กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ซีเอ็มพี มีเดีย, สถาบันอาหาร, สภาอุตฯ และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร จับมือหนุนอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารของไทยเชื่อมต่อธุรกิจระดับโลก จัดงานใหญ่ “Fi Asia 2007” 26 - 28 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์
พบกับความยิ่งใหญ่และความโดดเด่นของงานแสดงนิทรรศการและการประชุมด้านอุตสาหกรรม ส่วนผสมอาหาร Fi Asia 2007 (Food Ingredients Asia 2007) งานเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ที่เปิดเวทีสำคัญสำหรับการทำธุรกิจตลาดส่วนผสมอาหารแบบครบวงจร พบปะพันธมิตรทางธุรกิจจากตลาดอาหารทั่วโลกกว่า 35 ประเทศ คาดมีบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติเข้าร่วมแสดงกว่า 280 ราย มั่นใจช่วยเสริมศักยภาพพัฒนาบริษัทคนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน แข่งขันอุตสาหกรรมอาหารโลก Fi Asia 2007 จัดโดยซีเอ็มพี มีเดีย ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารของไทยอีก 3 หน่วยงาน คือสถาบันอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร เปิดให้เข้าชมงาน 26 - 28 กันยายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งเป้ามีผู้เข้าชมงานจากไทยและต่างประเทศทะลุ 8,000 ราย
มิสฮาฟฟ์ เคนนีดด์ ผู้จัดการงานแสดงสินค้า ซีเอ็มพี อินฟอร์เมชั่น (เนเธอร์แลนด์) กล่าวว่าการจัดงาน Fi Asia 2007 (Food Ingredients Asia 2007) เป็นงานที่โดดเด่นมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นงานแสดงอันดับ 1 สำหรับตลาดส่วนผสมอาหาร โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นทุกปี และมีบริษัทมาร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดอาเซียนมากขึ้นต่อเนื่อง และครั้งนี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผู้จัดแสดงทั้งจากบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติรวมกว่า 280 ราย บนพื้นที่ จัดงาน 3,000 ตารางเมตร คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 8,000 ราย จากประเทศไทย 5,000 ราย และอีก 3,000 รายจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
“ตลาดการแปรรูปอาหารของโลกมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 4.94 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 5.35 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2553 และเฉพาะส่วนผสมอาหารนั้นจะเพิ่มจาก 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าของตลาดนี้จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการบริโภคอาหารจะเพิ่มขึ้นช้ามาก หรือไม่เพิ่มขึ้นเลย ความต้องการอาหารสดจะลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่เตรียมสำเร็จและผลิตภัณฑ์ประเภทรับประทานสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความใส่ใจในส่วนผสมที่อยู่ในอาหาร เพราะคำนึงถึงความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของตัวเอง” มิสฮาฟฟ์ เคนนีดด์ กล่าว
และยังกล่าวอีกด้วยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกภูมิภาคหนึ่ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทาง ซีเอ็มพี อินฟอร์เมชั่น ตัดสินใจจัดงาน Fi Asia 2007 ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ในปีนี้ ประกอบกับจากการสำรวจลูกค้าของซีเอ็มพี อินฟอร์เมชั่น ได้แสดงความต้องการที่จะจัดงานดังกล่าวขึ้นที่ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ นอกจากงานแสดงแล้ว ภายในงานยังจัดให้มีการประชุมพิเศษด้วย โดยความร่วมมือของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และสมาพันธ์สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งอาเซียน (FiFSTA) โดยมีหัวข้อ ที่น่าสนใจคือ “แนวโน้มของอาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน” และ เรื่อง “การนำส่วนผสมอาหารไปใช้ทำให้สุขภาพดียิ่งขึ้น”
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ทางสถาบันอาหารได้ให้การสนับสนุนการจัดงาน Fi Asia 2007 อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลทางการตลาดของอุตสาหกรรมอาหาร และ ถือว่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหาร เพราะงานนี้ได้นอกจากจะได้รับทราบข้อมูล ความเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจแล้ว ยังได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกด้วย
จากกระแสความนิยมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของคนทั่วโลก และนโยบายส่งเสริมครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้แนวโน้มการค้าเครื่องปรุงรสของไทยมีทิศทางการขยายตัวเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของไทยในเชิงการค้ายังคงเติบโตและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นธุรกิจภายในครอบครัวในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสให้มีความหลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคที่เน้นสะดวกสบายและประหยัดเวลามากขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสของไทยเติบโตขึ้นมาก และได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีจุดแข็งที่ตลาดภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันเครื่องปรุงรสของไทยยังเริ่มขยายตัวไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย สอดรับกับจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ขยายเพิ่มขึ้นทั่วทุกมุมโลก
ขณะเดียวกันยังถือเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารของไทยจะเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในตลาดโลก พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีกต่อไป
“จำนวนร้านอาหารประมาณ 6,500 แห่งในปี 2545 เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 แห่ง ในปี 2550 ซึ่งกระจายอยู่ในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 50% ยุโรป 20% ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 15% ญี่ปุ่น 5% และประมาณ 10% กระจายอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งจากสถิติการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยในช่วงปี 2545-2549 พบว่า มีการ
ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป 25% ญี่ปุ่น 20% สหรัฐอเมริกา 15% ออสเตรเลีย 8% และประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออก เช่น กัมพูชา ฮ่องกง ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน เป็นต้น เฉพาะปี 2549 ประเทศไทย ส่งออกเครื่องปรุงรสมีมูลค่าเกือบ 8,000 ล้านบาท สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องแกงสำเร็จรูป 14% น้ำปลา 12% ซอสพริก 11% ผงปรุงรส 9% ของปรุงแต่งสำหรับซุป 7% ซอสถั่วเหลือง 4% และน้ำมันหอย 3% เป็นต้น”
ดร.ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) กล่าวว่า การจัดงาน Fi Asia 2007 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2550 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้จัดให้มีการสัมมนา การประชุมวิชาการ ภายใต้ Theme ของงานว่า “Towards Stronger and Healthier World” จะมีการนำเสนอแนวนโยบายระดับสากลในเรื่องสุขภาพของประชากรอันเกี่ยวเนื่องกับอาหาร แนวทางด้านความปลอดภัยอาหาร รวมถึงนำเสนอเรื่องของวัตถุเจือปนอาหารชนิดต่างๆ เพื่อเสริมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลาย และเพิ่มคุณประโยชน์มากขึ้น จากวิทยากรที่มีประสบการณ์และความชำนาญ มั่นใจว่าการจัดงานฯ ในครั้งนี้จะเสริมสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
งาน Fi Asia 2007 หรือ Food Ingredient Asia 2007 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2550 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีเอ็มพี มีเดีย ประเทศไทย จำกัด, สถาบันอาหาร, กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร โดยสามารถเข้าชมรายละเอียดและค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fi-events.com
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ประชาสัมพันธ์สถาบันอาหาร : สุขกมล งามสม
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทรศัพท์ 0 2274 4781-2, 0 2691 6302-4,0 89484 9894
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net