กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ. พญ. ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ ๔๐๐ กรัม หรือ ๔ ขีด แต่จากรายงานการสำรวจภาวะอาหารบริโภคและโภชนาการของประเทศไทยในปี ๒๕๔๖ พบว่า คนไทยบริโภคผักผลไม้ปริมาณต่ำกว่าครึ่งของเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และเด็กเล็กยิ่งบริโภคน้อยมาก ไม่ถึง ๑ ใน ๓ มักเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไร
รศ. พญ. ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ จึงได้ร่วมกับทีมวิจัย ศึกษาหาวิธีที่จะให้เด็กบริโภคผักมากขึ้น จากพื้นฐานความคิดที่บริโภคนิสัยของเด็กเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเด็กเล็ก และจะต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่ การไม่ได้รับการฝึกมาตั้งแต่เล็กตามช่วงวัยของพัฒนาการ ก็จะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปจนโต ทำให้เด็กปฏิเสธผัก โดยได้ดำเนินการศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งหนึ่งใน กทม. ในเด็กอนุบาล ๒๖ คน อายุ ๔ - ๕ ปี เป็นเวลา ๘ สัปดาห์ โดยการสอนเด็กวัยนี้ให้เรียนรู้เรื่องผัก ผลไม้ด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย สนุก และเด็กได้ร่วมกิจกรรม ในการวิจัยได้ใช้สื่อต่างๆ ให้เด็กดูการ์ตูนป๊อบอาย (Popeye) เล่านิทานหนูนิดกับฟักทอง ร้องเพลงผักผลไม้ เล่นเกม ทดลองให้เด็กปลูกผัก แล้วนำมาปรุงอาหาร ให้เด็กมีส่วนร่วมในการช่วยเตรียม ล้างผัก ดูการหั่นและประกอบอาหารจากผักร่วมกับผู้วิจัย แล้วให้เด็กได้ลิ้มรส ประสบการณ์จริงที่เด็กได้จับต้อง สัมผัส ล้าง ชั่ง ตวง คน ตัก ชิมอาหารที่ปรุงจากผัก ทำให้เด็กชอบและกระตือรือร้น ต้องการรับประทานผัก และถามคุณครูว่าตอนเที่ยงนี้จะมีผักอะไร คนที่ไม่ชอบผักเมื่อนั่งรับประทานอาหารกับเพื่อนๆที่ชอบผักจะถูกชักชวนให้เพื่อนรับประทานผัก เด็กผู้ชายจะยึดป๊อบอาย เป็นสัญลักษณ์กินผักแล้วแข็งแรง ขณะที่เด็กผู้หญิงจะยึดหนูนิดเป็นสัญลักษณ์ กินผักแล้วแก้มแดง ผิวสวย นอกจากนี้การที่คุณครูได้นั่งร่วมวงอาหารกับเด็ก เด็กก็จะสังเกตเห็นครูรับประทานผักก็จะทำตาม และที่น่าสนใจคือการจัดปาร์ตี้ผัก และผลไม้ หลากหลายชนิดให้เด็กได้เห็น สัมผัส บอกชื่อ สี และเล่นเกม สร้างความตื่นเต้นและกระตุ้นความสนใจในผักผลไม้ชนิดต่างๆได้อย่างมาก อีกทั้งผู้วิจัยได้ส่งจดหมายถึงผู้ปกครอง เพื่อเป็นการสื่อสารถึงพัฒนาการของเด็กในการบริโภคผัก และขอความร่วมมือสนับสนุนการรับประทานผักที่บ้าน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ผู้ปกครองรายงานว่าเด็กมักคุยให้ฟังเรื่องผักต่างๆมากขึ้น และมีความภาคภูมิใจที่รับประทานผักในอาหารมื้อกลางวันที่โรงเรียน จากการพูดคุยกับเด็กได้รับทราบว่าทางบ้านได้มีการเตรียมผักในมื้ออาหารเพิ่มขึ้น หลังการศึกษาเด็กรับประทานผักเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าของก่อนการศึกษา
จากนั้น ได้มีการส่งบทความวิจัยไปตีพิมพ์ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศออสเตรเลียได้นำไปขยายผล และเผยแพร่สู่สื่อมวลชน ซึ่งสื่อมวลชนออสเตรเลียได้เผยแพร่ต่อไปยัง website ต่างๆ ทำให้เกิดการขยายผลไปทั่วโลก ซึ่งข้อแนะนำจากการศึกษานี้ หากเริ่มต้นปลูกฝังบริโภคนิสัยที่ดีตั้งแต่เล็กๆ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ประสบการณ์จริง สื่อ การ์ตูน นิทาน แรงสนับสนุนจากเพื่อน แบบอย่างจากครู และผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้บริโภคนิสัยที่ดีนี้ยั่งยืน เป็นการสร้างสุขภาวะที่ดี ทั้งในวันนี้ และต่อไปในอนาคต