ประกันสังคมยันไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 3, 2007 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สปส.
ตามที่มีการกล่าวอ้างว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยข้อมูลของลูกจ้างผู้ประกันตนแก่เจ้าหนี้ ธนาคาร และสำนักงานทนายความต่างๆ ในเรื่องทีทำงาน ทำให้ผู้ประกันตนเดือดร้อนเพราะเจ้าหนี้ทวงถามและข่มขู่ต่างๆ นานาให้ชำระหนี้
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ สปส.จัดเก็บไว้ คือ ข้อมูลนายจ้างและผู้ประกันตนที่นายจ้างยื่นต่อ สปส.โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 34 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงชื่อและที่ตั้งสถานประกอบการ รายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อ สปส.ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน โดยกำหนดจากฐานค่าจ้างรายเดือนต่ำสุด —สูงสุด เพื่อนำมาคำนวณเงินสมทบ ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างที่แท้จริงของผู้ประกันตน การจัดเก็บข้อมูลของนายจ้าง ผู้ประกันตนของสปส.เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบสิทธิเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนทั้ง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ที่สปส.ให้ความคุ้มครองกับสมาชิกทั้ง 9 ล้านคน
โดย สปส.จัดเก็บรักษาและให้ความคุ้มครองข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 100 และพ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 65 ที่ว่าด้วย ผู้ใดเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของนายจ้างมีโทษ คือจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว หรือเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองแรงงาน หรือการสอบสวน หรือการพิจารณาคดี
ดังนั้น ข้อมูลที่ สปส.ครอบครองนั้น เป็นข้อมูลของนายจ้างถือเป็นข้อมูลลับที่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เปิดเผย และสปส.ได้คุมเข้มในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะการเปิดเผยข้อมูลอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด และเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ซึ่งส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่และการปฏิบัติงานของผู้ประกันตน ทำให้ผู้ประกันตนขาดความศรัทธาต่อระบบประกันสังคม ขาดความเชื่อมั่น ซึ่งผู้ประกันตนอาจจะไม่ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่นายจ้าง
นายจ้างเมื่อทราบข้อเท็จจริงก็จะเลิกจ้าง หรือว่ากล่าวตักเตือนเพราะทำให้สถานประกอบการเสียชื่อเสียงทั้งที่ไม่เคยประพฤติผิดกฎระเบียบมาก่อน เพราะข้อมูลของนายจ้างเป็นความลับในการบริหารบุคคลและธุรกิจ เช่น ค่าจ้าง จำนวนลูกจ้าง ตำแหน่งต่าง ๆ ฯลฯ การเปิดเผยอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ เป็นการเปิดโอกาส ให้คู่แข่งใช้ข้อมูลในการแข่งขันทางธุรกิจ
หากสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยข้อมูล มีผลกระทบต่อนายจ้าง ผู้ประกันตนในการประกอบอาชีพ ทำให้ระบบประกันสังคมมีปัญหา ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดขึ้นตามข่าว สปส.จะนำไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและหากตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือ เจ้าพนักงานประกันสังคม เปิดเผยให้ข้อมูลดังกล่าว สปส.จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดคือ ไล่ออก
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 /www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ