กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) พร้อมทั้งยกเลิกอันดับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก หลังจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB โดย TBANK ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ฟิทช์ได้ประกาศอันดับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวกแก่สถาบันการเงินทั้ง 3 แห่ง หลังจากที่ TBANK ประกาศแผนการเข้าซื้อกิจการของ SCIB นอกจากนี้ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ของ TBANK ที่ C/D และยกเลิกอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ SCIB รายละเอียดการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตแสดงอยู่ด้านล่าง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK สะท้อนถึงสถานะทางการตลาด ระดับเงินกองทุน สภาพคล่อง และผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การปรับเพิ่มของอันดับเครดิตสนับสนุนเป็นผลจากการที่ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจที่สูงขึ้นหลังจากควบรวม ส่วนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TCAP มีปัจจัยสนับสนุนมาจากผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการที่ TBANK ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีสถานะแข็งแกร่งขึ้น อันดับเครดิตของ TCAP อยู่ต่ำกว่า TBANK 1 ขั้น สะท้อนถึงการที่ TCAP มีโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากบริษัทลูก รวมถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของตัว TCAP เอง ในขณะเดียวกัน ได้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCIB ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับของ TBANK เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB และการควบรวมระหว่าง TBANK และ SCIB นอกจากนี้ ได้มีการประกาศแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพแก่อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK และ TCAP รวมถึงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCIB การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตของ TBANK ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของธนาคารหลังการควบรวม
TBANK เป็นสถาบันการเงินหลักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธนชาต ปัจจุบัน TCAP ถือหุ้นใน TBANK ในสัดส่วน 50.9% ขณะที่ธนาคารโนวาสโกเทีย (BNS: ‘AA-’/’F1+’) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของแคนาดา ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK เป็น 49% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (จาก 25%) จากการที่ BNS ได้มีส่วนร่วมในการบริหารและให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและผลการดำเนินงานของ TBANK ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา นอกจากร่วมลงทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการของ SCIB ในปี 2553 ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการลงทุนระยะยาวของ BNS แล้ว BNS ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมที่กำลังดำเนินอยู่
หลังจากที่ TBANK ได้เข้าซื้อกิจการของ SCIB ส่งผลให้ความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นโดย TBANK ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของประเทศไทย และมีขนาดสินทรัพย์จำนวน 829.7 พันล้านบาท นอกจากนี้การควบรวมยังส่งผลให้มีการกระจายความเสี่ยงของสินเชื่อมากขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยของ 2 ธนาคารรวมกันลดลงเป็น 56% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 79% ของ TBANK ก่อนการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงเป็นจุดแข็งของ TBANK โดยมีสัดส่วนเป็น 39% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ (44% ของสินเชื่อรวม) ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของ SCIB นอกจากนี้ ความสามารถในการระดมเงินของ TBANK น่าจะแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจากเครือข่ายการให้บริการเงินฝากที่แข็งแกร่งของ SCIB
นอกจากนี้ ผลกำไรของ TBANK ยังปรับตัวสูงขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมที่จำนวน 4.4 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2553 เทียบกับ 1.0 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2552 อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ (ROA) คิดเป็นรายปี ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 1.57% ในครึ่งแรกของปี 2553 จาก 1.06% ในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.34% ในครึ่งแรกของปี 2553 จาก 3.98% ในปี 2552 จากการที่ต้นทุนทางการเงินลดลง เนื่องจากเครือข่ายการให้บริการเงินฝากที่แข็งแกร่งของ SCIB นอกจากนี้ ระดับเงินกองทุนของ TBANK ยังปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจาก SCIB มีระดับเงินกองทุนที่สูงกว่า โดย TBANK มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 11.8% และ 15.0% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 (8.7% และ 13.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553) ในส่วนของค่าความนิยมจำนวน 18.5 พันล้านบาท ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB นั้น ยังไม่มีการหักออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ TBANK เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนผันให้เริ่มหักค่าความนิยม หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวมภายในสิ้นปี 2554 โดยธนาคารคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 8% หลังจากหักค่าความนิยมในปี 2555
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการการส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์ของ TBANK ปรับตัวอ่อนแอลง เนื่องจาก SCIB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับที่สูงกว่า ทั้งนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของ TBANK และ SCIB เพิ่มสูงขึ้นเป็น 35.5 พันล้านบาท (6.2% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จาก 8.4 พันล้านบาท (2.9%) ณ สิ้นปี 2552 ส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 75.6% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 80% ทั้งนี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองหนี้ที่สงสัยจะสูญเพิ่มเติมสำหรับสินเชื่อของ SCIB เนื่องจากสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับที่สูง (8.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553) อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าผลกำไรที่เพิ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการจะสามารถรองรับการตั้งสำรองที่อาจเพิ่มขึ้นได้
ในส่วนของงบการเงินเฉพาะกิจการ TCAP มีกำไรสุทธิ 2.7 พันล้านบาท ในครึ่งแรกปี 2553 ลดลง 14% จากปีก่อนเนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (เนื่องจากเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ) และกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง (TCAP รายงานกำไรจากการขายหุ้น TBANK บางส่วนที่ถืออยู่ให้กับ BNS) ในปี 2552 อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ TCAP เพิ่มขึ้นเป็น 111% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จาก 49% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับคงที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนที่จะซื้อกิจการอื่นและยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุน TCAP ยังคงมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งที่ 28.5 พันล้านบาท หรือ 66% ของสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เนื่องด้วยสถานะของบริษัทโฮลดิ้ง TCAP ต้องพึ่งพารายได้จากการจ่ายเงินปันผลของ TBANK แต่อย่างไรก็ตามบริษัทน่าจะได้รับประโยชน์จากเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นหลังการควบรวม
หลังจากการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ฟิทช์คาดว่าจะยกเลิกอันดับเครดิตอื่นๆของ SCIB
ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตต่อไปนี้
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น เป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’
อันดับเครดิตสนับสนุนเป็น ‘3’ จาก ‘4’
บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น เป็น ‘F1(tha)’ จาก ‘F2(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A-(tha)’
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวเป็น ‘BBB-’ จาก ‘BB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น เป็น ‘F3’ จาก ‘B’
อันดับเครดิตสนับสนุนเป็น ‘3’ จาก ‘4’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘A+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น เป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของตราสารหนี้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘BBB+(tha)’
ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตต่อไปนี้
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘C/D’
บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’
อันดับเครดิตต่อไปนี้ได้ถูกยกเลิก
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘D’
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘B+’
ติดต่อ
Primary Analyst
นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์
Director
+662 655 4763
บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
55 ถนน วิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Secondary analyst
Vincent Milton
Senior Director
+662 655 4759
กรุงเทพฯ
Committee Chairperson
Jonathan Cornish
Senior Director
+852 2263 9901
ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 Bank Holding Companies ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com
รายงานที่เกี่ยวข้อง
Fitch Places TCAP, TBANK and SCIB on Rating Watch Positive
รายงานที่เกี่ยวข้อง
Global Financial Institution Criteria
Bank Holding Companies
National Rating — Methodology Update
Fitch Places TCAP, TBANK and SCIB on Rating Watch Positive
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและเมื่อมีความต้องการใช้อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน