กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน
นักเขียน - สำนักพิมพ์ จี้รัฐพัฒนาห้องสมุด ครูบรรณารักษ์ สร้างพื้นที่หนังสือดีได้มีที่จัดวาง ระบุที่ผ่านมานักเขียนมีบทบาทแก้ปัญหาวิกฤตสังคมมาตลอด เพียงแต่ช่วยประปราย ย้ำหนังสือเป็นเพียงการสร้างความจรรโลง กล่อมเกลา ชี้แนะสังคมผ่านพลังของคำเท่านั้น
จากงานฉลองครบรอบ วันสถาปนา 32 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย. 2553 สำนักพิมพ์ มสธ. จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “บทบาทนักเขียน และสำนักพิมพ์ในการแก้ปัญหาวิกฤติสังคม” โดยมีนางชมัยภร บางคมบาง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักเขียนมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาวิกฤตสังคมมาตลอด แต่มีเพียงประปราย ไม่ได้เข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน เพราะนักเขียนเป็นเพียงผู้สรรค์สร้างวรรณศิลป์ พลังของคำที่ช่วยกล่อมเกลา ความคิด ความรู้สึกของคน และหากใครไม่ได้อ่าน ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งในแต่ละยุค แต่ละสมัย รัฐบาล การเมือง เข้ามามีส่วนจำกัดสิทธิ์ของนักเขียนพอสมควร อย่างยุค พ.ศ.2519 ยุคมืดมนของนักเขียน มีนักเขียนเพื่อชีวิต ที่มีการเขียนหนังสือ แสดงถึงความคิดใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่มีการพลิกชีวิต พลิกความคิดของคนในสังคม ต้องหลบหนีเข้าป่า ทำให้งานเขียนจรรโลง ชี้แนะ ปลูกฝัง โน้มน้าว กล่อมเกลา คนในสังคม หายไป ขณะเดียวกันปัจจุบัน สังคมแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย หรือหลายฝ่าย นักเขียนเป็นปถุชนที่มีความคิด แต่ไม่มีอำนาจ นอกจากพลังของคำ งานเขียนที่นำเสนอจึงมีลักษณะแตกต่างแล้วแต่ว่าใครอยู่ฝั่งไหน
“นักเขียนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของสังคม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้อ่านด้วย เพราะมีหลายครั้งที่มีงานเขียนดีๆ ออกมามากมาย แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับของคนในสังคม ทำให้งานเขียนดีๆ หายไป ยิ่งตอนนี้ กระแสนิยมของคนไทยนั้นจะอ่านเฉพาะงานเขียนที่ได้รับรางวัล อ่านหนังสือนอกเวลา เพื่อความบันเทิงมากกว่า เช่นเดียวกับเด็กไทยที่อ่านหนังสือนอกเวลาเพราะครูสั่ง อ่านนวนิยายสมัยใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านหนังสือไม่ว่าประเภทไหนก็ดีทั้งนั้น แต่หากจะให้งานเขียนดี แก้ไขสังคม แก้ไขวิกฤตต่างๆ ได้ ต้องมีกลุ่มผู้อ่านที่รองรับ อีกทั้งควรมีที่สำหรับนำหนังสือดีๆ ไปตั้ง นั่นคือ มีห้องสมุด ที่มีหนังสือประเภทจรรโลง ชี้แนะสังคม ไม่ใช่หนังสือห้องสมุดขึ้นอยู่กับความต้องการของบรรณารักษ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางกระทรวงศึกษาการ(ศธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาห้องสมุดที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคนในสังคม” นายกสมาคมนักเขียนฯ กล่าว
ด้าน นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตอนนี้ประเทศไทยมีการส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยดูสถิติการอ่าน หรือจำนวนห้องสมุดสาธารณะ ที่มีมากขึ้น แต่สถิติการอ่าน จำนวนห้องสมุดต่อให้มีมากขึ้น ก็ใช่จะหมายความว่าเด็กไทย คนไทยอ่านหนังสือที่มีสาระดีๆ เพิ่มขึ้น เพราะหากไปดูในห้องสมุด หรือหนังสือที่เด็กไทยอ่านนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นรูปแบบเดิม มีหนังสือเท่าเดิม แถมหนังสือที่มีขึ้นอยู่กับความต้องการของบรรณารักษ์ ไม่ได้ดูว่าจะเอื้อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการอ่านหนังสือหรือไม่ อีกทั้งลักษณะนิสัยการอ่านของคนไทยชอบอ่านหนังสือตามคำสั่ง ตามความนิยม เพราะฉะนั้นในส่วนของสำนักพิมพ์ ตนเชื่อว่าส่วนใหญ่พยายามจะสร้างสรรค์หนังสือดีๆ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบเด็กในสังคม แต่ว่าการจะสร้างหนังสือดีๆ ได้สำนักพิมพ์ต้องคำนึงถึงผู้อ่านด้วยว่ามีจำนวนมากน้อยขนาดไหนเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้สำนักพิมพ์มีสวนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ต้องพัฒนาห้องสมุดให้มีพื้นที่แก่หนังสือดีๆ