ลอรีอัล จัดงานเสวนาเปิดตำนานแห่งความงาม 100, 000 ปี ครั้งแรกในประเทศไทย เจาะลึกคุณค่าความงามต่อมวลมนุษยชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 7, 2010 13:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานเสวนาเปิดตำนานแห่งความงามขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในหัวข้อ “100,000 Years of Beauty” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการเสวนาในหัวข้อภายใต้ชื่อของหนังสือชุดพิเศษ 100,000 Years of Beauty ที่ มูลนิธิ ลอรีอัล ประเทศฝรั่งเศส ได้สนับสนุนงานวิจัยอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับความงามนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ในการดำเนินธุรกิจความงามของบริษัทฯ เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือชุดพิเศษนี้เพื่อสะท้อนให้ถึงความปรารถนาในความงามของมนุษย์ และร่วมค้นหาความหมายของความงามที่ลึกซึ้งและเป็นส่วนหนึ่งของมวลมนุษยชาติในทุกยุค ทุกสมัย ตั้งแต่อดีตกาล ปัจจุบัน และในอนาคต ทั้งในด้านสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ภายในงานเสวนามีผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา ความงามและแฟชั่นชั้นนำของประเทศไทย ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยวิทยา อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมไทยและ คุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Elle ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและแฟชั่น ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงวิวัฒนาการความงาม ความสำคัญของความงามที่อยู่คู่กับมนุษยชาติ ตั้งแต่ อดีต ปัจจุบันและอนาคต ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้อธิบายประวัติศาสตร์ความงามระดับโลกในแต่ละยุคได้อย่างน่าสนใจว่า “ยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือยุคหินนั้น มีการสันนิษฐานความงามเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ เช่น สันนิษฐานว่าผู้หญิงจะนำสีแดงมาทาตัวเพื่อแสดงความเป็นเพศหญิงหรือชาวบราซิลนำยางไม้มาเขียนตามตัวเป็นการแสดงความรักต่อกันอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมนุษย์เริ่มสร้างสรรค์อารยธรรมเป็นของตนเองอย่างเช่นยุคอียิปต์โบราณ ก็เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญด้านความงามคอยตกแต่งตามร่างกาย ยิ่งคนที่แต่งตัวมากเท่าไรยิ่งแสดงให้เป็นว่าเป็นผู้มีอำนาจมากเท่านั้น ดังนั้นราชินีบางองค์จึงไว้เคราเพื่อแสดงถึงความมีอำนาจ เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งภูมิปัญญาซึ่งเป็นยุคของศิลปินเอกและนักวิทยาศาสตร์ ความสวยงามก็ได้ถูกกำหนดด้วยมาตรฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี ผู้คิดค้น ‘สัดส่วนของสวรรค์’ (Divine proportion) ที่เชื่อกันว่าถ้านำสัดส่วนนี้ไปใช้วาดภาพจะให้สัดส่วนที่สวยงามที่สุด กลายเป็นมาตรฐานขึ้นมา” นอกจากนี้ ดร. ปริตตา ยังได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความงามในอีกมุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความงามในโลกนี้มีหลายแบบและมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับสายตาของผู้มอง ทุกยุคทุกสังคมมีไม้บรรทัดความงามเป็นของตนเอง ไม่ควรใช้ ไม้บรรทัดความงามของตนไปตัดสินผู้อื่น โดยเฉพาะการนำมาตรฐานความงามปัจจุบันไปตัดสินมาตรฐานความงามในอดีต เราไม่ควรเอามาตรฐานความงามของสังคมหนึ่งไปตัดสินอีกสังคมหนึ่ง และเมื่อมีความงามแล้วควรทำประโยชน์ให้ธรรมชาติและสังคมได้ประโยชน์ด้วย เราควรคิดว่าจะใช้ความงามให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์และส่วนรวมได้อย่างไร จึงจะเป็นความงามที่ยั่งยืน” ด้านอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อวิวัฒนาการความงามของไทยโดยแบ่งเป็นสองช่วงเวลาสำคัญ “ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงก่อนรัชกาลที่ 5 ผู้ชายทางภาคเหนือนิยมการสักตั้งแต่เอวลงมาจนถึงเข่า ลวดลายและสีสันจะแตกต่างกันตามสาขาอาชีพ เช่น การสักสีแดงเพื่อเมตตา การค้า สีน้ำเงินแสดงถึงเสนาบดีฝ่ายบุ๋น สีดำแสดงถึงนักรบ ในขณะที่หญิงชนเผ่าทางเหนือก็นิยมการสักหน้าเพื่อความงามดึงดูดใจเพศตรงข้าม เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมจากตะวันตกมากขึ้นรวมถึงเรื่องความสวยความงาม เริ่มมีการใช้กระจกและเครื่องสำอาง เช่น แป้งเม็ดทำจากดินสอพอง การใช้เถาหมีเหม็นสระผมและการใช้ครามหรือฮ่อมสำหรับย้อมสีผม สำหรับการแต่งกาย ทั้งในและนอกราชสำนักแต่งกายมิดชิด มีการออกพระราชกำหนดให้สตรีใช้ผ้าพันท่อนบนก่อนออกจากบ้าน ทรงผมนิยมหวีเสยเกล้ามวยต่ำ รวมถึงการเห็นการไหลบ่าของวัฒนธรรม เช่น ละครในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นิยมแต่งหน้าผู้เล่นให้ขาวเพราะอิทธิพลของจีนและญี่ปุ่น” “สำหรับสูตรความงาม ของผู้หญิงไทยสมัยก่อน ได้ใช้น้ำปูนใสอาบน้ำ ขัดผิวด้วยส้มมะขาม มะกรูดนำไปย่างไฟใช้ได้กับผิวและผม มีการนำขมิ้นทั้งสดหรือแห้งมาทาผิวให้เป็นสีเหลืองลออทั่วทั้งตัว ทำให้ผมหอมเพื่อบูชาขวัญกลางกระหม่อม โดยนำน้ำมันจันทน์ ผสมกับขี้ผึ้งหรือสีผึ้ง และกลีบดอกไม้ มาชโลมให้ทั่วเส้นผมแล้วม้วนไว้เป็นมวยจุกกลางศีรษะ” อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ กล่าวเสริม สำหรับความงามของยุคปัจจุบันและเทรนด์แห่งโลกอนาคต คุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Elle ประเทศไทย กล่าวว่า “ทัศนคติและมุมมองเรื่องความงามของยุคปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไปมาก ในอดีตผู้คนเคยยอมรับความแก่ชราที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่เมื่อผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับความงามมากยิ่งขึ้นผนวกกับมีธุรกิจด้านความงามเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้คนมีทางเลือกในการรักษาความอ่อนเยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ในการบำรุงดูแลผิวพรรณหรือการทำศัลยกรรม โดยเฉพาะประเทศเกาหลีและบราซิล นับเป็นสองประเทศที่มีการทำศัลยกรรมเพื่อความงามมากที่สุดในโลก ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้คนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดีย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่านั่นเอง” เรื่องเทรนด์ความงามของโลกอนาคต คุณกุลวิทย์มองว่าผลิตภัณฑ์ด้านความงามใหม่ๆ จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีรวมถึงศาสตร์ทางการแพทย์ต่างๆ จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ ให้มนุษย์เข้าถึงความงามได้ง่ายและมีความปลอดภัยกว่าเมื่อก่อนมาก เช่น การศึกษาอย่างลึกซึ้งในระดับยีนส์ และDNA เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับมนุษย์ในการใช้งาน มร. ฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “เพราะ ‘ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นย่อมมีความงาม’ เพราะความงามได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมวลมนุษยชาติ ด้วยความคิดนี้เองจึงเป็นที่มาของหนังสือชุดพิเศษ 100,000 Years of Beauty และการเสวนาที่น่าทึ่งในครั้งนี้ ลอรีอัลมีความภูมิใจที่ได้เผยแพร่ความรู้ที่ทรงคุณค่านี้สู่สาธารณชนชาวไทย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานเสวนานี้จะเป็นแรงบันดาลใจ ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องราวความงามที่หลากหลาย ความปรารถนาในความงามของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่เราทุกคนที่ลอรีอัลหลงใหล” นอกจากการจัดงานเสวนาเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้ขึ้น บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้มอบหนังสือชุดพิเศษนี้ ให้แก่ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 50 แห่งทั่วประเทศ อาทิ ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หอสมุด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) รวมไปถึงหอสมุดของมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ความงามอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ สดับพิณ คำนวณทิพย์ และเจิดนภางค์ ม้าทอง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 02 684 3192 หรือ 02 684 1942 พรรวี สุรมูล และธัญทิพย์ คฤหโยธิน บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย โทรศัพท์ 02 627-3501 ต่อ 110 หรือ 106

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ