กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สกว.
พบ 12 จังหวัด ทำบัญชีครัวเรือน ช่วยชาวบ้านชำระหนี้เฉลี่ย 6.2 หมื่นบาท/ปี เกษตรกร 5.6 หมื่นบาท/ปี ราชการ 4.8 หมื่นบาท/ปี “รองผอ.สกว.” ย้ำไม่เน้นตัวเงิน มุ่งชาวบ้านจัดการตนเองเป็น ด้าน “เอ็นนู” ระบุจดบัญชีครัวเรือน เป็น “เศรษฐศาสตร์แก้จน”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานโครงการความร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคม และสุขภาวะ ในพื้นที่ 17 จังหวัด ระยะที่ 2 (ส.ค. 2550- ส.ค. 2553) ว่า สกว.ได้เก็บข้อมูลจากโครงการนี้จาก 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก ชัยนาท นครปฐม อุทัยธานี ชัยภูมิ นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี พัทลุง สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยขอข้อมูลการทำบัญชีครัวเรือนจังหวัดละประมาณ 50 บัญชี รวมเป็น 582 ครัวเรือนจาก 41,415 ครัวเรือน พบว่า โครงการนี้ช่วยชาวบ้านชำระหนี้ได้เฉลี่ย 62,742.28 บาท/คน/ปี
"เมื่อแบ่งตามกลุ่มอาชีพ พบว่า ชาวนาสามารถชำระหนี้ได้เฉลี่ย 65,368.28 บาท/คน/ปี อาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัว 64,186.66 บาท/คน/ปี เกษตรกรทำไร่และสวนเฉลี่ย 56,327.01บาท/คน/ปี ราชการ 48,711.37 บาท/คน/ปี และอาชีพรับจ้าง 26,398.33 บาท/คน/ปี"
ดร.สีลาภรณ์ กล่าวถึงการที่ สกว. ได้ออกแบบสมุดบันทึกและโปรแกรมฐานข้อมูลในการคีย์ข้อมูลของชุมชนให้แก่อบต. ว่า เพื่อสร้างกระบวนการบังคับให้เกิดความร่วมมือกันในพื้นที่ สร้างฐานข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่ให้อบต. และสร้างการบูรณาการความร่วมมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนพอเพียงในพื้นที่ได้ เช่น จ.กาฬสินธุ์ ทำให้เกษตรกรรู้จักจัดการการใช้จ่าย ชีวิตของตน ต้นทุนการผลิต ผลผลิต โดยไม่เสียเปรียบตลาดทางธุรกิจ จนเกษตรกรสามารถจัดการธุรกิจทางการเกษตรของตนได้อย่างเป็นระบบ
“ถ้าคนจะหยุดปัญหาหนี้สินได้ ก็ต้องเริ่มที่หยุดการควักกระเป๋า ข้อมูลบัญชีครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านเห็นกระเป๋าเงินของตน รู้ว่าควรจะควักกระเป๋าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าจ่ายไปแล้วลูกจะมีกินมีใช้ จะมีเรียนหรือไม่ ก็ทำให้คนรู้จักเริ่มวางแผนชีวิตตนเอง จัดการครอบครัว เกิดกระบวนการแบบคนตัดฟืนกับเทวดา ที่เราต้องรู้จักช่วยตนเองก่อนไม่ใช่รอเทวดามาช่วย ที่ชาวบ้านวางแผนชีวิตตนเองและครอบครัวก่อน จากนั้นขยายผลสู่แผนชุมชน แผนตำบลเป็นลำดับ”
รองผอ.สกว. กล่าวด้วยว่า หลักการสำคัญของโครงการคือ เป็นกระบวนการทางสังคม นำคนมารวมกลุ่มนำข้อมูลความเป็นจริงของบัญชีครัวเรือนมาร่วมมือกันสะท้อนและขับเคลื่อนแก้ปัญหา (Collaborations) จุดระเบิดการแก้ปัญหาความยากจนด้วยข้อมูลที่มี และสร้างการมีส่วนร่วมจากระดับภายในครัวเรือน ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้เน้นที่จำนวนตัวเงินในการลดรายจ่าย
ที่มาของโครงการ รองผอ.สกว.กล่าวว่า เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 ขณะนั้นทำเรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ โดยร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และกระทรวงมหาดไทย ใช้เครื่องมือหลายตัวในการแก้ปัญหา จนพบว่า การจดบัญชีครัวเรือนเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้เหมาะสมที่สุด และได้เห็นกลไกความร่วมมือของรัฐ ท้องถิ่น สังคม สกว.จึงดำเนินการต่อยอด โดยขอความร่วมมือจากสกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ กระทรวงมหาดไทย ทำโครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาสังคม และสุขภาวะขึ้นใน 21 จังหวัด แต่ต่อมาเหลือเพียง 17 จังหวัดเนื่องจากมีความไม่พร้อมในการประสานงาน
“อบต.คูหาใต้ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เป็นอีกแห่งที่น่าสนใจ มีการนำฐานข้อมูลนี้ไปสร้างแม๊ปปิ้งเป็นระบบแผนที่แบบจีไอเอส ร่วมกันออกแบบกระบวนการแก้ปัญหา ให้เห็นว่า แต่ละครัวเรือนตรงไหนมีปัญหาอะไรบ้าง มีอาชีพอะไรบ้าง สาเหตุของความยากจน จนนำไปสู่การออกแบบระบบสวัสดิการของพื้นที่ด้วย ซึ่งแบบนี้เป็น Change Reaction ที่จะขยายผลกันต่อๆ ไป”
ขณะที่นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธ.ก.ส. และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวว่า ไม่มีตำราเศรษฐศาสตร์เล่มใดที่สอนให้เกษตรกร คนจนแก้จน หายจนได้ มีเพียงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนมาตลอดอย่างละเอียดว่า ให้เราทุกคนรู้จักตนเอง พอเพียง พอประมาณ ให้รู้สาเหตุว่า เราเป็นอย่างทุกวันนี้เพราะอะไร ทรงสอนเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เราต้องอยู่อย่างพออยู่พอกิน รู้ตัวตน สอนให้ชาวบ้านต้องรู้จุดแข็งของตน แล้วนำมาสร้างจุดแข็งร่วมกันในชุมชนและกำจัดจุดอ่อนของชุมชนออกไป จากนั้นนำไปร่วมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ผลผลิตเหลือก็ขาย ต้องรู้จักลดรายจ่าย แต่ที่ผ่านมาเราทุกคนรู้แต่ไม่มีใครทำกันเองต่างหาก
“วันนี้เราสร้างความต้องการเทียมมหาศาล แล้วเราก็หลงตามไป รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง ถ้าคนไม่เลิกทุนนิยม ทุนนิยมก็จะครอบงำต่อไป แต่เมื่อมีการจดบัญชีครัวเรือนก็จะช่วยฉุดให้เราได้คิดก่อนใช้จ่าย ไม่ก่อหนี้นอกระบบ เสมือนบัญชีครัวเรือนเป็นหมอรักษาหนี้ รักษาจน และนี่คือการเปลี่ยนแปลงตนเองของชาวบ้าน”
กรรมการคสป. กล่าวด้วยว่า ในส่วนการปฏิรูปประเทศไทยนั้นคือการปฏิรูปคน ถ้าคนไม่เปลี่ยนประเทศก็จะไม่เปลี่ยนเช่นกัน และการปฏิรูปประเทศต้องมีการขับเคลื่อนงานไปพร้อมกันทุกภาคส่วน ดังนั้นจึงอยากให้โครงการบัญชีครัวเรือนนี้มีการขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงของชุมชนสมาชิกโครงการนี้ด้วย ควรจะมีการต่อยอดการทำงานของพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัดนี้ พร้อมทั้งสร้างการพันธมิตร แม็ปปิ้งเครือข่ายทั่วประเทศด้วย สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตามลักษณะภูมินิเวศน์ของแต่ละแห่ง และที่สำคัญกระบวนการนี้รัฐต้องไม่เข้ามาสั่งการ เพราะต้องทำให้ชาวบ้านกลายเป็นพละ (กำลัง) ของเมือง ไม่ใช่ภาระของเมืองอีกต่อไป
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th