กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ad2y
พฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เร่งรีบ ภาวะความเครียด การทำพฤติกรรมซ้ำๆเดิมๆ เป็นประจำ การออกกำลังกายที่น้อยลง ส่งผลกระทบต่อปัญหาทางร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิต ทำให้หนุ่มสาวออฟฟิศคนเมืองมักจะมีปัญหาสารพัดโรคปวด ไม่ว่าจะ เป็นปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดสะบัก ปวดบ่า ปวดเข่า ปวดหลังเรื้อรัง ฯลฯ คุณประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ ผู้บริหาร “ไลฟ์เซ็นเตอร์” ที่รวมทั้งศูนย์การแพทย์ คลินิกเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ศูนย์ความงาม และไลฟ์สไตล์ช็อปครบวงจรตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จึงจัดกิจกรรม workshop สุขภาพ เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้พร้อมสอนเทคนิคการดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ให้ห่างไกลโรคปวดยอดฮิตของคนยุค 2010
คนเมืองส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดเรื้อรัง เพราะด้วยกิจวัตรที่ทำซ้ำๆ การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ การใช้สายตาเพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ แพทย์อายุรเวท วิภาพร สายศรี จากดอกเตอร์แคร์ คลินิก ศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง กล่าวว่า “สาเหตุของการปวดเรื้อรังว่า เกิดมาจากการใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งจนสะสมเป็นก้อนเล็กๆ ที่เรียกว่า Trigger Point หรือจุดกดเจ็บเป็นจำนวนมากซ่อนอยู่ใต้กล้ามเนื้อ และเยื่อพังผืด ทำให้เกิดอาการอักเสบและอาการปวดเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วควรรีบทำการรักษา อย่าปล่อยไว้นาน เพราะถ้าไม่รีบรักษาให้ถูกวิธีอาจทำให้เป็นโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง อาการนอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โครงสร้างร่างกายผิดปกติ และ ไมเกรน” วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ คือ อย่าใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมง ยุติกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอทันที ที่รู้สึกเกร็ง บริหารกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และคอ ด้วยการยืดกล้ามเนื้อหลังการใช้คอมพิวเตอร์ทุกครั้ง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลก
อฮอล์เมื่อมีอาการปวดศีรษะ พักผ่อนและทำสมาธิ เมื่อมีความเครียด เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ประคบน้ำอุ่นบริเวณบ่า และต้นคอ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายจากการเกร็งตัว หลีกเลี่ยงแสงจ้า หรือสวมแว่นตากันแดด
โรคยอดฮิตอีกโรคคือ โรคปวดหลังเรื้อรัง ผ.ศ. นายแพทย์ ภาริส วงศ์แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จาก ดีบีซี สไปน์คลินิกแอนด์ยิม กล่าวว่า “พฤติกรรมการเคลื่อนไหวหรือการใช้งานร่างกายในชีวิตประจำวันที่ผิดปกติ ด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกวิธี เกร็งกล้ามเนื้อ นั่งหลังงอ ยืนหรือเดินบนรองเท้าส้นสูงนานๆ รวมถึงเรื่องของความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากเรื่องสภาพกระดูก กล้ามเนื้อ ที่อ่อนแอลงไปตามวัย ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ สำหรับคนที่เป็นโรคปวดหลังเป็นๆ หายๆ มากกว่า 6 เดือน อย่างนี้ เข้าข่ายของคนเป็นโรคปวดหลังเรื้อรัง ต้องได้รับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังที่เหมาะสมถูกต้องและต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกกลับคืนสู่ความสมดุล เกิดความแข็งแรง ยืดหยุ่น และสามารถมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ“