กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กปภ.ช.
คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมเพื่อพิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการสาธารณภัยของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับและสอดคล้องกับแผน ปภ.ชาติ รวมถึงเตรียมเสนอแผนปฏิบัติการและงบประมาณระยะ 3 ปี พ.ศ.2554 — 2556 ภายใต้แผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัย จากคลื่นสึนามิ พ.ศ.2552 — 2556 ต่อ ครม. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการภัยจากคลื่นสึนามิ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.)โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (แผน ปภ.ชาติ) เพื่อใช้เป็นแผนหลักในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ และเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานทุกภาคส่วนใช้ในการเตรียมความพร้อมและปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับแผน ปภ.ชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผน ปภ.ชาติ และแนวทางที่ กปภ.ช. กำหนด นอกจากนี้ ได้พิจารณาแผนปฏิบัติการและงบประมาณระยะ 3 ปี พ.ศ.2554 — 2556 ภายใต้แผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัย จากคลื่นสึนามิ พ.ศ.2552 — 2556 โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับ 81 หน่วยงาน และใช้งบประมาณดำเนินการภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ประมาณ 6.6 พันล้านบาท เพื่อเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการภัยจากคลื่นสึนามิอย่างเป็นระบบและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กลไกหนึ่งที่จะทำให้การบริหารจัดการสาธารณภัยในภาวะวิกฤตเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ผลักดันการพัฒนามาตรฐานระบบบัญชาการเหตุการณ์ของประเทศไทย (Thailand Incident Command System : TICS) ให้สอดคล้องกับสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อน การพัฒนาระบบบัญชาการเหตุการณ์ในระยะแรก ประกอบด้วย 5 โครงการสำคัญ ได้แก่ การจัดทำคู่มือการบัญชาการเหตุการณ์และสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชาการเหตุการณ์ การพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์ การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของวิทยากรด้านการบัญชาการเหตุการณ์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผ่านองค์กรแม่แบบด้านการบัญชาการเหตุการณ์ระดับสากลในรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านการศึกษาดูงานและการฝึกอบรมขั้นสูง จัดทำโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบ และดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการบัญชาการเหตุการณ์ ผ่านการผลักดันเนื้อหาหลักสูตรการบริหารจัดการ ในภาวะฉุกเฉินและการบัญชาการระหว่างสถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกรอบแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยในภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดผลกระทบและความสูญเสียจากสถานการณ์ภัยพิบัติ