กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ก.พลังงาน
“กระทรวงพลังงาน” ซักซ้อมแผนรองรับวิกฤติด้านพลังงาน ระดมทุกหน่วยงานกรม/กอง ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ผู้ผลิตไฟฟ้า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม เข้าร่วมปฏิบัติการป้องกันความเสี่ยงพลังงานไทย พร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2553 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัด 14 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.พน.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เข้าร่วมซักซ้อมแผนตามโครงการศึกษาแนวทางการเตรียมการรองรับภาวะวิกฤติด้านพลังงาน และจัดทำหลักสูตร THAILAND-IEA JOINT EMERGENCY RESPONSE EXERCISE ระหว่างทบวงพลังงานโลกและประเทศไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงสภาวะวิกฤติและสามารถปฏิบัติงานในการเตรียมแผนรองรับ หากเกิดเหตุสภาวะวิกฤติด้านพลังงานขึ้น
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การซักซ้อมดังกล่าวเป็นการซักซ้อมแผนวิกฤติพลังงานระดับชาติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน ด้วยการจำลองเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นจริง นับเป็นการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานระดับชาติโดยเฉพาะการสร้างความพร้อมของทุกหน่วยงานภาคส่วน ได้เข้าใจถึงความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ การเตรียมความพร้อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติจริง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดหาด้านพลังงานให้กับประเทศและทำให้คนไทยทุกคนได้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และรองรับสภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
“ไม่บ่อยครั้งนัก ที่กระทรวงพลังงานจะมีการซักซ้อมแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าว จะมีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย การจำลองเหตุการณ์หากเกิดเหตุพายุพัดถล่มเข้าอ่าวไทย เชื่อมโยงไปถึงผลกระทบด้านพลังงานไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ โดยภายใต้วิกฤติดังกล่าวจะได้เห็นการแก้ไขปัญหาของผู้นำกระทรวงพลังงาน และความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เพื่อระดมสมองในการแก้ไขภาวะวิกฤติและสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริง”
ความจำเป็นของประเทศในขณะนี้ต้องมีแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน เพราะประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่มากถึง 70% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เพราะก๊าซฯ กว่า 70% นี้ ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากอ่าวไทย และอีกส่วนหนึ่งต้องนำเข้ามาจากสหภาพพม่าในแหล่งยาดานา และเยตากุน ซึ่งที่ผ่านมาบางครั้งประสบกับปัญหาก๊าซไม่สามารถจ่ายได้ตามกำหนด
แม้ว่าวันนี้จะมีความพยายามในการสำรวจ และจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ รวมถึงการนำเข้าจากประเทศพม่า แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น ปัญหาการหยุดส่งก๊าซ อุบัติเหตุกับท่อส่งก๊าซ หรือเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ ความกังวลดังกล่าว นำมาสู่การวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงาน
ที่ผ่านมามีตัวอย่างในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ขาดก๊าซธรรมชาติ ทำให้ไฟฟ้าดับ และเมื่อต้นปี 2552 นี้ รัสเซีย ได้หยุดส่งก๊าซให้ยูเครนและได้ส่งผลต่อเนื่องในหลายประเทศในทวีปยุโรป ขณะที่ประเทศไทยเราก็ประสบปัญหาก๊าซไม่สามารถจ่ายเข้าระบบได้เมื่อช่วงกลางปี 2553 ทำให้ต้องหันมาใช้น้ำมันทดแทน