ผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อกีดกันทางการค้า

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2007 09:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 กรมการค้าต่างประเทศได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อกีดกันทางการค้าครั้งที่ 1 / 2550 เพื่อพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านมาตรการทางการค้า สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
1. การส่งออกปลารมควันของไทยไปยังสหราชอาณาจักรถูกตรวจพบสาร Benzo (a) pyrene ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งทำให้สินค้าส่งออกถูกเผาทำลายและส่งกลับที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ไทยมีหน่วยตรวจสอบที่สามารถให้บริการตรวจสารนี้ได้ 4 หน่วยงาน คือ (1.) SGS (Societe Generale de Surveillance) , (2.) LCFA (Laboratory Center for Food and Agricultural Products Co. Ltd.), (3.) สถาบันอาหาร และ(4.) กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ โดยเฉพาะ LCFA มีสาขาย่อย 4 แห่งในภูมิภาคต่างๆ (ฉะเชิงเทรา สงขลา สมุทรสาครและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) โดยที่กรมประมงจะเป็นหน่วยงานออกใบรับรองฯ นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อแนะนำผู้ประกอบการถึงวิธีการรมควันโดยการใช้ไม้เนื้ออ่อนเป็นเชื้อเพลิง เพราะจะทำให้ลดปริมาณสารดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ดี กรมประมงอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาวิธีการรมควันที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหานี้ต่อไป
2. ระเบียบว่าด้วยการกำหนดค่า MRLs ของสารปนเปื้อนในสินค้าอาหารทะเลของสหภาพยุโรป เน้นสาร Dioxin ซึ่งมีผลตั้งแต่มีนาคม 2550 และจะมีการทบทวนค่า MRL ให้ต่ำลงกว่าที่กำหนด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีข้อกังวลในด้านห้องปฏิบัติการตรวจรับรองของไทยผลการประชุมได้ข้อสรุปว่า
ปัจจุบันมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานตรวจรับรอง แต่ประสบปัญหาด้านอุปกรณ์ที่จะทำการตรวจสอบ ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมฯ จะประสานกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะสามารถดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง
3. FDA สหรัฐฯ ได้ตรวจพบการปนเปื้อนสารเมลามีนซึ่งเป็นสารต้องห้ามใน Wheat Gluten ที่นำเข้าจากจีน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ของบริษัท Menu Food ผู้ผลิตสินค้าอาหารสัตว์รายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยสารเมลามีนมีปริมาณไนโตรเจนสูงจึงนิยมนำไปผสมเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ที่ประชุมฯ เห็นว่ากรณีปัญหานี้ไม่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยเนื่องจากสารเมลามีนเป็นสารที่ห้ามนำเข้าตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาหารสัตว์ นอกจากนี้ กรมประมงและกรมปศุสัตว์ก็ได้มีการสุ่มตรวจอาหารสัตว์นำเข้าอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับไทยมีการนำเข้า Wheat Gluten จากจีนน้อยมาก และในส่วนของการส่งออก
ไทยส่งออกเฉพาะ Pet Foods ซึ่งเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพเทียบเท่าอาหารมนุษย์ ซึ่งไม่มีเมลามีนเป็นวัตถุดิบ ส่วน Animal Feed ที่มีปลาป่นและข้าวโพดเป็นส่วนผสมและใช้เลี้ยงม้า ไก่ และสุกรนั้น ไทยไม่ได้ส่งออก
4. กรณีบริษัท Belenus do Brasil ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าสกรูและน็อต พิกัด 7318.1500 และ 7318.1600 จากไทย ร้องเรียนว่ารัฐบาลบราซิลได้ออกมาตรการกำหนดราคามาตรฐานนำเข้าสินค้า โดยจะอนุญาตให้นำเข้าได้หากราคานำเข้าสูงกว่า 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ / ตัน ทำให้ผู้นำเข้าไม่สามารถนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้ โดยไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าที่ประชุมฯ เห็นว่า ข้อมูลรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน จึงขอให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมและนำมาพิจารณาในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ภาคเอกชนได้เสนอให้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าและสร้างมาตรฐานสินค้าที่บริโภคในประเทศให้เท่าเทียมกับมาตรฐานสินค้าที่ส่งออก
เพื่อให้เพียงพอและรองรับกับมาตรการทางการค้าที่จะทวีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งมาตรการโดยภาครัฐและมาตรการโดยภาคเอกชน เช่น มาตรฐาน EurepGAP ประกอบกับในส่วนของประเทศไทยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงาน
แต่ยังไม่มีหน่วยงานกลางในด้านการเตือนภัยทางการค้าและการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ ของประเทศคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดตั้งคณะ กรรมการชุดนี้ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง 18 หน่วยงานที่จะทำหน้าที่ติดตามการใช้มาตรการของประเทศคู่ค้า และพิจารณาแนวทางการดำเนินการรวมทั้งการแก้ไขปัญหา โดยจะจัดประชุมอย่างน้อยเดือนละครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ