สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำเดือนสิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--ตลท. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ปรับตัวในทิศทางขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปิดที่ระดับ 913.19 จุด เพิ่มขึ้น 6.70% จากสิ้นเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 24.32% เมื่อเทียบกับดัชนี ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สูงที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดที่สะท้อนการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดเดียวในภูมิภาคที่มีมูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market Capitalization) ของ SET และ mai อยู่ที่ 7,429,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.70% จากเดือนก่อน และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ 36,747.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.84% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 74.57% จากเดือนสิงหาคม 2552 โดยเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตั้งแต่มิถุนายน - สิงหาคม ส่งผลให้มูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วง 8 เดือนแรกรวม 5,375.45 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศกลับมีบทบาทน้อยลงในตลาดหลักทรัพย์ไทยจากสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนบุคคลทั่วไปกลับมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 68.19% ของมูลค่าการซื้อขายรวม นอกจากนี้ ช่องทางการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งจำนวนบัญชีที่ซื้อขาย และมูลค่าการซื้อขายจนทำให้สัดส่วนมูลค่าซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าซื้อขายรวมเพิ่มมาอยู่ที่ 26.4 % ในเดือนกรกฎาคม 2553 สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตในปี 2543 นักลงทุนยังคงให้ความสนใจในหลักทรัพย์กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่องโดยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนกลุ่มธนาคารมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงจากเดือนก่อนอย่างมาก นอกจากนี้ นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนบุคคลทั่วไปยังคงสนใจลงทุนในหลักทรัพย์ขนาดเล็ก โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดเล็กในกลุ่ม Non-SET50 ที่ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จาก 35.69% เป็น 43.73% ในเดือนนี้ ตลาดอนุพันธ์เริ่มซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) ขนาด 10 บาท ในเดือนสิงหาคม 2553 โดยมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 991 สัญญา ขณะที่ปริมาณการซื้อขายอนุพันธ์รวมทุกประเภทเฉลี่ยรายวัน 15,816 สัญญา เพิ่มขึ้น 13.34% จากเดือนก่อน ในเดือนสิงหาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 2,648.61 ล้านบาท เป็นการระดมทุนจากบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) 1 บริษัท และกองทุนอสังหาริมทรัพย์เข้าจดทะเบียนใหม่ 1 กองทุน มูลค่าระดมทุน 162 และ 828 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง 1,658.61 ล้านบาท สำหรับภาพรวมการระดมทุนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าอยู่ที่ 52,526.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในเดือนสิงหาคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 6.7% จากสิ้นเดือนก่อน หรือเพิ่มขึ้น 24.32% เมื่อเทียบกับดัชนี ณ สิ้นปี 2552 โดยปิดที่ระดับ 913.19 จุด ซึ่งถือได้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในภูมิภาค ทั้งนี้ การส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งเพื่อประคับประครองเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ส่งผลให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้นในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเซียที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเพื่อเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุน ประกอบกับการประกาศอัตราการเติบโตของ GDP ไทยในไตรมาส 2 ปี 2553 ที่เติบโต 9.10% และสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายตามลำดับ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย มากขึ้น ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคม 2553 มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนใน ตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดเดียวในภูมิภาคที่มีมูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดใหม่นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไทยก่อนการลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฏาคม 2540 ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 4.02% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 มาปิดที่ระดับ 253.50 จุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ SET ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ 7,380,112.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% จากเดือนก่อน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 49,524.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.74% จากเดือนก่อน ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 7,429,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.70% จากเดือนก่อนหน้า และเป็นมูลค่าสูงที่สุดใหม่นับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในเดือนสิงหาคม 2553 ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E Ratio) ของไทยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 13.17 เท่าจาก 12.33 เท่าในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม Forward P/E Ratio ของไทยยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.62 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยอยู่ที่ 3.51% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองรองจากฟิลิปปินส์ ในเดือนสิงหาคม 2553 ดัชนีหลักทรัพย์รายอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มธุรกิจบริการ ปรับเพิ่มขึ้น 11.76% จากเดือนก่อน รองลงมา คือ กลุ่มการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.11% และ 9.65% จากเดือนก่อนตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีกลุ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ที่เพิ่มขึ้น 65.30 % เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 ส่วนกลุ่มที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกลุ่มพลังงาน ซึ่งดัชนีของทั้ง 2 กลุ่มปรับเพิ่มขึ้น 19.36% และ 4.62% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 ตามลำดับ 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนสิงหาคม 2553 SET และ mai มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 โดยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 36,747.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.84% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 74.57% จากเดือนสิงหาคม 2552 ทำให้มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ของ SET และ mai ทั้งเดือนอยู่ที่ 734,953.90 ล้านบาท เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทนักลงทุน ในเดือนสิงหาคม 2553 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน — สิงหาคม ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 5,375.45 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 16,084.01 ล้านบาท เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ซื้อสุทธิ 2,544 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 7,904.44 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และนักลงทุนบุคคลทั่วไปขายสุทธิ 10,723.56 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนนักลงทุนบุคคลทั่วไปมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 68.19% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุด นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 เป็นต้นมา สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่าในเดือนสิงหาคม 2553 การซื้อขายในกลุ่มธนาคารมีสัดส่วนลดลงจากเดือนก่อนอย่างมาก จาก 24.75% มาอยู่ที่ 18.39% ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก จาก 12.21% และ 10.45% มาอยู่ที่ 14.67% และ 17.06% ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เมื่อพิจารณาสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่าสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดเล็กในกลุ่ม Non-SET50 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จาก 35.69% เป็น 43.73% ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) และกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 11-30 (SET11-30) ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนจาก 28.39% และ 22.68% เป็น 24.47% และ 18.14% ตามลำดับ 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 157,763 บัญชี ทั้งนี้ สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน (Active Rate) อยู่ที่ 26.37% และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนอยู่ที่ 24.22% และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.39 ล้านบาท จำนวนบัญชีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จนทำให้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 26.40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตในปี 2543 จำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 62,263 บัญชี เพิ่มขึ้น 11.52% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 160,579.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 34.74% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 26.40% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 24.61% ในเดือนก่อน 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในเดือนสิงหาคม 2553 ตลาดอนุพันธ์เริ่มซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) ขนาด 10 บาท โดยมีปริมาณการซื้อขายรวม 19,813 สัญญา และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 991 สัญญา สำหรับปริมาณการซื้อขายอนุพันธ์รวมทุกประเภทเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 15,816 สัญญา เพิ่มขึ้น 13.34% จากเดือนก่อน โดยเป็นผลจากการปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures ที่เพิ่มขึ้น 18.30% การซื้อขาย Gold Futures ที่เพิ่มขึ้น 22.97% และการซื้อขาย SET50 Index Options ที่เพิ่มขึ้น 51.87 % ขณะที่ Single Stock Futures มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันลดลง 5.72% จากเดือนก่อน 5. ภาพรวมการระดมทุน ในเดือนสิงหาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 2,648.61 ล้านบาท โดยมีบริษัท จดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) 1 บริษัท คือ บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (IFS) มูลค่าระดมทุน 162.00 ล้านบาท และมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์เข้าจดทะเบียนใหม่ 1 กองทุน คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เมอร์เคียว สมุย (MSPF) มูลค่าระดมทุน 828.00 ล้านบาท นอกจากนี้ มีการระดมทุนในตลาดรอง 1,658.61 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) มูลค่าระดมทุน 882.32 ล้านบาท สำหรับภาพรวมการระดมทุนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าอยู่ที่ 52,526.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152.98% จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 20,763.06 ล้านบาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชน ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229—2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229—2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ