กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--EXIM BANK
EXIM BANK จับมือ 9 ธนาคารขยายบริการประกันการส่งออก (EXIMSurance) ในงานเอ็กซิมชัวรันซ์ อะไลอันซ์ แฟร์ (EXIMSurance Alliance Fair) ในวันที่ 9-10 กันยายน 2553 เวลา 10.00-22.00 น. ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน ท่ามกลางความเสี่ยงทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนธุรกิจล้มละลายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เอ็กซิมชัวรันซ์ อะไลอันซ์ แฟร์ (EXIMSurance Alliance Fair)” เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ 9 ธนาคารประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2553 ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน เพื่อร่วมกันออกบูธให้คำปรึกษาแนะนำและบริการประกันการส่งออก (EXIMSurance) รวมทั้งบริการอื่นๆ ด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยบุกเบิกหรือขยายตลาดการค้าโลกอย่างมั่นใจแม้ในภาวะวิกฤตการเงินโลกและเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่มาลงทะเบียนในงานจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ ส่วนลดค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0 2617 2111 ต่อ 2733-7
ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับธนาคารทั้ง 9 แห่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ได้โดยสะดวกขึ้นโดยการติดต่อผ่านธนาคารที่ตนเองมีธุรกรรมอยู่ ทั้งยังมีโอกาสได้รับการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกรมธรรม์ประกันการส่งออกของ EXIM BANK ถือเป็นหลักประกันประเภทหนึ่งที่สามารถโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ได้ ทั้งนี้ บริการประกันการส่งออกช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่เหมาะสมและแข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศจำนวนกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดย EXIM BANK จะคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าได้แก่ กรณีผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า หรือความเสี่ยงทางการเมืองได้แก่ การควบคุมการโอนเงินกลับมายังประเทศไทย ผู้ซื้อไม่สามารถนำสินค้าเข้าไปในประเทศได้ และเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อและติดตามหนี้ให้ในกรณีที่เกิดปัญหา ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดเดิม รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากขึ้น
ข้อมูลจากสถาบันประกันการส่งออกชั้นนำของโลกระบุว่า ในปี 2552 ธุรกิจที่ล้มละลายในประเทศต่างๆ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 โดยธุรกิจที่ล้มละลายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 60,837 แห่งในปี 2552 (จาก 43,546 แห่งในปี 2551 และ 28,322 แห่งในปี 2550) ส่วนในยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้นเป็น 205,472 แห่งในปี 2552 (จาก 172,012 แห่งในปี 2551 และ 148,912 แห่งในปี 2550)
ตั้งแต่เปิดบริการประกันการส่งออกในปี 2538 จนถึงสิ้นปี 2552 EXIM BANK จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ส่งออกที่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าเนื่องจากผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้าเป็นสัดส่วน 80% อีก 18% ผู้ซื้อล้มละลาย และ 2% ผู้ซื้อปฏิเสธรับมอบสินค้า ธุรกิจส่งออกที่ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากที่สุดได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (54.5%) รองลงมาได้แก่ อุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ (8.7%) อาหารกระป๋อง (8.2%) เฟอร์นิเจอร์ (7.7%) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (4.4%)