ก.อุตสาหกรรม เร่งยกระดับโรงงานอาหารทั่วประเทศเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สศอ. จับมือ สถาบันอาหาร ผุดโครงการ Green Productivity ต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Thursday September 9, 2010 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร จัด“โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้อุตสาหกรรมอาหารไทยสู่หลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตและรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังบรรจุอยู่ในแผนแม่บท(Productivity) อุตสาหกรรมอาหารของประเทศ หนุนโรงงานที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต และมีระบบการบริหารจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ดี เผยมีโรงงานเข้าร่วมแล้ว 90 แห่ง ปี 2554 พร้อมเดินหน้าต่อเป็นปีที่ 4 หวังเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิต ทั้งลดต้นทุน ลดใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยรณรงค์ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ เพราะเป็นโครงการสมัครใจไม่มีกฎหมายบังคับ โดยสถาบันอาหารจะร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมผลักดันโครงการไปยังโรงงานที่เป็นสมาชิกอีกทางหนึ่ง หวังเพิ่มศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในระยะยาวและยั่งยืนสู้ตลาดโลก นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงสภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงประเด็นการกีดกันทางการค้าที่ยังคงเป็นปัญหาแก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะปีที่ผ่านมามีการแข่งขันอย่างรุนแรงในภูมิภาคเอเชีย อาทิเช่น ประเทศ จีน มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ผลิตอาหารส่งออกจำนวนที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย Green Productivity เป็นระบบการจัดการที่สำคัญที่จะทำให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในด้านต่าง ๆ ได้อย่างรุดหน้า และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้า และลดต้นทุนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันอาหาร ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการผลักดันให้ผู้ประกอบการอาหารตระหนักและใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงเร่งดำเนินการให้บริการและช่วยเหลือ รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายหลักอันสำคัญคือการสร้างความมั่นคงแก่ผู้ประกอบการ ความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพเชิงแข่งขันในตลาดโลก “นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจัดทำระบบ Green Productivity ต่อไปโรงงานอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 50,000 แห่งทั่วประเทศ เช่น โรงงานผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โรงงานแปรรูปและถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โรงงานแปรรูปผลไม้และผัก โรงงานผลิตน้ำมันจากพืชและน้ำมันจากสัตว์และไขมันจากสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงงานผลิตภัณฑ์อบแห้ง โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด และโรงสีข้าว จะได้รับการผลักดันและส่งเสริมจาก อุตสาหกรรมจังหวัดนั้น ๆ โดยรณรงค์ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารใส่ใจ และร่วมมือกันลดต้นทุนการผลิตและปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นผลดีกับประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายชัยวุฒิ กล่าว นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่หลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตและรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน Best Practice on Green Productivity and Continuous Improving เป็นกิจกรรมความร่วมมือของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร ภายใต้แผนแม่บท(Productivity) อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตในโรงงาน ลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะการใช้น้ำและพลังงาน ลดปริมาณของสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ดี เป็นการลดภาระที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงงานลดลงและเพิ่มผลกำไรให้กับตัวบริษัทเอง ตลอดจนเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ และสร้างความแข่งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม อีกทั้งบุคลากรมีความรู้ด้านหลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศและสามารถนำไปปฏิบัติในองค์กร นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมโรงงานให้นำไปสู่การปรับปรุงโรงงานเข้าสู่มาตรฐาน ISO 14000 และ Carbon Footprint ต่อไป” ด้านนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงรายละเอียดในการดำเนินโครงการฯ ว่า ในปี 2553 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าร่วมโครงการ Best Practice on Green Productivity กับสถาบันอาหาร รวม 35 โรงงาน โดยมีกลุ่มประเภทอาหารกระป๋อง อาหาร แช่เยือกแข็งและแช่เย็น นม น้ำผลไม้พร้อมดื่ม แป้ง ผลิตภัณฑ์อบแห้ง เครื่องปรุงรสและอื่นๆ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศคือ ภาคเหนือ 6 โรงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 โรงงาน ภาคกลาง 13 โรงงาน ภาคตะวันออก 2 โรงงาน ภาคตะวันตก 4 โรงงาน และภาคใต้ 5 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมเพื่อความยั่งยืนในการผลิตของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว สถาบันอาหาร ได้ส่งนักวิชาการเข้าไปดำเนินงานให้คำปรึกษารวมถึงแนะนำให้โรงงานจัดตั้งทีมงาน Green Productivity โดยการคัดเลือกบุคลากรของโรงงาน ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และฝ่ายผลิต นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการนำ Green Productivity มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จากนั้นทำการสำรวจและเก็บข้อมูลที่ได้จากการผลิตสาเหตุหลักของปัญหาที่โรงงานกำลังประสบ และต้องแก้ไข แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลและแนวทางเพิ่มศักยภาพของโรงงาน เพื่อคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดไปปฏิบัติ นอกจากนั้นยังมีการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแนวทางในการพัฒนาระบบ Green Productivity ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจนเป็นผลสำเร็จ การดำเนินโครงการในปี 2553 พบว่า 35 โรงงาน ที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ทุกโรงงาน อาทิเช่นการลดการสูญเสียไอน้ำในระบบ การดึงน้ำกลับมาใช้ใหม่ การพัฒนาระบบ Bio Gas มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งพบว่ามีการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นและมีมูลค่าในการลดต้นทุนการผลิตทั้งโครงการมวลรวมถึง 50 ล้านบาท และสามารถลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6,000 ตันต่อปี ผลสืบเนื่องที่ตามมาอย่างยั่งยืนคือการที่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการมีแผนและระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เช่น การทำระบบ ISO 14000 การจัดการด้านพลังงาน การทำ Carbon footprint หรือ Carbon label เพื่อเพิ่มขีดความสามารถได้อย่างมีแบบแผน “เนื่องจากการนำระบบการจัดการด้าน Green productivity มาประยุกต์ใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตมากขึ้นในขณะที่ต้นทุนลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในระดับสากล ซึ่งการนำ Green productivity มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นการสร้างความยั่งยืนของกระบวนการผลิตต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนา Green Productivity ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจะต้องมีความมุ่งมั่น ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จตามผลที่คาดหวัง การที่จะก้าวขึ้นไปสู่ศักยภาพ ในฐานะ World leader in Food ของประเทศไทยต่อการที่จะเป็นผู้นำด้านอาหารโลก มี 4 ปัจจัยหลักที่สำคัญคือ Safety Security Sustainability และ Standardization ระบบการจัดการ Green Productivity จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและจะสามารถทำให้ Thailand Competitiveness Ranking สูงขึ้นได้อย่างมั่นใจ ” นายเพ็ชร กล่าว รายละเอียดเพิ่มเติม : สุขกมล งามสม e-mail : sukkamon12@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ