาในสื่อ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในตัวสื่อ มีสาเหตุปัจจัยสำคัญหลายประการได้แก่
1. ลักษณะการแข่งขันของสื่อที่รุนแรงเข้มข้นมากขึ้น ทำให้สื่อขาดการกลั่นกรองข้อมูล เพราะเน้นความรวดเร็วและกระแสสังคม
2. “คุณธรรม” ในสังคมไทย เลือนรางจาก แทบทุกวิชาชีพ ซึ่งเสื่อมไปตามสภาพสังคมไทยที่เดิมจาก “จิตนิยม” มาเป็น “วัตถุนิยม” และสื่อมวลชนก็ไม่พ้นกระแสนี้
3. สื่อบางกลุ่ม เข้าไปแสวงประโยชน์ทางธุรกิจและทางการเมือง ทำให้ขาดความเป็นธรรมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร จริยธรรมหรือจรรยาบรรณ จึงเป็นเพียงข้อกำหนดสวยหรูที่ขาดการปฏิบัติอย่างจริงจัง
4. สถาบันวิชาชีพ ยังไม่มีบทบาทชัดเจนในการควบคุมดูแลบุคลากรในวิชาชีพให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรมอย่างทั่วถึง
5. ผู้ประกอบการหรือเจ้าของสื่อ รวมทั้งผู้บริหารสื่อเองไม่สามารถแยกแยะความอยู่รอดเชิงธุรกิจ หรือผลประโยชน์ส่วนตน/เฉพาะกลุ่ม ออกจากผลประโยชน์ของสังคม/ส่วนรวม ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสื่อ ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ มักทำให้เจ้าของสื่อเลือกความอยู่รอดของตนก่อน ทั้งนี้สื่อจึงควรอิสระจากนายทุนและนักการเมืองให้มากที่สุด
6. องค์กรอิสระ (กสทช.) ยังอยู่ในกระบวนการ จึงเกิดสุญญากาศทางการดูแล
สำหรับทางออกของวิกฤตศรัทธาในสื่อนั้น ความจริงเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย แต่ถ้าเริ่มที่ตัวสื่อมวลชนเองควร “ปัดกวาด” สื่อของตนดังนี้
สมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง ผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 7 หน้าที่และบทบาทของสื่อ ประการหลักคือ การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารและความจริงสู่ประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวะใด เพียงแต่ว่าในภาวะวิกฤติ บริบทของสื่อ มีองค์ประกอบ เงื่อนไขการนำเสนอที่ถูกกดดันมากขึ้น ทั้งจากสภาวะการทำงาน สภาพสังคม และสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของสังคม กฎหมาย และการเมือง รวมถึงภาวการณ์แข่งขันของสื่อ หรือแง่มุมการถูกเชื่อมโยง เลือกข้าง หรือจุดยืนของสื่อ ผ่านการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร บทบาทของสื่อในภาวะสถานการณ์วิกฤติ การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการถูกมอง หรือถูกยัดเยียดเลือกข้างคู่ขัดแย้งทางการเมือง การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารจึงต้องพิจารณา เลือกสรร และนำเสนออย่างระมัดระวังมากกว่าภาวะปกติ
เหตุผลดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องที่สื่อ(หลัก)ขาดความเป็นมืออาชีพ (จนทำให้สังคมเชื่อถือ สื่อหลักน้อยลง) หากแต่เป็นเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และการเปิดรับสื่อใหม่ ตามกระแสไหลบ่าของพัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งในระยะแรก ประชาชนบางส่วนอาจไหลทะลักเปิดรับข้อมูลสื่อใหม่ แต่ในที่สุด เมื่อสังคมจะมีการปรับตัว หลังมีกฎ กติกา มารยาท และกฎหมายควบคุม เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลัก คิดว่าสื่อหลัก ยังคงเป็นช่องทางหลักที่ประชาชน ติดตามข้อมูล ข่าวสาร ยอมรับและเชื่อถือ เหมือนเดิม เพียงแต่ถูกแชร์จำนวนผู้ติดตามข่าวสารให้ลดลง
การที่ประชาชนหันไปพึ่งพิงข่าวสารจากสื่อทางเลือกอื่น ในภาวะวิกฤติที่ผ่านมา ไม่ได้แสดงถึงความเป็นมืออาชีพที่มีมากกว่าสื่อหลัก เนื่องจากเงื่อนไขที่ต่างกันจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการคือ 1.สื่อหลัก อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย หรือสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ 2.สถานีข่าวสารที่สามารถนำเสนอข้อมูล ข่าวสารได้อย่างเต็มที่ อยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุมดูแลของรัฐบาล ซึ่งต้องถูกตีตราเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เสียงที่แตกต่างจึงดูน่าสนใจกว่า
ชัยนันต์ สันติวาสะ หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวโทรทัศน์ สำนักข่าวไทย บมจ. อสมท. “สื่อมวลชนพยายามอย่าไปฉกฉวยผลประโยชน์ที่คิดว่าจะได้จากการเมือง เพราะจะยิ่งทำให้ตนเองไปพัวพันและจะก้ามข้ามจากการตกเป็นเครื่องมือนี้ลำบาก” ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการทางวิชาชีพทั้งหมด แม้ว่าบ้านเมืองจะมีกฎหมายพิเศษอย่างไรก็ตาม เพราะเหตุการณ์นั้นมาแล้วก็ไป ใครจะแพ้หรือชนะก็แล้วแต่ แต่องค์กรวิชาชีพต้องคงอยู่ ถ้าเราทำให้เสียหลักการนี้ไป มันก็เสียชื่อ ในฐานะสื่อสารมวลชนก็จะเสียหาย วิชาชีพนี้ก็จะเสียหายได้ เราจะควบคุมดูแลข่าวของเราเฉพาะตามกระบวนการทางวิชาชีพเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงข่าว กระบวนการบรรณาธิการข่าว การตัดต่อ จะควบคุมกันเองโดยการประชุมโต๊ะข่าว ไม่ต้องมีใครสักคนมาแทรกแซงในกระบวนการทำงานของเรา นักข่าวก็จะรายงานตามข้อเท็จจริงเท่าที่เห็น ช่างภาพก็จะถ่ายภาพทุกภาพที่ตาเขาเห็นเหมือนกัน
ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ผ่านมา ถ้าถามาว่า ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสื่อสื่อกระแสหลัก และเปิดใจยอมรับสื่อใหม่ น โทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุชุมชน โซเชียลมีเดีย มากขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะสื่อกระแสหลักทำงานได้ลดถอยลงหรือประชาชนไม่เชื่อถือ มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของยุคสมัยมากกว่า เทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันให้เรามาถึงจุดนี้หรือพฤติกรรมแบบนี้ เพราะว่าเราเชื่อว่าเทคโนโลยี หรือเครื่องมือจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยที่เราอยู่ในถ้ำแล้ว พอมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือก็จะมีผลต่อพฤติกรรมของคน แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะเลือกฟัง เลือกดู เลือกชม เลือกได้ยินในสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือตอบสนองความต้องการของตนเองอยู่แล้ว บางคนก็อยากได้ยินในสิ่งที่ตนเองเชื่อด้วยซ้ำไป คือ ทุกคนก็ต้องหาข้อมูลในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ หรือมีความต้องการ หรือว่ามาตอบสนองในสิ่งที่เราเชื่อ ในสิ่งที่เราคิด รวมถึงแนวคิดทางการเมืองด้วย
เทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย คู่แข่งหลักของข่าวโทรทัศน์ จะเป็นโทรทัศน์เอง คงเป็นเพราะสังคมวิกฤต สื่อเลยวิกฤตไปด้วย และสื่ออยู่ในสังคม ต้องทำหน้าที่ช่วยสังคมไปด้วย แต่ตัวสื่อเองยังไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤต อยู่ในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงการรู้เท่าทันสื่อ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างสถานการณ์การรับสารในปัจจุบันที่ส่งผลให้คนเกลียดชังกันมากขนาดนี้ เกิดจากการรู้ไม่เท่าทันสื่อ เพราะความรู้เท่าทันสื่อ เป็นการรู้เท่าทันสังคม เหมือนกับการรู้เท่าทันโจรและสังคมขี้โกง เพียงพ่อแม่ รู้ว่าลูกควรเลือกรับอะไร แต่ในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถปิดกั้นสื่อ หรือเลือกไม่ให้รับสื่อได้ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย
บทบาทของสื่อที่ควรจะเป็นในช่วงที่บ้านเมืองวิกฤติ คือ สื่อต้องกลับไปดูบทบาทดั้งเดิมของสื่อ ที่ต้องทำหน้าที่รายงานอย่างรอบด้าน ถูกต้องและอย่างเที่ยงธรรม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดก็ตาม สื่อต้องทำหน้าที่พื้นฐานตรงนี้ และสำหรับในภาวะวิกฤติแม้ว่าอาจจะมีปัจจัยอื่นเข้ามามากกว่าการทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างเดียว สื่อก็จำเป็นต้องทำหน้าที่สำคัญ ในการทำให้วิกฤตไม่บานปลาย นั่นคือ ต้องทำงานหนักมากกว่าปกติด้วยการค้นหาความจริงอย่างรอบด้าน ที่ลึกซึ้งมากกว่าปกติ เพราะในยามวิกฤติจะมีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่หลบซ่อน ปิดบัง นับเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าการรายงาน และห้วงเวลาของการรายงานความจริงบางอย่างในสถานการณ์อาจจะทำให้เรื่องเลวร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่ได้
แน่นอนว่าสื่อต้องรายงานข้อเท็จจริง แต่วิธีรายงานของสื่อในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์รุนแรง ต้องช่วยให้ความจริงที่รายงานออกไปแล้ว ไม่ทำให้ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง นอกจากนั้น คือ สื่อต้องช่วยคลี่คลายวิกฤติ ทำหน้าที่มากกว่าการรายงานคู่กรณีที่เป็นคู่ขัดแย้งโต้เถียงกัน แต่ต้องทำให้เห็นทางออก สร้างพื้นที่เวทีในการแสดงความคิดเห็นและช่วยร่วมหาทางออกได้ด้วย เพราะคู่ขัดแย้งจะไม่พยายามหาทางออก จะทำเพียงโยนความผิดซึ่งกันและกัน โดยหวังให้บานปลายเพื่อที่ตนเองได้ประโยชน์ ดังนั้น สื่อต้องทำให้เห็นความหลากหลายมากขึ้น ทำให้สังคมเห็นทางออกว่ายังมีเรื่องราวมากกว่าที่คู่กรณีพยายามจะพูดคุยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
โดยวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนตัว คิดว่ายังไม่จบเป็นเพียงเริ่มต้น สื่อจึงต้องใช้เวทีของตนเองในการเป็นเวทีให้สังคมช่วยกันคิดหาทางออกมากกว่าการที่คู่กรณีพยายามชี้หาทางออก และจะทำให้สังคมรู้สึกว่าการหาทางออกให้สังคมไม่ใช่หน้าที่ของคนไม่กี่กลุ่ม ที่ขัดแย้งกัน มันจะเป็นหน้าที่ของทุกคนในการหาทางออกร่วมกันได้
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการสายธุรกิจด้านสื่อภาพและเสียง
บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป สื่อวิทยุและโทรทัศน์กับบทบาทหน้าที่(การนำเสนอข่าว)ในภาวะวิกฤติช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา “ผมคิดว่าพวกเราต้องยอมรับความจริงว่าสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในช่วงวิกฤติมีบทบทใน"เชิงลบ"ซ้ำเติมสถานการณ์มากกว่า"เชิงบวก"สร้างสรรค์สังคม แต่อยากจะลองจำแนกบทบาทของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ออกเป็นกลุ่มที่มีดีกรีต่างกันมาก เพราะในปัจจุบันสื่อวิทยุไม่ได้มีเฉพาะสื่อวิทยุสถานีหลักๆ ที่ใช้คลื่นเอฟเอ็มที่อยู่ในสังกัดกองทัพบก ,อสมท. และกรมประชาสัมพันธ์ที่มีรวมกันกว่า 300 สถานี แต่ยังมีสถานีวิทยุชุมชนอีกกว่า 6-7 พันสถานีกระจายกันอยู่ทั่วประเทศที่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน”
ในขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ก็มีหลายประเภท นอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์แบบเดิมที่เรียกว่า "ฟรีทีวี" 6 ช่อง ยังมีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมอีกกว่า 50-60 ช่องเกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่มีทุกอำเภอทุกจังหวัดกว่า 500 สถานี ซึ่งเช่นเดียวกันคณะอนุกรรมการภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีหน้าที่ในการจัดระเบียบชั่วคราวให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีกลับไม่สามารถดำเนินการได้มากนัก
ภาวะความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ จึงยากอย่างยิ่งที่"สื่อวิชาชีพ"จะแสดงบทบาทตามหลักการจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางยึดถือ"ความจริง"รอบด้าน เพราะมวลชนจะกดดันให้"เลือกข้าง"หรือแสดงจุดยืนว่าอยู่ข้างใครโดยไม่คำนึงถึงการนำเสนอความจริงหรือความเท็จในการนำเสนอ แต่มักจะกลายเป็นอยากจะให้นำเสนอข่าวเพื่อ"ถูกใจ"มากกว่าคำนึงถึงความ"ถูกต้อง"ของข่าวสาร ผู้สื่อข่าวในภาคสนามจำนวนมากจึงเริ่มมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนผ่าน Social Media ที่นักข่าวภาคสนามสามารถส่งข่าวออกไปถึงผู้บริโภคโดยตรง เพราะมวลชนเริ่มไม่เชื่อหรือตั้งข้อสงสัยใน"ข่าว"ที่ออกมาจากการกลั่นกรองของบรรณาธิการ
กล่าวโดยสรุป สื่อวิทยุและโทรทัศน์กระแสหลักอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับ "อำนาจพิเศษ"จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามหลักการวิชาชีพ ในขณะเดียวกัน"ภาวะไร้ระเบียบ"ทำให้สื่อกระแสรองหรือสื่อทางเอกจำนวนหนึ่งที่เป็นทั้งสื่อของคนเสื้อแดงกับคนเสื้อเหลืองได้เข้ามามีบทบาทในการนำเสนอข่าวที่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อสร้างความ"ถูกใจ"มากกว่า"ถูกต้อง"และยังโหมกระพือสร้างความเกลียดชังและแตกแยกในสังคมให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรื่องอันตรายเป็นอย่างยิ่งในอำนาจของสื่อที่มีอานุภาพมาก
สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สำนักข่าวทีนิวส์ จำกัด “เวลานี้สื่อดั้งเดิม หรือสื่อกระแสหลัก ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และหากยังเดินสวนทางกับข่าวสาร กับประชาชน มีการวางอำนาจ อหังการในตนเอง สื่อจะตายแน่นอน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การปฏิรูปสื่อเป็นเรื่องเหลวไหล สื่อจะรักษาตัวเขาเองอยู่แล้ว คุณ (รัฐ) ไม่ต้องมายุ่ง เพราะบทบาทของสื่อต้องลดลง ไม่ต้องปฏิรูป เพราะกงล้อประวัติศาสตร์จะบดขยี้ตัวคุณเอง สิ่งที่สังคมและรัฐบาลควรจะทำ คือ พัฒนาหรือไปยกระดับการรับรู้ของผู้บริโภคจากเทคโนโลยีที่มี หากผู้รับคิดเป็นจากข่าวสารที่เชื่อมโยงอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ นั่นถึงจะสำคัญ”
ภาพรวมสถานการณ์คลื่นข่าววิทยุตอนนี้ก็เหนื่อยกันหมด มันเคยบูมแต่ตอนนี้ไม่บูมแล้ว วันนี้สื่อมีหลากหลาย มีทางเลือก ทั้งอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ ฯลฯ นี่เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว เพราะสัดส่วนโฆษณาในคลื่นวิทยุถูกแบ่งไปแล้วพันล้านบาทจากสื่ออื่น คลื่นข่าววิทยุจะอยู่รอดได้ ก็ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องชัดเจน ต้องรีบปฏิรูปเรื่องนี้เร็วๆ ไม่ใช่ทุกวันนี้คนที่ประกอบการวิทยุต้องมาโดนพวกหน่วยราชการมากินหัวคิว รัฐต้องทำให้เขาสามารถไปจดทะเบียนตรง ทำให้คลื่นเหลือราคา 4-5 แสนบาท ให้อยู่กันอย่างเป็นธรรมเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่ต้องมาเช่าคลื่น 2-3 ล้านบาท ราชการก็กินหัวคิวไปแล้ว แล้วเรายังต้องไปแข่งกับวิทยุชุมชนที่ไม่มีต้นทุนซักบาทอีก ผมก็สนับสนุนวิทยุชุมชนเพราะนั่นก็คือการแพร่กระจายของสังคม คลื่นข่าววิทยุคู่แข่งหลักในวันนี้ คือ ทีวีดาวเทียม
รุ่งมณี เมฆโสภณ สื่อมวลชนอิสระ หน้าที่หลักของสื่อก็คือการรายงานหรือสื่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้กับบรรดาผู้ที่รับสารในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นก็คือให้รอบด้านที่สุด เท่าที่เงื่อนไขมีอยู่ เช่นด้วยเงื่อนเวลาที่จำกัด หรือด้วยพื้นที่ในการนำเสนอ แต่ถึงจะมีข้อจำกัดข้างต้นก็ต้องมีความเป็นธรรม อีกทั้งสื่อที่มีคุณภาพนอกจากเสนอปรากฏการณ์แล้วควรอธิบายปรากฏการณ์ในมิ ติที่ลึกแต่เข้าใจง่าย ตามธรรมชาติของสื่อนั้น เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องเขียนรู้เรื่องยิ่งมีภาพประกอบที่ทำให้เรื่องมีน้ำหนักยิ่งดี ขณะที่สื่อวิทยุมีเสียงประกอบและใช้เสียงอย่างเหมาะสม ส่วนโทรทัศน์ก็มีภาพเป็นตัวบอกเล่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้หรือต้องรอให้สมบูรณ์ที่สุดถึงนำเสนอนะ ถ้าอย่างนั้นอาจไม่มีข่าวปรากฏออกมากันเลย
“นั่นคือหลักโดยทั่วไป แต่ในยามวิกฤติ หลักก็ยังคงอยู่แต่ต้องยิ่งมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น นำเสนออย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่เต็มไปด้วยอคติหรือความเห็นส่วนตัว หรือเอาเร็วเข้าว่าจนขาดการตรวจสอบหรือกลั่นกรอง ยามวิกฤติหลักยิ่งต้องแม่น หลักดีเสียอย่างผิดพลาดก็น้อย หรือหนักก็เป็นเบา แต่ถ้าหลักไม่แม่นโอกาสผิดพลาดเสียหายก็ยิ่งมีมาก และหากเกิดความผิดพลาดก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย”
พร้อมกันนี้ในหนังสือรายงานประจำปี 2553 ของสมาคมนักข่าวฯ ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อ รวมทั้งเสียงเรียกร้องความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อการปฏิรูปสื่อ…ในหนังสือรายงานประจำปีของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยฉบับนี้ได้พยายามหาคำตอบถึงความเป็นมา รูปแบบและแนวทางในการปฏิรูปสื่อ แต่ท้ายที่สุดคำถามที่หลายคนต้องการที่จะทราบคือ ปฏิรูปสื่อเพื่อใคร...และทำไมต้องปฏิรูปสื่อ?...คำตอบมีอยู่ในหนังสือรายงานประจำปี 2553 ของ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ในขณะที่สื่อเก่าหรือสื่อกระแสหลักประเภทฟรีทีวีและวิทยุถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยมากมายจากผู้รับสื่อทั้งด้านบวกและด้านลบ ในขณะที่สื่อเก่าหรือสื่อกระแสหลักกำลังตกอยู่ในวังวันของข้อกังขาสงสัยและมีกระแสด้านลบ แต่ในสื่อใหม่ อาทิ โทรทัศน์ดาวเทียม โซเซียล มีเดีย กลับมีกระแสการขยายตัวและการเติบโตเป็นอย่างมากและดูเหมือนว่าจะเป็นปฏิภาคผกผันกับสื่อเก่าหรือสื่อกระแสหลักอีกด้วย
“เพราะอะไร? ทำไม? สื่อใหม่จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว คำตอบอยู่ใน PART 2 “เมื่อโซเซียล มีเดีย เขย่าจอสื่อหลัก”
อีกประเด็นหนึ่งที่ในแวดวงข่าวสารและสื่อมวลชนจะต้องมีการหยิบยกมาพูดคุยและถ่ายทอดลงในหนังสือรายงานประจำปีฉบับนี้ด้วยคือ การอัพเดทสถานการณ์สถานีข่าววิทยุ จากที่ยุคเคยรุ่งเรื่องและเติบโตสุดขีดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ปัจจัยที่ทำให้คลื่นข่าววิทยุทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ เพราะอะไร และทำอย่างไรถึงจะรักษาคลื่นข่าววิทยุอยู่ต่อไปให้ได้ท่ามกลางการแข่งขันของสื่อที่หลากหลายมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในการปั้นคลื่นข่าววิทยุทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวมาถอดรหัสความลับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
นิรมล ประสารสุข
ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพิเศษ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
โทรศัพท์ 02 243 8479