ยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) มีคนไทย ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการระดับสูง เพื่อปฏิวัติแนวทางการป้องกัน

ข่าวทั่วไป Friday September 10, 2010 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ยูเอ็นเอดส์ องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) เปิดตัว คณะกรรมาธิการระดับสูง ชุดใหม่ มี “มีชัย วีระไวทยะ” ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการระดับสูง เพื่อการป้องกันเอชไอวี ร่วมทำงานกับคนดังระดับโลก ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล 3 คนและอดีตประธานาธิบดี 3 คนจากฝรั่งเศส ชิลีและบอสวานา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการรณรงค์ด้านสังคมและการเมืองเพื่อระดมความร่วมมือและผลักดัน การป้องกันโรคเอดส์ให้เกิดประสิทธิภาพ เมื่อเร็วๆ นี้ นายมีชัย วีระไวทยะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและผู้ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคเอดส์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน) ได้รับเกียรติร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการระดับสูงที่ยูเอ็นเอดส์เพิ่งตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับโลก 19 คน อาทิ ดร.มิเชลล์ แบเชอเล่ท์ อดีตประธานาธิบดี ประเทศชิลี มร.ชาค ชิรัค อดีตประธานาธิบดี ประเทศฝรั่งเศส มร.เปา กาซอล นักกีฬาบาสเก็ตบอลยอดนิยมชาวสเปน ดร.โมฮัมเมด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และมร. คริส ฮิวจ์ กรรมการบริหาร บริษัท จูโม อินเตอร์แนชั่นนัล (ผู้ร่วมก่อตั้งเฟสบุค) เป็นต้น คณะกรรมาธิการระดับสูงชุดนี้มีภารกิจหลักในการใช้ความสามารถพิเศษในการรณรงค์ทางสังคมและการเมืองเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพลังอันยิ่งใหญ่ในการป้องกันเอชไอวีอย่างมีประสิทธิภาพ นายมีชัย วีระไวทยะ เปิดเผยความรู้สึกว่า “มีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการระดับสูงของยูเอ็นเอดส์ จุดประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างจริงจัง เพราะการป้องกันจะเป็นหนทางเดียวเท่านั้นในการรักษา เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และกล้าคิดแบบนอกกรอบในการหยุดยั้งการแพร่เชื้อเอชไอวี และเชื่อว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะช่วยเสริมสร้างความพยายามครั้งใหม่ของการระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนทั่วโลก” “ภารกิจของคณะกรรมาธิการที่จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีคือ การรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงการใช้ถุงยางอนามัย ปัญหาเรื่องเอดส์ เอชไอวี เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก การป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ทุกวันนี้ยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะผู้ติดเอดส์รายใหม่ยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าคนที่เข้ารับการรักษา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกวันละ 7,000 คน ในขณะที่การรักษามีความก้าวหน้ามาก แต่การป้องกันยังล้าหลัง ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จึงเป็นหนทางป้องกันโรคเอดส์ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะภาครัฐต้องเปิดหูเปิดตา อย่ามุ่งแต่ห้ามเยาวชนไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ ต้องเปลี่ยนเป็นให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย” นายมีชัย กล่าวเพิ่มเติม รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้ที่องค์การสหประชาชาติ ยกย่องในความสำเร็จของงานพัฒนาชุมชนที่ผสมผสานแนวคิดเชิงธุรกิจเพื่อสังคม และความสำเร็จในการรณรงค์ความนิยมใช้ถุงยางอนามัย จนถึงกับทำให้คนไทยเรียกถุงยางอนามัยว่า ถุงยางมีชัย แนวทางการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ของนายมีชัยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีในเวทีระดับโลก โดยสหประชาชาติได้ประเมินว่าใน 12 ปีแรกของการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อทำให้ผู้ติดเชื้อ รายใหม่ลดลงไปร้อยละ 90 และธนาคารโลกได้ประเมินว่าคนไทย 7,700,000 คน (เจ็ดล้านเจ็ดแสนคน) ได้รอดพ้นจาก การติดเชื้อ นอกจากนี้ปัจจุบันนายมีชัยเป็นประธานคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์ ภายใต้คณะกรรมการเอดส์ชาติและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน รายชื่อคณะกรรมาธิการระดับสูงของยูเอ็นเอดส์ มีดังนี้ ประธานร่วม: ศาสตราจารย์ฟรองซัวส์ บาเร่ ชินุสสี่ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ในฐานะผู้ค้นพบเอชไอวีและ อาร์คบิชอบ กิตติคุณ เดสมอนด์ ตูตู ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 1. ดร. มิเชลล์ แบเชอเล่ท์ อดีตประธานาธิบดี ประเทศชิลี 2. มร. ชาค ชิรัค อดีตประธานาธิบดี ประเทศฝรั่งเศส 3. ฯพณฯ เฟสตัส โมกาย อดีตประธานาธิบดี บอทสวาน่า 4. ฯพณฯ ชอง ปิง ประธานสหภาพอัฟริกา 5. ดร. โมฮัมเมด เอลบาราเดอิ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 6. นางสาว ริต้า ซุสมูธ อดีตประธานรัฐสภา เยอรมนีและอดีตรัฐมนตรีกิจกรรมครอบครัวสตรีเยาวชนและสุขภาพ 7. นางสาว วูยิเซก้า ดูบูล่า เลขาธิการของ Treatment Action Campaign 8. ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ปิออต อดีตกรรมการบริหารของ UNAIDS และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขอนามัยและแพทย์ศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน 9. นางสาว เอเลน่า ฟรังชุค นักธุจกิจชาวยูเครนและผู้ก่อตั้งมูลนิธิต่อต้านเอดส์เอเลน่า ฟรังชุค 10. มร. นิซาน กัวเนส์ เจ้าของกิจการการสื่อสารชั้นนำของบราซิลและประธานกรรมการ Group ABC De Commmunicacao 11. มร. คริส ฮิวจ์ กรรมการบริหาร บริษัท จูโม อินเตอร์แนชั่นนัล และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเฟสบุค 12. มร. โรบิน ลี เจ้าของกิจการและผู้ร่วมก่อตั้งเสิร์ชเอนจิ้น ยอดนิยมของจีนชื่อ Baidu Inc. 13. มร. แมจิค จอห์นสัน อดีตดาราบาสเก็ตบอล และเป็นนักกีฬาคนแรกๆ ที่ประกาศว่าติดเชื้อเอชไอวี 14. มร. เปา กาซอล นักกีฬาบาสเก็ตบอลยอดนิยมชาวสเปน 15. นางสาวไอรีน คาน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและอดีตเลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอแนชั่นนัล 16. มร. วลาดีมีร์ วลาดิมิโรวิช พอซเนอร์ นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย 17. คุณมีชัย วีระไวทยะ อดีตวุฒิสมาชิกและผู้นำในวงการธุรกิจเพื่อสังคม มีชื่อเสียงจากการทำให้คอนด้อมเป็นที่รู้จักในประเทศไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน คุณสุภาพร รุ่งเจริญเกียรติ อีเมลล์ Tom4456@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ