กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
เริ่มลงมือศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเส้นทาง Monorail สายแรกของกรุงเทพฯ สายแกรนด์ สแควร์ พระราม 9 หลังกรุงเทพธนาคม และบริษัทแกรนด์ คาแนล แลนด์ ลง MOU คาดลงเสาเข็มได้ 5 ธ.ค. 54 และเปิดให้บริการ 5 ธ.ค. 55 ส่วนสายจุฬาฯ หลังหารือแล้วจะส่งหนังสือไป ครม.อนุมัติเส้นทางและอนุญาตให้สร้างบนดินในรัศมี 25 กม. รู้ผลใน 2 เดือน
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) บริเวณโครงการแกรนด์ สแควร์ พระราม 9 ระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด โดยนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัทแกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) โดยนายเจตศิริ บุญดีเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นผู้ลงนาม ณ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด
สำหรับโครงการ Monorail ในโครงการ แกรนด์ สแควร์ พระราม 9 ระยะทาง 800 เมตร มีสถานี 4 สถานี ได้มีการศึกษาเบื้องต้นมากว่า 2 ปี เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนที่อาศัยในโครงการ และประชาชนโดยรอบที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งในบริเวณนี้จะมีอาคารจำนวน 18 อาคาร มีผู้อาศัยในโครงการกว่า 3 หมื่นคน นอกจากนั้นยังมีศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารสำนักงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้แก่ รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าสาย Airport Link เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การลงนามร่วมกันครั้งนี้เพื่อให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกทม. เป็นที่ปรึกษาด้านระบบการก่อสร้าง รูปแบบของระบบงานด้านวิศวกรรม งานด้านกฎหมาย การจัดหาและการเดินรถ การประมาณราคา การประกวดราคา รวมถึงการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน จากนั้นคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างตอกเสาเข็มเสาแรกได้ในวันที่ 5 ธ.ค. 54 และใช้เวลาก่อสร้างพร้อมเปิดให้บริการทัน 5 ธ.ค. 55 ในสมัยการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ดร.ธีระชน กล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทาง Monorail ที่ กทม.ศึกษาไว้อีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทาง สายสามย่าน-จุฬาลงกรณ์-สยาม จะมีการหารือกันระหว่างผู้บริหาร กทม.และผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ (9 ก.ย. 53) เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการและการขอใช้ที่ดินบางส่วนของพื้นที่จุฬาฯ จำนวน 20 ไร่ ในการสร้างสวนสาธารณะ คาดว่าทางจุฬาฯ จะยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากในส่วนของจุฬาฯ เองจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง Monorail สายนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย การเพิ่มมูลค่าของที่ดิน และการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี มีที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งหลังจากการหารือกันแล้ว กทม.จะส่งหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเส้นทางและขอยกเว้นข้อกำหนดให้สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าบนดินในรัศมี 25 กม. ได้ ซึ่งจะใช้เวลาขออนุมัติไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้ ทั้งนี้นอกจากการขอที่ดินเพื่อก่อสร้างสวนสาธารณะแล้ว กทม. ยังได้เคยหารือและได้รับการยืนยันจากจุฬาฯ แล้วในการให้พื้นที่ ในการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ราชการด้วย